วันที่ 21 กันยายน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ดร.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผช.ผบ.ตร.) และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. แถลงภาพรวมแนวทางการดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งจัดกิจกรรมเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน ที่ผ่านมา พล.ต.ท.ดร.ปิยะ กล่าวว่า กรณีที่ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) รับหนังสือจากแกนนำผู้ชมนุม ได้เสนอมายัง ตร. แล้ว ซึ่งฝ่ายกฎหมาย ตร. อยู่ระหว่างตรวจสอบเนื้อหา เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป และมีประเด็นที่อยากชี้แจงเพิ่มเติม ในบทบาทของผู้รักษากฎหมาย การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ตำรวจมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยให้ แต่มีบางส่วนที่ละเมิดกฎหมาย เช่น แกนนำทำผิดกฎหมายการชุมนุมสาธารณะหลายๆ ด้าน รวมทั้งทำผิดตามกฎหมายอาญามาตราต่างๆ ด้วย จากถ้อยคำการปราศรัยของแกนนำบางคนที่หมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดกฎหมายอาญา มีการใช้ถ้อยคำที่ไม่สมควรต่อสถาบัน ทั้งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในฐานะผู้รักษากฎหมายเราต้องดำเนินการอย่างเต็มที่กับผู้ที่ละเมิด ทราบว่าวันนี้มีประชาชนบางท่านที่ไปแจ้งความดำเนินคดีไว้ที่สน.ชนะสงคราม แล้ว ซึ่งคนไทยทุกคนเรามีความจงรักภักดีต่อสถาบันที่สำคัญต่อประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันพระมากษัตริย์ ที่มีคุณูปการต่อการเจริญเติบโตของประเทศมาโดยตลอด กรณีที่แกนนำบางคนได้อาศัยโอกาสทำเรื่องไม่เหมาะสม ละเมิดต่อสถาบันอันเป็นที่รักและเคารพยิ่งของคนไทยทุกคน เป็นหน้าที่ของตำรวจทุกนายต้องปกปักพิทักษ์รักษา และตำรวจจะรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ดำเนินคดีอย่างถึงที่สุดกับผู้ที่แสดงออกและผู้สนับสนุน ทุกกรณีไม่มีข้อยกเว้น เบื้องต้นพบว่าผู้ที่ปราศรัยในลักษณะไม่เหมาะสมประมาณ 3-4 คน พล.ต.ท.ดร.ปิยะ กล่าวอีกว่า การดำเนินคดีกับแกนนำแยกเป็นต่างกรรมต่างวาระกัน ทั้งการเคลื่อนย้ายมวลชน ทำลายสิ่งกีดขวาง การรุกเข้าไปในสนามหลวง และการปราศรัย ส่วนการกระทำผิดที่ชัดเจนคือ การไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และความผิดตามที่กรุงเทพมหานครและกรมศิลปากร มาแจ้งความร้องทุกข์ไว้ รวมทั้งกฎหมายอาญาอื่นๆ ที่ปรากฎชัดเจนตามเอกสาร และถ้อยคำต่างๆ ในฐานะของเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อมีผู้ร้องทุกข์ก็ต้องสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน การจะผิดกฎหมายมาตราใดคงเป็นไปตามฐานความผิดที่เกิดขึ้น ทั้งนี้การดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน มีรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ฝ่ายกฎหมาย เป็นผู้ควบคุมดูแล อย่างไรก็ตามการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าเมื่อไหร่ ขอให้ปฏิบัติตามกรอบกฎหมาย ปราศจากอาวุธ สำหรับการไปสภา หากผู้ชุมนุมมีจำนวนที่เหมาะสมตำรวจจะจัดสถานที่ให้ เราต้องคำนึงถึงผู้ใช้รถใช้ถนนด้วย พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า ได้รับรายงานจาก สน.ชนะสงคราม ว่ามีการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดกับแกนนำประมาณ 10 ราย หลักๆ เป็นข้อหา ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ การชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนการบุกรุกไปใน ม.ธรรมศาสตร์ และสนามหลวง ทราบว่ามีกรุงเทพมหานครกับกรมศิลปากร ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์แล้ว กรณีแกนนำบางคนที่ทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว ทางพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างพิจารณาถอนประกัน พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวอีกว่า กรณีการถอนหมุดจากสนามหลวง ไม่ทราบว่าใครเป็นคนถอน แต่ตามหลักแล้วหมุดเป็นพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนต้องริบเอาไว้ ถือว่าเป็นของกลางในคดีอาญา ต้องอยู่ในการดูแลรักษาของพนักงานสอบสวน