จากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล และ การ แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การทำงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่ยุคนิวนอร์มอล ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล และ การ แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การทำงานของ คปภ ต้องมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างทันท่วงที สภาพปัญหา โอกาส และความท้าทาย ของสำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัยที่กำลังเผชิญอยู่ เพื่อนำมาใช้เป็นกรอบความคิดหลัก ๆ ในการจัดทำแผนฯ ดังกล่าว ซึ่งสภาพปัญหา โอกาส และความท้าทาย ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19 กลายเป็นตัวเร่งให้สังคมไทยเข้าสู่รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “ยุคโควิดภิวัฒน์” ที่พฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงไป มีการใช้เทคโนโลยีและทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น มีการดำเนินธุรกิจจะเป็นรูปแบบใหม่ภายใต้ New Normal หรืออาจปรับไปสู่ New Business Model มีการนำ Application AI Platform และ API (Application Programming Interface) มาสนับสนุนในการทำธุรกิจประกันภัยตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำมากขึ้น เช่น การเปรียบเทียบเงื่อนไขความคุ้มครองของผลิตภัณฑ์ประกันภัย อัตราเบี้ยประกันภัย การเสนอขาย การ Underwrite การออกกรมธรรม์ประกันภัย รวมถึงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องของจำนวนวันในการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ เป็นต้น การพัฒนาศูนย์ข้อมูลกลางประกันภัย หรือ Insurance Bureau System (IBS) ให้เป็นคลังข้อมูลที่ทรงประสิทธิภาพให้กับระบบประกันภัยของไทย ซึ่งในอนาคตจำเป็นต้องวาง Organization Structure ที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดการพัฒนา IBS อย่างรวดเร็วและยั่งยืน สำหรับภารกิจเร่งด่วนคือการพัฒนา OIC Gateway เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลกับบริษัทประกันภัยกว่า 80 แห่งเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อบริการประชาชนผ่านระบบกลางที่เดียว และต่อยอดให้เกิดความร่วมมือทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมประกันภัยในอนาคต โดยประชาชนผู้เอาประกันภัยจะสามารถใช้เลขที่บัตรประจำตัวประชาชนในการตรวจสอบการทำประกันภัยผ่าน OIC Chatbot ในระยะต่อไปจะมีการต่อยอดให้มีการนำข้อมูลจาก IBS มาใช้ผ่าน Platform เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันในอุตสาหกรรมโดยการทำ Big Data Analytics การพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมประกันภัยให้มีความมั่นคงและเติบโตอย่างยั่งยืน (Growth and Sustainable Development) เพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีสากล โดยการให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยภายใต้รูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business Model) ที่เหมาะสม ทั้งในเรื่องความมั่นคงทางการเงิน (Prudential) การปฏิบัติและให้บริการแก่ลูกค้า (Market Conduct) ทั้งสองประเด็นนี้ต้องดำเนินการควบคู่กันไป เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่าบริษัทประกันภัยมีความมั่นคง สามารถปฏิบัติตามภาระผูกพันต่อผู้เอาประกันภัยได้ ผลักดันให้ธุรกิจประกันภัยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยการส่งเสริมให้การประกันภัยเข้าไปช่วยรองรับความเสี่ยงให้กับทรัพย์สิน หรือ มหันตภัยให้แก่ภาครัฐ ซึ่งจะเห็นว่าขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีการทำประกันภัยทรัพย์สินภาครัฐ หรือในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม (Climate Change) จึงควรมีการศึกษาเรื่องการจัดตั้งกองทุนประกันภัยพิบัติขึ้น โดยมีกติกา และกำหนดผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ (New Product Development) โดยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบสนองพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบันด้วยเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงและความคุ้มครองที่ผู้เอาประกันภัยแต่ละราย (Tailor – Made Insurance) พร้อมทั้งสนับสนุนให้บริษัทประกันภัยมีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการกำหนดรูปแบบกรมธรรม์ประกันภัยให้มีความเป็นสากลและหลากหลาย หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตามภูมิภาคหรือพื้นที่เฉพาะ เช่น การประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟ การประกันภัยประมง เป็นต้น และRegulatory Reform เพื่อให้สำนักงาน คปภ. สามารถ Deliver Values to Stakeholders ได้ตรงตามวัตถุประสงค์มากขึ้น การลดความซับซ้อนของกฎระเบียบ การพัฒนาและปรับปรุงกฎระเบียบในการกำกับดูแลที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันให้มีความทันสมัยและสามารถประยุกต์ใช้กับสภาพแวดล้อม มีการปรับกฎกติกาให้เป็นPrinciple – Based มากขึ้น โดยปรับปรุงกระบวนการเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการสำหรับธุรกิจประกันภัย (Insurance Regulatory Sandbox) ให้มีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อน และมีการพิจารณาอนุมัติที่รวดเร็ว เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทประกันภัย คนกลางประกันภัย และ Tech Firms สามารถนำนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ หรือลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ ซึ่งขณะนี้ได้ขยายขอบเขตของ Regulatory Sandbox ไปสู่ Own Sandbox แล้ว นอกจากนี้จำเป็นต้องเร่งดำเนินการในเรื่อง Regulatory Guillotine โดยยกเลิกกฎกติกาที่ล้าสมัยปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการประกันภัย รวมถึงพัฒนาการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อลดภาระให้กับภาคธุรกิจทำให้สามารถประกอบธุรกิจได้คล่องตัวและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น นอกจากนี้ Chatbot “คปภ. รอบรู้” ถูกพัฒนาในรูปแบบ AI บนแพลตฟอร์ม LINE เพื่อเป็นช่องทางในการบริการให้คำปรึกษา ให้ความรู้ด้านการประกันภัย และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ทำให้สามารถเข้าถึงและเข้าใจเรื่องการประกันภัยได้ง่ายขึ้น รวมทั้งยังเป็นการเสริมประสิทธิภาพการบริการของสายด่วน คปภ. 1186 เพื่อช่วยลดปริมาณคำถามที่มีความซับซ้อนน้อยและพบได้บ่อย ส่งผลให้เจ้าหน้าที่สายด่วน คปภ. 1186 สามารถให้คำปรึกษาและบริการแก่ประชาชนที่มีความเดือดร้อนได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนสำหรับการติดต่อกับสำนักงาน คปภ. ในเรื่องต่าง ๆ ได้สะดวกมากยิ่งขึ้นภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  “ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของผู้คนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีด้านประกันภัย เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงข้อมูลด้านการประกันภัยของประชาชน โดยสามารถใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ช่วยในการกลั่นกรองข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกทำประกันภัยได้อย่างเหมาะสม รวมถึงเพื่อนำพาภาคอุตสาหกรรมประกันภัยก้าวผ่านความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ซึ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและใช้ระบบประกันภัยบริหารความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และส่งผลให้อุตสาหกรรมประกันภัยเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน” ดร.สุทธิพล กล่าว นอกจากนี้ คปภ. จัดอบรม หลักสูตรสุดยอดผู้นำวิทยาการประกันภัยระดับสูง (Super วปส.) รุ่นที่ 1 โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และเอกชน ซึ่งเป็นศิษย์เก่าหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 1-9 จำนวน 48 คน อบรมเป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดสร้างสรรค์เชิงวิเคราะห์การบริหารความเสี่ยงในด้านต่างๆ ทั้งด้านประกันภัย ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย และเทคโนโลยี ตลอดจเสนอแนวทางประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้อง และเสริมสร้างการเป็นผู้นำที่มีคุณธรรม จริยธรรม และการบริหารเชิงสร้างสรรค์นำองค์กรไปสู่ความสำเร็จ โดยสอดคล้องกับสภาวะการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งสถานการณ์การเมือง การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสังคมของโลก มั่นใจว่า หลักสูตรสุดยอดผู้นำวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) รุ่นที่ 1 จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน