ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “มนุษย์เราทุกคนย่อมมีบาดแผลที่เกิดแก่ชีวิต....เป็นรอยประทับทางความรู้สึกแห่งความทรงจำเสมอ บ้างคือความฉกรรจ์ทางความรู้สึก บ้างคือรอยดื้อด้านที่กลับกลายเป็นความเคยชิน หรือในบางขณะมันคือความทรงจำยับเยิน ในห้วงขณะแห่งความดิ้นรนของจักรวาล...ดั่งนี้นับเป็นตราประทับแห่งความจำเป็นในการใคร่ครวญของชีวิตที่ต้องหลุดพ้นจากบ่วงบาปที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ให้จงได้...” เป็นที่ยอมรับกันว่า..โลกของวันนี้ล้วนเต็มไปด้วยความเหงาเงียบ คนส่วนใหญ่ล้วนแสดงออกถึงอาการที่เหงาเศร้า เงียบงันอย่างไร้สาเหตุ กระทั่งถึงขนาดหมดไฟที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อไป...ภาวะอาการเช่นนี้เมื่อเกิดขึ้นกับชีวิตของใครแล้ว ก็จะฉุดรั้งและกระชากลากถูความเป็นตัวตนให้กลายสภาพเป็นคนสิ้นหวัง อ่อนล้า และหมดใจ..เบื่อหน่ายที่จะยืนหยัดต่อสู้ในนามของชีวิต บอบช้ำและดำดิ่งอยู่แต่กับห้วงทุกข์...นัยดั่งนี้จึงคือภาพแสดงของผู้คนแห่งยุคสมัยที่แตกร้าว และจมปลักอยู่กับหายนะแห่งความไร้พลังโดยแท้... จากโศกนาฏกรรมแห่งภาวะดังกล่าวนี้...ในประเทศญี่ปุ่นพวกเขาได้ใช้การเยียวยาในวิถีหนึ่งด้วยวิธีการ “คินสึงิ”(Kintsugi) อันหมายถึงวิธีการผนึกดินเผาที่แตกหักด้วยทองคำ หรือเรียกว่าวิธีการ Kinsukoroi..นั่นคือวิธีการที่ซ่อมแซมด้วยทองคำ ที่สามารถนำวัสดุกลับคืนมาใช้ได้ใหม่ด้วยการประยุกต์ใช้กับชีวิต..ด้วยการปลดปล่อยผู้คนออกจากความเศร้าจากการสูญเสียของรักอันล้ำค่านั้น จริงๆแล้ว “คินสึงิ” เป็นวิธีการซ่อมแซมของมีค่าที่แตกหักเช่น แจกัน จาน ชาม ถ้วยที่เป็นเซรามิก และเจ้าของปรารถนาที่จะใช้งานให้ได้ดังเดิม จึงได้ใช่ครั่งทองมาอุดรอยชำรุดที่แตกบิ่นของภาชนะนั้นๆ...ที่สุดแล้ว “คินสึงิ” ก็ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปะชั้นสูง อันประกอบด้วยกระบวนวิธีอันเป็นที่สุด คือ การใช้ครั่ง ผงทองคำ ผงเงิน ผงทองคำขาว..มาสบผสานรอยแตกร้าวของภาชนะนั้นๆ “คินสึงิ” มาจากคำว่า “Kin” ที่แปลว่าทองคำ และคำว่า “Tsugi” ที่แปลว่าผนึก ร่วมกัน..ประวัติความเป็นมาของ “คินสึงิ”...เริ่มต้นขึ้นเมื่อสมัยโชกุน “Ashikaga Yoshimasha” ส่งถ้วยชาที่แตกไปซ่อมที่จีน...แต่ช่างจีนกลับซ่อมถ้วยให้มีสภาพที่น่าเกลียดไปกว่าเดิมด้วยการใช้ลวดยึดและเย็บ...ญี่ปุ่นจึงได้คิดวิธีซ่อมขึ้นมาเองให้ประณีตและงามตาและนั่นคือที่มาของ.. “คินสึงิ” ในที่สุด... มาถึงวันนี้ “คินสึงิ”..จึงคือเทคนิคในการซ่อมแซมเซรามิกที่มีอายุล่วงมาแล้วเกือบ 400 ปี จุดเด่นของเทคนิคนี้ อยู่ที่บาดแผล และร่องรอยแตกหักคือส่วนหนึ่งของการออกแบบ ที่แสดงว่าบางครั้งในมิติของการซ่อมแซมก็คือ นัยแห่งการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้บังเกิดขึ้นมาอย่างสวยงามและยืดหยุ่นมากกว่าที่เคยเป็น เหตุนี้ “คินสึงิ” จึงคือสิ่งที่เผยให้เห็นถึงสัจจะหนึ่งว่า...ที่สุดแล้วผู้คนจะหาทางเยียวยาตนเองและเผยให้โลกได้เห็นถึงรอยบิ่นแตก..ที่แตกหักสีทองหลังจากที่ได้รับการซ่อมแซมแล้ว...นั่นคือการเยียวยาที่จะสอนให้มนุษย์ได้ตระหนักถึงว่า...ชีวิตของพวกเขาจะดีขึ้นกว่าเดิมสักเพียงไหน.. หลักการที่ล้ำค่าของ “คินสึงิ” ที่ก่อเกื้อประโยชน์ต่อชีวิตล้วนเป็นสิ่งที่น่าศึกษาและจดจำ มันคือวิธีการที่ผุดออกมาจากความรู้สึกกลมกลืนและผสานด้านในอันล้ำลึกไม่ว่าจะเป็น.. “Kansha”..อันหมายถึง..การเรียนรู้ที่จะขอบคุณอย่างจริงใจ ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่สำคัญที่สุดของ “คินสึงิ” แนวคิดที่ตอกย้ำให้แสดงความรู้สึกขอบคุณต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต ไม่ว่าจะดีหรือร้าย เป็นเสมือนการปล่อยให้ Ego ของตัวเองได้จัดการกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้น “Yuimaru”...คือการใส่ใจที่จะสดับรับฟังเสียงจากภายในของตนอย่างถ่องแท้...มันจะช่วยทำให้คนเราเยียวยาตนเองได้มากขึ้น ด้วยเมื่อเราใส่ใจที่จะดูแลจิตใจของเราเอง เราก็จะดูแลตัวของเราได้และก็จะเรียนรู้ที่จะรักตนเอง จนบรรลุถึงข้อตระหนักที่ว่า..ตัวเองนั่นแหละคือเพื่อนที่ดีและงดงามที่สุดของชีวิต “Gaman”คือความสามารถในการอดทนที่จะสงบจิตสงบใจได้ เป็นสิ่งที่ผู้คนต้องฝึกเรียนรู้ในทุกๆวัน เหมือนการฝึกสมาธิ...ว่ากันว่า ถ้ารู้จักอดทนให้มาก ก็จะเกิดความแข็งแกร่งภายในได้มากเช่นเดียวกัน “Eiyoshoku” คือการดูแลร่างกายตนเอง การทำให้ตัวเองสุขภาพดี ทำอาหารกินเอง นั่งสมาธิ และมองโลกในแง่บวก...จริงๆแล้วคนเราหาได้ต้องการการบำรุงบำเรอชีวิตอย่างมากมายแต่อย่างใดไม่..ร่างกายเพียงแค่เชื่อมโยงกับจิตใจผ่านอาหารที่เรารับประทาน..ครั้นเมื่อร่างกายได้รับพลังงานที่ดี จิตใจก็ย่อมจะได้รับพลังงานที่ดีนั้นด้วยเช่นกัน.. “Wabi Sabi” คือการสอนสั่งให้มนุษย์ได้รู้สึกสัมผัส ที่จะโอบกอด ทั้งส่วนที่ดีและส่วนที่ร้ายที่อุบัติขึ้นกับชีวิต...รวมทั้งความไม่สมบูรณ์แบบทั้งหลายที่จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น จากประเด็นเชื่อมโยงที่สำคัญต่างๆเหล่านี้ “คินสึงิ” จึงถูกนำเข้ามาข้องเกี่ยวกับชีวิต...ในฐานะแกนนำแห่งการใช้ชีวิตอย่างเหมาะควร...ท่ามกลางความผิดพลาดส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกๆคน...เราต่างล้มเหลว เราต่างสูญเสียกันมาทั้งหมดทั้งสิ้นทั้งในโลกของอดีตจวบจนกระทั่งถึงวันนี้..แต่ “คินสึงิ..” จะทำให้เราตระหนักว่า แท้จริงแล้ว...ไม่มีประสบการณ์ใดที่สูญเปล่าไปเลย..ทุกอย่างที่เราได้กระทำ ไม่ว่าจะดีหรือร้ายกระทั่งโฉดชั่วสักเพียงไหน มันล้วนต่างเป็นบทเรียนที่จะทำให้คนได้เรียนรู้ในแง่ที่จะพัฒนาไปสู่ความดีงามได้มากกว่าจะกลับไปสู่ความชั่วร้ายหรือการกระทำความผิดพลาดอย่างซ้ำๆได้อีก “คินสึงิ” ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า...ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะสมบูรณ์แบบไปหมด แต่มันจักต้องเกิดการมองเห็นความงดงามจากสิ่งต่างๆเหล่านั้น..มองเห็นความงามของความไม่สมบูรณ์จน หยั่งรู้และเข้าใจถึงความแตกหัก หยั่งรู้และสัมผัสได้ถึงความเปราะบางภายในจิตใจของเราเอง แต่นั่นคือ..การสร้างความแข็งแกร่งจากภายในสู่ภายนอก...ทำให้มนุษย์ทุกคน มีสภาวะที่ดีขึ้นกว่าเดิม...มันคือบทสรุปในข้อสรุปว่า..ศาสตร์แขนงนี้คือหลักคิดที่ทำให้คนที่ตกอยู่ในสภาพที่เลวร้าย ได้มีโอกาสเข้าใจสภาพจิตใจของตนเองอย่างถ่องแท้ รู้จักพิจารณาบาดแผลลึกในใจของตนเองอย่างใคร่ครวญ...และให้ถือว่าความล้มเหลวคือบทเรียนสำคัญที่จำต้องเรียนรู้..และต้องน้อมรับและขอบคุณทุกๆสิ่งที่ทำให้เจ็บปวด เพราะมันคือ สิ่งที่ทำให้เติบโตในวันที่ชีวิตต้องบุบสลาย...แม้จะใช้เวลารับรู้และเรียนรู้อยู่บ้าง...แต่มันก็ไม่นานเกินรอ... “คินสึงิ”...ความงามของบาดแผลแห่งชีวิต..หนังสือแห่งการใคร่ครวญที่ลึกซึ้งแห่งยุคสมัย/เขียนโดย “โทมาส นาวาร์โร”(Tomas Narrvarro)และแปลเป็นภาษาไทยได้อย่างลุ่มลึกโดย “วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ” นับเป็นหนังสือที่ทำให้ชีวิตเติบโตและเปิดกว้างขึ้น ในเชิงจิตวิญญาณที่สั่นไหวต่อการรับรู้ในโลกสมัยใหม่ ที่เต็มไปด้วยการโบยตีต่อกันและกันทั้งด้วยอคติที่มืดดำและทรรศนะแห่งความเป็นศัตรูที่เหี้ยมโหด มันเปรียบดั่งรอยแตกแยกที่เป็นแผลฉกรรจ์เกินการเยียวยา..แต่การที่ใครสักคนหนึ่งมองเห็นถึงมูลเหตุอันเป็นรากเหง้าของปัญหา และหาทางแก้ไขเยียวยาต่อมันจึงนับเป็นวิถีที่มีค่ายิ่ง.................. “ชดเชยความทุกข์ ด้วยความสุข เลือกหนทางที่เหมาะสม สมดุล และดีต่อใจ ความทุกข์นั้น สามารถชดเชยได้ด้วยการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ เบิกบาน มีอารมณ์เชิงบวก..และสัมผัสที่รื่นรมย์” ข้อแนะนำด้วยการชดเชยผ่านความเข้าใจอันละเมียดละไมนี้ คือหนทางต่อการปรับฐานและเยียวยาความทุกข์สู่วิถีแห่งความสุขที่เกิดขึ้นได้จากการค้นพบและทดลองความจริงอันหยั่งเห็น...แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นที่เราจำเป็นต้องปฏิบัติให้ได้ก็คือภาวะ “อย่าแยกตัวเอง” อันหมายถึง..การที่... “เราต้องการช่วงเวลาแห่งความสงบ เพื่อใคร่ครวญและสะท้อนให้เห็นตนเอง แต่หลังจากนั้นเราต้องใช้เวลาร่วมกับคนอื่นด้วย เพื่อรับพลังใจสนับสนุนจากสังคม ซึ่งมันจะช่วยฟื้นฟูจากความเศร้าโศกได้ดีขึ้นและเร็วขึ้น” ครั้นเมื่อชีวิตต้องเผชิญความทุกข์หนักในแต่ล่ะครา..ซึ่งจะนำการบังเกิดบาดแผลอันไม่รู้จบทางใจมาสู่ชีวิตอยู่เนืองๆ... “คินสึงิ” ได้สอนให้รู้จักพินิจพิเคราะห์ถึงว่า..มันจำเป็นต้องตัดขาดปมปัญหานั้นๆออกไปให้ได้ “เมื่อความทุกข์รุกเร้าจนทนและควบคุมไม่ได้ มันเกินขีดจำกัด และกลายเป็นความวุ่นวายโกลาหลภายใน จิตใจของเราจะอ่อนล้า เนื่องมาจากอารมณ์อันเข้มข้นและผสมปนเป จำเป็นที่เราจะต้องทำให้อารมณ์ที่ล้นเกินเหล่านั้นสงบลง” นั่นคือวิถี.. และในบางครั้ง...เราก็จำเป็นที่จะต้องปล่อยให้ชีวิตได้ร้องไห้ออกมาเสียบ้าง...มันคือการบรรเทาความเจ็บปวดที่สัตย์ซื่อและตรงต่ออารมณ์ที่สุด “จงปล่อยตัวเองให้ร้องไห้ไป ไม่ต้องกล้ำกลืนไว้..ร้องแล้วจะช่วยให้คุณรู้สึกดี เมื่อน้ำตาหยดสุดท้ายแห้งเหือดไป คุณก็พร้อมจะเชื่อมโยงตัวเองอีกครั้ง และปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่อย่างเต็มเปี่ยม” ในขณะที่สังคมประเทศของเรากำลังปริแตก และคล้ายว่ากำลังจะแหลกสลายลงไปต่อหน้าในไม่ช้าไม่นานนี้...เนื่องจากขาดหลักยึดโยงทางความคิด ขาดรากแก้วในทางจิตวิญญาณแห่งการหลอมรวม ..และขาดความแน่นหนักแห่งสติสัมปชัญญะระหว่างกัน...มันดูเหมือนจะห่างไกลจากวิถีของการเยียวยาอันบริสุทธิ์และตั้งใจ...ทุกสรรพสิ่งเหมือนตกอยู่ในพายุหมุนที่บ้าคลั่ง...ความแหลกสลายจึงกลาดเกลื่อนไปในทุกๆพื้นที่ชีวิต ผมอ่านหนังสือเล่มอย่างเงียบงัน....ค่อยๆสลัดพ้นจากภาพติดตาเก่าๆ ลบเลือนภาพวาดของอดีตอันโฉดชั่วให้ออกไปไกลตา...ณ ห้วงขณะหนึ่ง ผมรู้สึกสัมผัสถึงทางออกแห่งปัญญาญาณ...ผ่านฐานรากแห่งหลักคิดของ “คินสึงิ”...ค่อยเป็นค่อยไป...ในรื่นรมย์และเข้าใจอยู่อย่างนั้น..! “ภาพความหลังมักจะมาในสีสันที่ฉูดฉาดเป็นพิเศษ ภาพแบบนี้จะโผล่พรวดขึ้นมาโดยไม่ต้องบอกกล่าว เมื่อเป็นเช่นนี้คุณก็แค่เชิญมันออกไป เข้าไปควบคุมมันโดยไม่ปล่อยให้มันเปิดประตู รับความเศร้าหรือความเจ็บปวดอื่นๆเข้ามาเพิ่มอีก”