“อดีตรองโฆษกปชป.”ค้านขยายอายุสัมปทาน BTS 30 ปี แลกล้างหนี้กทม. 7 หมื่นล.ชี้เปิดช่องเอกชนขึ้นราคา 65 บาททันที เปิดผลกำไรปี 62/63 8.2 พันล. โตขึ้นกว่าปีที่แล้ว 184 % สะท้อนชัดธุรกิจขาขึ้น แต่รัฐกลับคิดโยนพุงปลามันให้เอกชน แนะใช้โอกาสนี้ ปรับอัตราค่าโดยสารเป็น 30 บาทตลอดสาย ควบล้างหนี้ กทม. คืนกำไรให้ ปชช.   เมื่อวันที่ 18 ก.ย.นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ Facebook Chao Meekhuad เรื่อง ขยายอายุสัมปทานบีทีเอส 30 ปี เอกชนได้ คนกรุงอ่วม มีเนื้อหาระบุว่า เรื่องการขยายอายุสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสออกไปอีก 30 ปี ที่ยืดยื้อซื้อเวลากันมานานและมีข่าวว่าเร็วๆนี้จะเข้าครม. อีกครั้ง ผมขอแสดงจุดยืนไว้ตรงนี้ว่าไม่เห็นด้วยที่รัฐจะขยายอายุสัมปทานให้บีทีเอสออกไปอีก 30 ปี ในขณะที่สัญญาปัจจุบันกำลังจะหมดอายุในปี 2572 เท่ากับว่าหลังจากนั้น กทม.จะสามารถเข้าไปบริหารจัดการเองได้ โดยมีตัวเลือกทั้งการทำเอง หรือหาผู้เดินรถรายใหม่ด้วยการเปิดประมูลเลือกเอกชนที่ให้ประโยชน์สูงสุดกับรัฐ บนเงื่อนไขอัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรมกับประชาชน ซึ่งน่าจะเป็นหนทางที่โปร่งใส มากกว่าการต่ออายุสัมปทานกับรายเดิม บนเงื่อนไขแลกกับหนี้กทม. 7 หมื่นล้านบาท เพราะเป็นตัวเลขที่ต่ำเกินไป โดยคิดได้จากผลกำไรของบีทีเอสในปีงบประมาณ 2562/2563 ระหว่างเดือนเมษายน 2562-มีนาคม 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิสูงถึง 8.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 184 % ในขณะที่แนวโน้มทางธุรกิจยังจะเติบโตตามความต้องการของประชาชน ที่หันมาเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามากขึ้น “คิดง่าย ๆ ด้วยการเอาเงิน 8.2 พันล้านไปคูณกับระยะเวลาที่จะขยายสัมปทานไป 30 ปี จะได้ตัวเลข 246,000 ล้านบาท สูงกว่าหนี้ 7 หมื่นล้านบาท กว่า 3.5 เท่า ทำไมภาครัฐไม่ดำเนินการเองในธุรกิจที่เห็นอยู่แล้วว่ามีกำไร กลับคิดโยนชิ้นปลามันไปให้เอกชน ขณะเดียวกันในปัจจุบันอัตราค่าโดยสารบีทีเอสต่ำสุด 16 บาท สูงสุด 44 บาท บวกอีก 15 บาท หากเดินทางไปยังส่วนต่อขยายรวมสูงสุดที่ 59 บาท ซึ่งตามแผนที่จะขยายอายุสัมปทานออกไปมีกำหนดเพดานไม่ให้เกิน 65 บาท โดยหากครม.อนุมัติเรื่องนี้ผู้บริหารบริษัทเตรียมจะขยับเพดานราคาไปที่ 65 บาททันที กลายเป็นการเปิดช่องให้เอกชนขึ้นราคาได้ ทั้ง ๆ ที่มีผลศึกษาของนักวิชาการทีดีอาร์ไอระบุชัดว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าไทยแพงที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับรายได้ของคนไทย โดยมีข้อเสนอว่าราคาค่าโดยสารตลอดสายควรอยู่ที่ 30 บาท ซึ่งรัฐน่าจะใช้โอกาสที่กำลังจะหมดสัมปทาน คืนกำไรให้ประชาชน เพื่อเป็นสวัสดิการด้านคมนาคมให้คนกรุงเทพ ไม่ใช่คิดมักง่ายขยายอายุสัมปทานแลกหนี้ กทม. แต่ประชาชนยังต้องแบกรับภาระค่าโดยสารที่แพงเกินไปอยู่ดี เว้นแต่ว่าถ้าขยายอายุสัมปทาน บนเงื่อนไข กทม.ได้ล้างหนี้และคนกรุงเสียอัตราค่าโดยสาร 30 บาทตลอดสาย อย่างนี้น่าจะโอเคหน่อย”นายเชาว์ กล้าว