วันที่ 21 ก.ย. 2563 ที่ห้องพิจารณา 902 ศาลนัดพร้อมคดีชุมนุมปิดล้อมบ้านสี่เสาเทเวศร์ ที่พัก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี (สำนวนที่สอง) คดีหมายเลขดำ อ.2799/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ นายศราวุธ หลงเส็ง ผู้ชุมนุม นปช. เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 215, 216 กรณีเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2550 แกนนำและแนวร่วม นปช. นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคน จากเวทีปราศรัยเคลื่อนที่สนามหลวง ไปยังบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม เพื่อเรียกร้องกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง สำหรับสำนวนคดีที่สองนี้ อัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2557 ภายหลังจากนายจตุพร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พ้นสมัยประชุมสภา โดยก่อนหน้านี้คดีสำนวนแรก หมายเลขดำ อ.3531/2552 พนักงานอัยการได้ฟ้องแกนนำ นปช. และผู้ชุมนุมรวม 7 ราย ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุกนายนพรุจ หรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช., นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช., นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. คนละ 2 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา วันนี้นายจตุพรและนายศราวุธ จำเลยที่ 1-2 เดินทางมาศาลพร้อมทนายความ เมื่อถึงเวลานัด นายจตุพร จำเลยที่ 1 ได้แถลงต่อศาล ขอให้พนักงานอัยการนำตัวผู้ต้องหาอื่นที่มีคำสั่งฟ้องไว้แล้วมาส่งฟ้องต่อศาลด้วย ศาลจึงให้ทนายความจำเลยทำคำร้อง พร้อมเหตุผลยื่นเข้ามาภายใน 30 วัน และเลื่อนไปนัดพร้อมเพื่อฟังคำสั่ง ในวันที่ 9 พ.ย. นี้ เวลา 09.00 น. ภายหลังนายจตุพร เปิดเผยว่า คดีบุกบ้านพัก พล.อ.เปรม สำนวนคดีที่ 2 ต่อจากสำนวนคดีแรกที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องนายวีระกานต์กับพวกรวม 7 คน ที่ศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุด ต่อมาอัยการฟ้องอีก 2 คน การแยกสำนวนไม่ควรเกิด จำเลยไม่ได้ขอให้แยกสำนวนมาตั้งแต่แรก และเมื่อแยกมา 2 สำนวนก็ฟ้องไม่ครบ ยังมีผู้ต้องหารายอื่นที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง เช่น นายจรัล ดิษฐาอภิชัย, นายจักรภพ เพ็ญแข (อดีตแกนนำ นปช. ซึ่งหลบหนีอยู่ต่างประเทศ) และคนอื่นที่ยังอยู่ในประเทศ เพื่อให้พิจารณาคราวเดียว ไม่ต้องฟ้องเป็นสำนวนที่ 3 อีก เรื่องไม่รกศาล ตนจึงร้องศาลให้อัยการนำตัวที่เหลืออยู่มาฟ้องอย่างครบถ้วน ทางอัยการก็ต้องแสดงความพยายามในการติดตามจับกุมผู้ต้องหา เมื่อจะดำเนินคดี ต้องวางบรรทัดฐานยุติธรรมตรงไปตรงมา