วันที่ 16 ก.ย.63 - ที่อาคารรัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 วาระ 2 มาตรา 4 เรื่องวงเงินงบประมาณรายจ่ายในภาพรวมจำนวนทั้งสิ้น 3,286,000 ล้านล้านบาท โดยระบุว่า จากการเดินทางไปในพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาจากประชาชน ได้รับเสียงสะท้อนส่วนใหญ่ว่า พวกเขาได้รับความลำบากและรู้สึกหมดอาลัยตายอยากมากที่สุดในชีวิต จึงมีข้อแนะนำไปยังรัฐบาล 5 ข้อเพื่อเปลี่ยนให้งบประมาณปี 2564 สามารถตอบโจทย์ของประเทศและของประชาชนได้มากขึ้น “พี่น้องประชาชนจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย คือคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เราอยู่ในยุคที่ข้าวยากหมากแพง ประชาชนต้องดิ้นรนสายตัวแทบขาด ชักหน้าไม่ถึงหลัง หมดอาลัยตายอยากที่สุดยุคหนึ่งในชีวิตของพวกเขา ผมเห็นมากับตาตัวเอง น้ำตาของพี่คนขับรถตู้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่บอกว่า ผมเป็นลูกค้าคนแรกของเขาในรอบหกเดือนหรือกว่า 180 วัน รถของเขาจอดนิ่งและไม่มีรายได้เข้ากระเป๋าแม้แต่บาทเดียว คิดไม่ออกจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าเทอมลูก หรือกรณีของนิสิตนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ หลายคนมีความฝันที่จะเป็นผู้ประกอบการรายย่อย จึงไปเปิดร้านอาหารแต่กลายเป็นขาดทุนพังพินาศเพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่จบการศึกษา หรือจะเป็นกรณีพ่อค้าแม่ค้ามือใหม่ที่ขายน้ำมะพร้าวบนรถปิคอัพ ซึ่งเขาทั้งคู่เพิ่งตกงานจากโรงงานแผงวงจรไฟฟ้าต้องมาเริ่มอาชีพใหม่ตอนอายุ 45 ปี เพราะได้ถูกทางโรงงานปลดออกครั้งใหญ่จากวิกฤตเศรษฐกิจ นี่คือเรื่องราวของประชาชนคนไทยในเวลานี้ที่กำลังเผชิญกับสึนามิทางเศรษฐกิจ ประชาชนรู้สึกเหมือนจมน้ำและหายใจไม่ออก เป็นยุคที่ยิ่งดิ้นรนก็ยิ่งยากจน”นายพิธา กล่าว ในทางกลับกัน นายพิธา กล่าวว่า ยุคนี้กลับเป็นยุคที่มีผู้บริหารและการใช้งบประมาณอย่างไม่รู้ร้อนรู้หนาวต่อความยากลำบากของพี่น้องประชาชน งบประมาณจำนวนมากที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังมาพิจารณา ต้องบอกว่าทั้งในแง่ของปริมาณและวิธีการจัดสรร หากทำให้ดีจะตอบโจทย์ประเทศหรือเป็นห่วงชูชีพ และสามารถเป็นความหวังสุดท้ายของประชาชนได้ ซึ่งมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในสิ่งที่ต้องเปลี่ยน 5 ประการ ได้แก่ 1.โครงสร้างงบประมาณยังคงไม่ตอบโจทย์มหาวิกฤติที่เผชิญอยู่ โลกปรับไทยต้องเปลี่ยนแบบ Big Bang ในเชิงยุทธศาสตร์ ไม่ใช่การเปลี่ยนแบบนิดหน่อยธรรมดา แต่ปรากฏกว่างบประมาณของกระทรวงหลักแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ไม่สามารถรองรับ วิกฤตและ After shock หรือภาวะหลังวิกฤตได้ 2.งบที่ตัด ตัดไม่จริง งบประมาณที่ตัดไปส่วนใหญ่เป็นการเลื่อนพิจารณาออกไปเป็นปีงบประมาณหน้าเท่านั้นโดยเฉพาะงบกลาโหมหรืองบประมาณบางโครงการ เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว เมื่อกรรมาธิการตัดงบไปแล้วเพื่อยุติโครงการเนื่องจากชาวบ้านคัดค้าน แต่กรมชลประทานกลับใช้วิธีนำงบประมาณปี 2563 ที่เหลือมาเดินหน้าโครงการต่อ ขณะที่ 3.รัฐราชการโตขึ้น 4% ทุกปีซึ่งโตเร็วกว่า GDP เสียอีก จากงบประมาณตามมาตรา 4 ทั้งหมดจำนวน 3.286 ล้านล้านบาท พบว่าเป็นงบบุคลากรภาครัฐไปแล้ว 1.1 ล้านล้านบาท หรือ 1 ใน 3 ของงบประมาณทั้งหมด การที่งบบุคลากรภาครัฐยังคงเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4% สวนทางกับจำนวนข้าราชการที่ปรับลดลง 4.ท้องถิ่นถูกรีดภาษี และได้เงินชดเชยไม่เพียงพอ แม้ว่าในวาระที่ 2 กรรมาธิการจะปรับเพิ่มงบให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 5,900 หน่วย เป็นเงินงบประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเนื่องจากก่อนหน้านี้รัฐบาลได้สั่งลดการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ซึ่งเป็นภาษีที่ท้องถิ่นเก็บเองใช้เอง ด้วยเหตุนี้ การลดภาษีดังกล่าวจึงกระทบกับ อปท. ทั้งหมด 7,800 หน่วยงานเป็นมูลค่าเงิน 34,000 ล้านบาท หมายความว่า จะยังมี อปท. อีกกว่า 2,000 หน่วยไม่ได้เงินชดเชยคิดเป็น 24,000 ล้านบาท ทั้งที่ อปท.คือหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่มากที่สุด