เตือนพื้นที่ป่าเขา น้ำตก ยิ่งช่วงหน้าฝนยิ่งต้องระวัง แม้ปัจจุบันคนป่วยจะลดลงก็ตาม โดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะ ออกหากินตอนกลางคืน ทั้งถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก และผ่านการถ่ายเลือดได้ อาการจะเกิดหลังได้รับเชื้อ 14 วัน แนะพบแพทย์ต้องแจ้งประวัติการเดินทางเข้าป่าหรือพักในป่า นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้มาลาเรีย ปี 2563 (วันที่ 1 ม.ค.–17 ก.ย. 63) พบผู้ป่วยใน 51 จังหวัด 3,415 ราย เสียชีวิต 1 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ ยะลา 1,070 ราย รองลงมาคือ ตาก 851 ราย และกาญจนบุรี 425 ราย ตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นคนไทย 2,479 ราย (ร้อยละ 73) และต่างชาติ 936 ราย (ร้อยละ 27) ส่วนกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด ได้แก่ 25-44 ปี (ร้อยละ 28) รองลงมาคือ 5-14 ปี (ร้อยละ 24) อายุ 45 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 21) และ 15-24 ปี (ร้อยละ 21) ตามลำดับ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเกษตรกร (ร้อยละ 35) เด็ก/นักเรียน (ร้อยละ 34) และรับจ้าง (ร้อยละ 20) ตามลำดับ สำหรับการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ แม้ว่าปัจจุบันผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียจะลดลงมาก แต่ไทยยังมีโรคไข้มาลาเรียอยู่ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าเขา น้ำตก โดยคาดจะยังพบผู้ป่วยไข้มาลาเรียเพิ่มขึ้นได้ในช่วงนี้ เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน ซึ่งเหมาะสมต่อการเจริญพันธุ์ของยุงซึ่งเป็นพาหะนำโรค โรคไข้มาลาเรีย หรือมีชื่อเรียกได้อีกว่า ไข้จับสั่น ไข้ป่า ไข้ดง ไข้ร้อนเย็น ไข้ดอกสัก ไข้ป้าง โรคไข้มาลาเรีย มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ซึ่งเป็นยุงที่ออกหากินกลางคืน สาเหตุหลักคือถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัด ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น จากแม่ที่ป่วยเป็นไข้มาลาเรียสู่ลูกในครรภ์ การถ่ายโลหิต เป็นต้น เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียกัดผู้ป่วยที่มีเชื้อไข้มาลาเรีย เชื้อจะอยู่ในตัวยุงประมาณ 10–12 วัน เมื่อยุงไปกัดคนอื่นต่อก็จะปล่อยเชื้อไข้มาลาเรียเข้าสู่คน จึงทำให้คนที่ถูกยุงกัดเป็นไข้มาลาเรียต่อ โดยทั่วไปอาการเริ่มแรกจะเกิดหลังจากถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัดประมาณ 10-14 วัน โดยจะจับไข้ไม่เป็นเวลา ไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัวและกล้ามเนื้อ ตาเหลือง ตับหรือม้ามโต อาจคลื่นไส้ เบื่ออาหารได้ จากนั้นจะจับไข้เป็นเวลา มีอาการหนาวๆ ร้อนๆ เหงื่อออก จะอ่อนเพลีย เหนื่อย หากมีอาการป่วยดังกล่าวภายหลังมีประวัติเคยเข้าไปในป่าหรืออาศัยอยู่ในป่าในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ถึง 2 เดือนก่อนเริ่มป่วย ให้รีบนำไปพบแพทย์ และให้ประวัติเดินทางเข้าป่าหรือพักในป่า ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอเตือนประชาชนควรป้องกันตนเองไม่ให้โดนยุงกัดโดยสวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมแขนขาให้มิดชิด ใช้ยาทากันยุงหรือจุดยากันยุง นอนในมุ้งชุบน้ำยาทุกคืนใช้มุ้งชุบน้ำยาคลุมเปลเวลาต้องไปค้างคืนในไร่นาป่าเขา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422