เมื่อวันที่ 22 ก.ย.เวลา 15.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการประสานงานกิจการวุฒิสภา หรือ วิปวุฒิ โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน โดยเป็นการประชุมลับ เพื่อวางกรอบการพิจารณาของวุฒิสภาในการประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ ในวันที่ 23-24 ก.ย. ใช้เวลาการประชุมนาน 2 ชั่วโมง โดยนายพรเพชร ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมวิปวุฒิให้สิทธิ์ส.ว.โหวตอิสระในการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยืนยันว่าไม่มีใบสั่งมาจากฝ่ายใด ส.ว.หลายคนบอกว่าอยากให้การลงมติครั้งนี้ยึดประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ส.ว.บางคนบอกว่ามีคำตอบอยู่ในใจแล้วแต่ไม่ต้องการบอก เพราะกลัวเป็นการชี้นำ ยอมรับว่าขณะนี้ส.ว.มีความเห็นต่างกันในเรื่องการลงมติ ส่วนจะมีกลุ่มนิสิตนักศึกษามาชุมนุมหน้ารัฐสภา ในวันที่ 24 ก.ย. ยอมรับเป็นความกดดัน แต่ไม่มีผลต่อการลงมติของส.ว. เพราะเชื่อว่าแต่ละคนมีความคิดเป็นของตัวเอง ดังนั้นอยากให้กลุ่มผู้ชุมนุมติดตามการอภิปรายอยู่ที่บ้านจะดีกว่า หากไม่เห็นด้วยกับประเด็นใดสามารถแสดงความคิดเห็นมาได้ และเป็นการช่วยเหลือส.ว.ด้วย นายพรเพชร กล่าวต่อว่า ในการประชุมวิปวุฒิมีการรายงานให้ทราบถึงข้อเสนอจากที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 22 ก.ย. ว่า มีข้อเสนอไม่ให้มีการลงมติในวันที่ 24 ก.ย. โดยให้ใช้วิธีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด เพื่อความรอบคอบ ซึ่งตามระเบียบระยะเวลาการศึกษา 45 วัน ซึ่งสามารถใช้เวลาช่วงที่ปิดสมัยประชุมไปพิจารณาหารือ และนำกลับมาพิจารณาอีกครั้งช่วงเปิดสมัยประชุม วันที่ 1 พ.ย. ซึ่งส.ว.ขอฟังเหตุผลก่อนว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว แล้วคอยตัดสินใจ เพราะขณะนี้ 4 ญัตติของฝ่ายค้านที่ให้แก้ไขรายมาตรา ส.ว.ยังไม่ค่อยเข้าใจ เพราะเป็นการเสนอมาอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวไม่ใช่มาจากแนวคิดของส.ว. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแนวทางการเสนอให้ตั้งกมธ.ขึ้นมาศึกษาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อที่ 121 วรรค 3 ที่ให้ที่ประชุมรัฐสภาสามารถตั้งกมธ.ขึ้นมาพิจารณาศึกษาออกมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะมีการลงมติรับหลักการ แนวทางดังกล่าวเป็นข้อเสนอจากทางวิปรัฐบาล เพื่อเป็นการยืดเวลาไม่ให้มีการลงมติในวันที่ 24 ก.ย. เพราะขณะนี้เสียงของส.ว.มีความเห็นต่างเป็นอย่างมากในเรื่องของการแก้หรือไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังไม่รู้ว่าจะออกมาในแนวทางใด เพราะถ้าเสี่ยงให้โหวตในวันที่ 24 ก.ย. อาจจะถูกคว่ำทั้ง 6 ญัตติ จึงได้เสนอแนวทางดังกล่าว เพื่อยื้อเวลานำร่างทั้ง 6 ฉบับไปศึกษาเพื่อความรอบคอบอีกครั้ง รวมถึงนำร่างของภาคประชาชนที่เสนอมาเข้ามาพิจารณารวมด้วย จากนั้นค่อยนำมาโหวตในที่ประชุมสมัยประชุมหน้าต่อไป