ม็อบประกาศยุติชุมนุม หลังลุย"ปักหมุดคณะราษฎร"กลางสนามหลวง ก่อนบุกยื่นข้อเรียกร้อง"องคมนตรี" ด้าน "เพนกวิน" ประกาศกร้าว 8 จุดยืนต่อสู้ พร้อมนัดเจอกันหน้ารัฐสภาอีกครั้ง 24 กันยาฯ จับตาประชุมร่วมรัฐสภาแก้รธน.- ตั้งส.ส.ร. พร้อมนัดหยุดงานทั่วประเทศ ประท้วงรัฐบาล ดีเดย์ 14ตุลาฯ ไม่สนหมายจับคดีอื้อ ตำรวจระบุม็อบทำผิด3กระทงชัดเจน จ่อรื้อหมุดสนามหลวง ด้าน "กทม." นำอีโอดีเคลียร์พื้นที่รอบสนามหลวง หวั่นไม่ปลอดภัยมีสิ่งแปลกปลอม ขณะที่ "นายกฯ" ขอบคุณทุกฝ่ายช่วยทำสถานการณ์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยพร้อมขอช่วยกันฟันฝ่าอุปสรรค ที่ท้องสนามหลวงเมื่อเวลา 06.30น. วันที่ 20 ก.ย.63ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศการชุมนุม ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และกลุ่มแนวร่วมทั้งประชาชนและคนเสื้อแดงหลังมีการตัดโซ่ประตูก่อนบุกยึดพื้นที่ในมหาวิทยา ลัยธรรมศาสตร์และเข้ายึดพื้นที่สนามหลวงพร้อมจัดเวทีปราศรัยโจมตีรัฐบาลอย่างดุเดือด ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยดูแลความสงบเรียบร้อยเป็นจำนวนมาก ว่า ทางแกนนำ อาทิ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ,นายอานนท์ นำภา ,น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ได้ร่วมกันทำพิธีปักหมุดคณะราษฎร หมุดที่ 2 ที่ทำจากทองเหลือง พร้อมประกาศว่า "วันนี้คณะราษฎร 2563 ได้เกิดขึ้นที่สนามราษฎรแล้ว" ต่อมา เวลา 08.00 น. แกนนำได้เรียกรวมพลเพื่อร้องเพลงชาติไทยและชูสามนิ้ว โดยนายพริษฐ์ได้ประกาศบนเวทีเปลี่ยนเป้าหมายจากเดิมจะเคลื่อนมวลชน ไปยื่นข้อเรียกร้องการชุมที่ทำเนียบรัฐบาล ไปยื่นข้อเรียกร้องต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่ทำเนียบองคมนตรีแทน พร้อมระบุว่า "วันนี้เรามีบิ๊กเซอร์ไพร์ซ เราจะไม่ไปทำเนียบฯแล้ว และยืนยันว่าจะไม่เข้าปะทะ ใช้แนวทางอหิงสา" จากนั้น ในเวลาประมาณ 08.14 น. แกนนำฯนำโดยนายพริษฐ์ น.ส.ปนัสยา นายอานนท์ ได้ขึ้นรถมุ่งหน้าสู่ทำเนียบองคมนตรี โดยมีกลุ่มชายฉกรรจ์จับมือเดินเรียงหน้ากระดาน และมีรถบรรทุก 3 คัน ดัดแปลงเป็นรถขยายเสียง กระทั่งขบวนเคลื่อนมาถึงหน้าศาลฎีกามี ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 300นาย นำรั้วเหล็กมาขวางกั้น ทางผู้ชุมนุมจึงส่งตัวแทนไปเจรจา ก่อนเจ้าหน้าที่จะยอมให้ น.ส.ปนัสยาได้เข้าไปยื่นหนังสือและอ่านข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประ ยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ลาออก และให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ โดยมี พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. เป็นผู้รับมอบหนังสือ ต่อมา เมื่อเวลา 09.15 น. นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ได้ประกาศแนวทางการต่อการต่อสู้ 8 ข้อ อาทิ ได้ยินเพลงชาติที่ไหนให้ชูสามนิ้ว ได้ยินเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ไม่ต้องยืนขึ้นแต่ให้ชูสามนิ้วขึ้น 3.ให้ผูกโบว์ไว้ที่หน้ารถเพื่อให้รู้ว่ารักประชาธิปไตย เขียนประจานเผด็จการ ตามที่ชุมชนต่างๆ พล.อ.ประยุทธ์ ไปจังหวัดไหนขอให้ขึ้นป้ายคนจังหวัดนั้นไม่ต้อนรับเผด็จการ นัดหยุดงานประท้วงรัฐบาลเริ่มต้นจากลาพักร้อนวันที่ 14 ตุลาฯ พร้อมกันทั่วประเทศ เป็นต้น และในวันที่ 24 ก.ย.นี้ ใครที่มีเวลาขอให้ไปที่รัฐสภา ที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อไปดูว่าจะมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)เพื่อทำร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนหรือไม่ จากนั้น นายพริษฐ์ ได้กล่าวขอบคุณผู้ร่วมชุมนุม และขอให้ทุกคนเดินทางกลับบ้านโดยสวัสดิภาพ และจะไม่หยุดจนกว่าอำนาจมืดจะหมดไปพร้อมชู3นิ้ว ก่อนประกาศยุติการชุมนุม ทั้งนี้ นายพริษฐ์ กล่าวภายหลังว่า การชุมนุมที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล จากการต่อสู้อันยาวนานของเรา รวมทั้งได้ปักหมุด เพื่อให้สนามหลวงเป็นสนามราษฎร โดยสมบูรณ์ หากมีใครมารื้อหมุด ก็ปักใหม่ได้อีกและหากใครรื้อหมุด ขอให้พบเจอแต่สิ่งอัปมงคล เมื่อถามว่า มีความกังวลเรื่องหมายจับและคดีความหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า "ผมไม่รู้ ผมไม่สนใจ เพราะหมายจับนี้ไม่มีความชอบธรรมใดๆ ตั้งแต่แรก ทุกหมายที่โดน เป็นประจักษ์พยานของความเน่าเฟะของระบบการ เมืองและความยุติธรรมไทย ถ้าคุณจะจับนักศึกษาคนหนึ่ง เพียงเพราะมาเรียกร้องประชาธิปไตยก็เอาจะกลัวอะไร" ส่วนที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. และพ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. ร่วมแถลงความคืบหน้าหลังยุติการชุมนุม โดย พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า หลังจากการยุติชุมนุม จะทำการเปิดการจราจรโดยรอบให้เร็วที่สุด เพื่อให้การจราจร มีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด เมื่อถามถึงการปักหมุดของกลุ่มผู้ชุมนุม เข้าข่ายความผิดใดบ้าง พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า ทราบกันดีอยู่แล้วว่าสนามหลวงได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ภายใต้การดูแลของ 2 หน่วยงาน คือ กรุงเทพมหานคร และกระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพฯ เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลพื้นที่สนามหลวงทั้งหมด แต่ท่าที่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏน่าจะมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการกระทำความผิด ต่างกรรมต่างวาระ แม้ว่าจะเหตุการณ์ จะต่อเนื่องกันก็ตาม โดยการทำผิดส่วนที่ 1.คือตั้งแต่ออกจากมหาลัยธรรมศาสตร์เข้าสู่สนามหลวง ถ้าสนามหลวงเปิดให้ประชาชน เข้าใช้บริการถือว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่การชุมนุม โดยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบถือว่า เป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเข้าไปในสนามหลวงแล้ว อยู่เกินเวลาที่กำหนดถือว่าเป็นการกระทำผิดในส่วนที่ 2.คือ การกระทำ ความผิดส่วนที่ 3 คือการปักหมุดตรงนี้ถือว่าเป็นส่วนเกินไม่ใช่สิ่งที่พึงมีในท้องสนามหลวง ทางกทม. ต้องพิจารณาต่อไป ส่วนผู้ที่กระทำความผิด ในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ทำการบันทึกภาพและเสียงไว้หมด พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า ส่วนที่กลุ่มผู้ชุมนุมนัดชุมนุมวันที่ 23-24 ก.ย. ที่รัฐสภาทางเจ้าหน้าที่จะติดตามประเมินสถานการณ์เพื่อวางกำลังให้เกิดความเหมาะสม ส่วนกรณีแกนนำที่เข้าร่วมในการชุมนุมครั้งนี้ ถูกออกหมายจับมาแล้วหลายคดี ถ้าพบมีการกระทำความผิดซ้ำหรือผิดเงื่อนไขการประกันตัวก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ส่วน ความผิดที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากการชุมนุมในครั้งก็ว่ากันไปตามพยานหลักฐาน ด้าน พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังนำชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด พร้อมตำรวจควบคุมฝูงชน และเทศกิจเข้าตรวจพื้นที่ เพื่อหาวัตถุต้องสงสัยและทำความสะอาดพื้นที่ โดยรอบสนามหลวง หลังกลุ่มผู้ชุม นุมสลายตัวว่า จำเป็นต้องตรวจเช็คพื้นที่ทุกจุด ว่าจะไม่มีสิ่งแปลกปลอม หรือ สิ่งอันตราย แม้ว่าผู้ชุมนุมจะเก็บขยะหมดแล้ว แต่เทศกิจต้องมาดูแลความสะอาดตามหน้าที่ ส่วนการเอาผิดผู้ชุมนุม ฐานบุกรุกสนามหลวง ที่เป็นโบราณสถาน และการปักหมุด ทางกทม.จะมอบให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และฝ่ายกฏหมาย เป็นผู้ดำเนินการ ว่าจะรื้อหรือนำออกไปจากสนามหลวงหรือไม่ ส่วน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงความขอบคุณ เจ้าหน้าที่ และประชาชนทุกคน ที่ช่วยกันทำให้สถานการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าและการยั่วยุ เพื่อไม่ให้เกิดความตึงเครียดโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้รัฐบาลมีความมุ่งหวังให้ประชาชน มีสิทธิในการแสดงออกได้อย่างเต็มที่ ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมาย และขอให้คนไทยทุกคน ร่วมมือร่วมใจ ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ ความท้าทายที่เรากำลังเผชิญอยู่ สามารถดำเนินการให้ผ่านพ้นไปด้วยความสำเร็จด้วยดีด้วยกัน ด้าน นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคได้ติดตามสถานการณ์การชุมนุม โดยสนับสนุน หากการชุมนุมเป็นการชุมนุมที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญคือ สงบ ปราศจากอาวุธ แต่มีความน่าเป็นห่วงเกี่ยวกับคำปราศรัยของแกนนำบางคนที่อาจทำให้ประชาชนไม่สบายใจ มีลักษณะเป็นการก้าวล่วงสถาบันเบื้องสูง ค่อนข้างชัดเจน ขณะที่การเรียกร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการบริหารราชการแผ่นดินแทบจะลดน้อยถอยลงไป "หากการชุมนุมครั้งนี้ เน้นย้ำเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ก็ควรเรียกร้องเรื่องนี้เป็นหลัก จึงอยากให้ผู้ชุมนุมเรียกร้องในสิ่งที่ควรเรียกร้อง ซึ่งขณะนี้มีภาคประชาชนกำลังรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอร่างฉบับประชาชน แต่หากจะยื่นเสนอร่างในวันที่ 22 ก.ย.นี้ คงไม่ทันเข้าสู่การพิจารณา เพราะต้องใช้เวลาตรวจสอบความถูกต้องของญัตติ" ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการประชุมวันที่ 23-24 ก.ย. เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 6ญัตติ ว่า ขึ้นอยู่กับที่ประชุมรัฐสภาจะมีมติอย่างไร ซึ่งในวันที่ 22ก.ย.จะมีการหารือวิปสามฝ่ายคือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และส.ว.กำหนดรูปแบบการพิจารณาอย่างเป็นทางการ เบื้องต้น จะเสนอให้แสดงความเห็นรวมกันได้ทุกญัตติ แต่ในการลงมติจะให้แยกพิจารณาลงมติเป็นรายมาตรา โดยในวันที่ 23ก.ย.จะให้อภิปรายญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2ญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา256 ตั้งส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เมื่ออภิปรายครบแล้ว ก็ให้ลงมติจะรับหลักการวาระแรกหรือไม่ ใช้วิธีการขานชื่อรายบุคคล จะให้สมาชิกรัฐสภาแต่ละคนตอบในครั้งเดียวเลยว่า จะรับญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล และรับญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือไม่ เพื่อประหยัดเวลา ไม่ต้องขานชื่อลงมติ 2ครั้ง เพราะการขานชื่อรายคนแต่ละครั้ง ใช้เวลา 3ชั่วโมง เพราะมีสมาชิกรัฐสภาถึง 750 คน ส่วนการพิจารณาวันที่ 24 ก.ย.จะพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราที่เหลืออีก 4ญัตติ รูปแบบเหมือนกับการอภิปรายวันที่ 23ก.ย. นพ.ชลน่านกล่าวว่า ส่วนกรณีเสียงส.ว.ที่ยังไม่ชัดเจนจะช่วยลงมติแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น เราคงไม่สามารถบังคับให้ส.ว. 84เสียง มาร่วมลงมติได้ แต่เชื่อว่า จำนวนมวลชนที่มาร่วมชุมนุมในวันที่ 19ก.ย.จะเป็นตัวกดดันให้ส.ว.ลงมติเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามความต้องการของประชาชน ดูแล้วน่าจะได้เสียงส.ว.พอ 84 เสียง ในการลงมติรับหลักการวาระแรกได้ เพราะถือว่า เป็นการปลดทุกข์ช่วยส.ว. เพราะส.ว.เองก็คงไม่สบายใจในอำนาจมาตรา 272ที่ต้องลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่จำเป็นต้องทำตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เป็นการยกภูเขาออกจากอกส.ว.