ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ เผยพายุโซนร้อนโนอึลมีปริมาณฝนตกเหนือเขื่อนน้อยและไหลเติมเข้าอ่างเก็บน้ำลำปาวต่ำกว่าคาดการณ์ จากที่ตั้งเป้าจะมีน้ำเติมเข้าเขื่อน 200 ล้านลูกบาศก์เมตร กลับเข้าเพียง 18 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น สถานการณ์น้ำในเขื่อนจึงเสี่ยงประสบภัยแล้ง เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียง 39 % ขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชน เตรียมรับมือสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 นายฤาชัย จำปานิล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวหรือเขื่อนลำปาว เข้าสำรวจปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาว หลังพายุโซนร้อนโนอึลพ้นผ่านไป โดยระบุว่าจากการคาดหมายว่าจะได้รับน้ำจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนโนอึลเติมเข้าเขื่อน 200 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่กลับมีน้ำไหลเข้าอ่างเพียง 18 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ซึ่งปริมาณน้ำต่ำกว่าคาดการณ์ไว้อย่างมาก นายฤาชัย กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวที่ได้รับน้ำต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากพายุโซนร้อนโนอึลเคลื่อนที่เร็ว และตกหนักในพื้นที่ท้ายเขื่อน โดยนับจากช่วงวันที่ 18-21 กันยายนที่ผ่านมา ในเขตพื้นที่เหนือเขื่อนปริมาณฝนน้อย ส่วนท้ายพื้นที่เขื่อนคือ อ.ยางตลาด อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.ร่องคำ และอ.กมลาไสย มีปริมาณน้ำฝนสะสม 160 มิลลิเมตร เป็นผลดีกับพื้นที่ตอนท้ายที่ช่วยในเรื่องของพืชผลหารเกษตร ในภาพรวมจึงได้รับน้ำจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนโนอึลต่ำกว่าที่คาดไว้ดังกล่าว นายฤาชัย กล่าวต่อว่า หากเปรียบเทียบปริมาณน้ำในเขื่อนลำปาวในช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้ว จะเห็นว่าสัดส่วนต่างกันมาก โดยในปี 2562 ช่วงเวลาเดียวกันมีปริมาณน้ำประมาณ 1,700 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นผลจากพายุโพดุล ขณะที่ปัจจุบันปริมาณมีน้ำแหลืออยู่เพียง 775 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 39% จากความจุอ่าง 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งยังคงระบายน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์วันละประมาณ 1.15 ล้านลูกบาศก์เมตร นายฤาชัยกล่าว เพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม คาดว่าหากภายใน 20 วันข้างหน้า ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูฝน หากไม่มีฝนตกลงมาอีก ก็เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายจะต้องทำแผนรองรับ และเตรียมการรับมือจากปัญหาฝนทิ้งช่วง โดยในส่วนของเกษตรกร ควรกักเก็บน้ำในแปลงนาเพื่อไว้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ขณะที่ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท่องถิ่น ที่มีแหล่งน้ำสาธารณะ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง แก้มลิง การประปาผิวดิน ควรมีการกักเก็บน้ำกินน้ำใช้ไว้ เพื่อความไม่ประมาทและขาดแคลนน้ำในช่วงปลายฤดูฝนดังกล่าว ตลอดจนใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ่มค่ามากที่สุด