ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย ยิ่งเทคโนโลยีข่าวสารมีความก้าวรุดหน้าเท่าไร สงครามข่าวเท็จก็ยิ่งขยายตัวเป็นมหกรรมใหญ่โตขึ้นทุกวัน เช่นเดียวกันกับสงครามไซเบอร์ ตัวอย่างการปั้นข่าวจากฝ่ายตะวันตกที่มุ่งโจมตีฝ่ายตรงข้าม นั่นคือการปล่อยข่าวเท็จโจมตีจีน รัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ เนื่องจากสื่อกระแสหลักมีความเชี่ยวชาญและมีเครือข่ายที่คอยสอดรับกันเมื่อมีการปั่นกระแส การปล่อยข่าวโจมตีประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโค ว่าโกงเลือกตั้ง ทั้งๆที่ท่านได้รับการสนับสนุนกว่า 90% ของผู้มาออกเสียงเลือกตั้ง ในขณะคู่แข่งขันได้เสียงสนับสนุนเพียง 10.2% ซึ่งหากจะมีการโกงกันจริงยังไงๆนายลูคาเชนโค ก็ได้คะแนนเกิน 50% อยู่แล้ว มันเป็นไปไม่ได้ที่จะโกงได้ถึง 90% ในขณะมีการประท้วงบีบีซีก็พยายามขยายข่าวให้ดูใหญ่โตและยังมีการกล่าวอ้างว่านายปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียได้ส่งทหารเข้าไปช่วยคุมสถานการณ์ อย่างไรก็ตามสุดท้ายการประท้วงก็สงบลง โดยตามข่าว RT นายลูคาเชนโก สัญญาว่าจะให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายหลังที่ได้ทำการร่างรัฐธรรมนูญและผ่านประชามติเรียบร้อยแล้ว ล่าสุดก็มีการประโคมข่าวจากสื่อตะวันตก เริ่มที่เยอรมนีว่าประธานาธิบดีวลาดีเมียร์ ปูติน อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารผู้นำฝ่ายค้านด้วยการวางยาพิษ คือนายอเล็กซี นาวาลนี ซึ่งยาพิษดังกล่าวเป็นสารเคมีที่ทำลายระบบประสาท ที่ผลิตจากกลุ่มบริษัทโนวิชอค อันเป็นการชูประเด็นเพื่อให้เกิดการเกลียดกลัวรัสเซียขึ้นอีกครั้ง เรื่องนี้จึงต้องมีการวิเคราะห์เจาะลึกก่อนจะด่วนสรุปว่ามันเป็นแผนสังหารที่มาจากปูติน ประการแรกโฆษกรัฐบาลเยอรมนี Steffen Seibert ได้แถลงว่าจากการตรวจสอบสารพิษจากร่างของนาวาลนี โดยแล็บทหารเยอรมนีโดยเป็นที่ชัดเจนที่จะระบุว่าสารดังกล่าวมาจากสารเคมีทำลายประสาท ที่มาจากกลุ่มบริษัทโนวิชอค ทั้งนี้ข่าวดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลกโดย CNN เรื่องแบบนี้เคยเกิดมาแล้วเมื่อปีค.ศ.2018 ที่มีการกล่าวหาว่ารัสเซียได้วางแผนสังหารอดีตสายลับรัสเซียที่หนีไปอยู่อังกฤษเป็นเวลาหลายปีแล้ว นั่นคือการพยายามสังหารนายเซอร์เกและยูเรีย ด้วยสารพิษ และมีปูตินอยู่เบื้องหลัง แต่ต่อมาก็ไม่มีหลักฐานใดๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเรากำลังอยู่ท่ามกลางสงครามข่าวสารและสงครามลูกผสม (Information Warfare and Hybrid wars) ที่อำนวยการโดยสหรัฐฯ สอดประสานกันกับประเทศตะวันตกหลายประเทศ เพื่อจะกุมอำนาจเหนือการข่าว ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงรัสเซียที่โดนสงครามข่าวเล่นงานแต่จีน อิหร่าน และเกาหลีเหนือก็โดนเช่นกัน ในความเป็นจริงรัสเซียถูกรายล้อมด้วยกองกำลังนาโต ในขณะที่จีนก็กำลังถูกสหรัฐฯและพันธมิตรกดดันในทะเลจีนใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก ด้วยการซ้อมรบและเคลื่อนกำลังเข้ามายังเขตพิพาท จนทำจีนต้องสั่งซ้อมรบ และเตรียมพร้อมแบบตึงเครียด อิหร่านก็โดนกดดันโดยการชักจูงให้ประเทศอาหรับหลายประเทศจับมือกับอิสราเอล ซึ่งเป็นศัตรูถาวรของอิหร่าน นอกจากนี้สหรัฐฯยังดำเนินกุศโลบายในการชักจูงให้ประเทศในยุโรปหลายประเทศทำการแซงก์ซัน กีดกันทางการค้า เช่น การปิดกั้นธุรกิจของหัวเว่ย การห้ามซื้อน้ำมันจากรัสเซียและอิหร่าน แม้กระทั่งพยายามยุติโครงการท่อก๊าซ Nord Stream ที่มาจากรัสเซีย ทั้งนี้หากการล้มล้างประธานาธิบดีอัสซาดสำเร็จ ตะวันตกก็จะเดินท่อน้ำมันจากซีเรียผ่านตุรกีเข้ายุโรป เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ยุโรปไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ดังนั้นเมื่อเราได้รับข่าวสารจากสื่อ เราก็ควรจะต้องวิเคราะห์และตั้งคำถามในหลายมุมมองต่อแต่ละข่าว เช่น ใครจะได้ประโยชน์จากงานนี้ และใครมีอิทธิพลต่อสื่อ และกระแสข่าว หรือผลบั้นปลายจะเกิดอะไรขึ้น ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ กรณีผู้นำฝ่ายค้านรัสเซีย ซึ่งมีคะแนนสนับสนุนไม่ถึง 10% ของผู้มีสิทธิออกเสียง แล้วทำไมปูตินถึงต้องวางแผนสังหาร ยิ่งไปกว่านั้นอเล็กซี นาวาลนี ยังอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์รัสเซีย เป็นเวลาหลายวัน แต่นาวาลนีต้องการจะเดินทางไปรักษาตัวที่เยอรมนี หากรัสเซียต้องการสังหารนาวาลนีจะปล่อยออกไปทำไม ควรจบชีวิตเขาตั้งแต่อยู่ในรัสเซียแล้ว แต่นาวาลนีไปเสียชีวิตในมือแพทย์เยอรมนี และผลของการตรวจทางห้องปฏิบัติการเยอรมนีก็ดูจะแปร่งๆ อนึ่งทางการเยอรมนียังขอเลื่อนการให้ข่าวกับสื่อถึงผลการตรวจสอบจากแล็บหลายครั้งด้วยกัน ทั้งนี้ทำให้อนุมานได้ว่าเขาเลื่อนการรายงานผลการตรวจสอบสารพิษออกไปเพื่อถ่วงเวลาให้สารพิษที่พบนั้นเปลี่ยนสภาพไปจนไม่อาจตรวจสอบซ้ำอีกได้ ดังนั้นการเสพข่าวไม่ว่าจะเป็นค่ายไหนเราจึงควรต้องระมัดระวังและตรวจสอบโดยใช้เหตุผลในหลายมุมมอง และมิใช่ว่าสงครามข่าวจะดำเนินการฝ่ายเดียว ทุกฝ่ายก็ดำเนินการเฉกเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าฝ่ายไหนจะมีทักษะและเครือข่ายมากกว่ากัน สำหรับประเทศไทย สื่อไทยมักจะอิงกับสำนักข่าวตะวันตก เช่น CNN BBC หรือ รอยเตอร์ ดังนั้นการนำเสนอข่าวของสื่อไทยจึงมักเป็นไปในทำนองเดียวกัน แต่พอเป็นข่าวที่สื่อต่างประเทศได้ไปจากไทยก็มีการเน้นย้ำให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของฝ่ายตะวันตก การทำสงครามข่าว Information Warfare หรือ Information Operation จึงมีความสำคัญ แต่เขาเอาไว้ทำกับประเทศที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม ในขณะที่ไทยทำ IO กับคนในประเทศโดยอ้างเรื่องความมั่นคง แต่มันกลายเป็นความมั่นคงของรัฐบาลที่ทำสงครามข่าวกับประชาชนของตนเอง ด้วยประการฉะนี้ เมื่อผบ.ทบ. พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ประกาศว่าจะจัดตั้งนักรบไซเบอร์ โดยจะจัดจ้างเด็กยุคใหม่ที่มีความเก่งกาจในเรื่องนี้มาจัดตั้งเป็นกองกำลัง จึงเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ว่าประชาชนจะรู้สึกระแวงว่านักรบไซเบอร์เหล่านั้นจะถูกใช้มาทำสงครามข่าวกับประชาชนคนไทยเสียเอง แทนการต่อสู้กับต่างชาติ และอาจจะใช้หน่วยงานนี้ล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือสิทธิส่วนบุคคล ด้วยการเข้าไปล้วงข้อมูลส่วนตัวมาใช้ในการจัดการหรือโจมตีผู้เห็นต่างกับรัฐบาลก็ได้ ในขณะที่เราเกิดเหตุการณ์ที่มีแฮกเกอร์เข้าไปบล็อกข้อมูลเวชระเบียนที่โรงพยาบาลสระบุรี และเรียกค่าไถเป็นเงินนับแสนล้าน ทางฝ่ายไทยก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องใช้แบ็กอัพปี 58 มาเป็นการแก้ปัญหา ซึ่งเวลาหลายปีมานี้คนไข้ก็อาจมีอาการแตกต่างกันมากทีเดียว อาจทำให้การรักษาพยาบาลไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ถ้าเรามีหน่วยนักรบไซเบอร์ ซึ่งจำเป็นต้องมี ก็ควรจะเอาเยี่ยงอย่างเกาหลีเหนือที่จัดหาจัดจ้างสุดยอดแฮกเกอร์ในประเทศมาพัฒนาศึกษาโปรแกรมต่างๆทั้งรุกทั้งรับ ทั้งไวรัส หรือมัลแวร์ ในการโจมตีประเทศที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม และมีการซักซ้อมกันตลอด เมื่อปีที่แล้วก็มีธนาคารในฟิลิปปินส์ถูกแฮกเสียหายไปหลายล้านดอลลาร์ ก็มีข่าวว่าน่าสงสัยจะเป็นปฏิบัติการฝึกซ้อมของแฮกเกอร์เกาหลีเหนือ เพื่อเตรียมทำสงครามไซเบอร์กับสหรัฐฯ ซึ่งไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เพราะฝีมือแฮกเกอร์เกาหลีเหนือถือว่าอยู่ในระดับโลกทีเดียว หวังว่าเราคงเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับต่างชาติ ไม่ใช่มาทำสงครามกับประชาชนของตนเองนะครับ