เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.2) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์สาธารณภัยจากอิทธิพลของ “พายุโนอึล” และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอันดามันประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก วาตภัย และดินสไลด์ รวม 29 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง แพร่ ลำพูน ตาก เพชรบูรณ์ พิจิตร เลย อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ มุกดาหาร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา ลพบุรี ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล รวม 121 อำเภอ 236 ตำบล 439 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,141 ครัวเรือน และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย (จ.ระนอง ชาย 1 ราย สาเหตุจากถูกต้นไม้ล้มทับ ขณะพักในศาลาวัด) และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย (จ.เพชรบูรณ์ สาเหตุต้นไม้ล้มทับ) ทั้งนี้ แยกเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก จำนวน 22 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง แพร่ ลำพูน ตาก เพชรบูรณ์ พิจิตร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ มุกดาหาร อุบลราชธานี สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา ลพบุรี ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง และพังงา รวม 75 อำเภอ 121 ตำบล 233 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,856 ครัวเรือน ขณะที่พื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย จำนวน 15 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ อุดรธานี ขอนแก่น มุกดาหาร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ ตราด พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล รวม 56 อำเภอ 129 ตำบล 229 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 746 หลัง ผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย (เพชรบูรณ์) พื้นที่ได้รับผลกระทบจากดินสไลด์ จำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ แพร่ และระนอง รวม 3 อำเภอ 3 ตำบล 3 หมู่บ้าน ผู้เสียชีวิต 1 ราย (ระนอง) ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า "โดยสถานการณ์ภาพรวมปัจจุบันทุกพื้นที่ระดับน้ำลดลง ซึ่งได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ แจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัย รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯต่อไป ทั้งการชดเชยความเสียหายของบ้านเรือนเป็นวัสดุก่อสร้าง หรือจ่ายเงินช่วยเหลือตามความเหมาะสมอย่างไรก็ตามในระยะนี้หลายพื้นที่ยังคงมีฝนตกหนัก ลมกระโชกแรงรวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้น ระมัดระวังอันตรายจากลมกระโชกแรง และฟ้าผ่า โดยอยู่ให้ห่างจากสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง จึงขอฝากเตือนประชาชนให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนและคำแนะนำอย่างเคร่งครัด"