"สกนธ์" นำ สขค. จับมือ องค์กรระหว่างประเทศ ศึกษาวิจัยการแข่งขันทางการค้าในธุรกิจโลจิสติกส์ไทย เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ศาตราจารย์สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ได้จัดกิจกรรมเผยแพร่และอภิปรายผลการศึกษาการประเมินการแข่งขันทางการค้าในธุรกิจสาขาโลจิสติกส์ (The Launching Event of Thailand’s Competition Assessment Reports) ภายใต้โครงการความร่วมมือ OECD–ASEAN Competition Assessment โดยมี ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (Dr.Sansern Samalapa, Vice Minister for Commerce) ในฐานะผู้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม และกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การส่งเสริมพัฒนาธุรกิจบริการสาขาโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” (TBC) ร่วมด้วย H.E.Mr.Brian Davidson เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย มากล่าวเปิดงาน ดร.สุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง อดีตรองเลขาธิการอาเซียนบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ความร่วมมือในภูมิภาคและการแข่งขันทางการค้าในมุมมองของอาเซียน (Regional Cooperation and Competition: ASEAN Focus)” ซึ่งจัดขึ้นในวันพุธที่ 16 กันยายน 2563 ณ ห้องกมลทิพย์ 1 ชั้น 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งจัดให้มีการถ่ายทอดสด ทางออนไลน์ ให้องค์กรกำกับดูแลการแข่งขันในประเทศสมาชิกอาเซียน องค์การระหว่างประเทศ นักวิชาการ และประชาชนที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางออนไลน์อีกทางหนึ่งด้วย โดยศาสตราจารย์สกนธ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ได้ดำเนินโครงการความร่วมมือ OECD–ASEAN Competition Assessment ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอาเซียน องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) และรัฐบาลสหราชอาณาจักร ที่มุ่งปฏิรูปกฎระเบียบและนโยบายด้านโลจิสติกส์ให้ส่งเสริมการแข่งขัน และยกระดับการแข่งขันระหว่างรัฐวิสาหกิจและผู้ประกอบการในธุรกิจสาขาโลจิสติกส์ ด้วยการร่วมจัดทำรายงานการศึกษา 2 เรื่อง ได้แก่ 1.รายงานการศึกษาการประเมินกฎระเบียบด้านโลจิสติกส์ที่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขัน ของประเทศไทย (OECD Competition Assessment Reviews: Thailand–Logistics Sector 2020) ซึ่งเป็นการศึกษาบริบทของการประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการประเมินกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องธุรกิจในสาขาโลจิสติกส์ซึ่งส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางการค้า อาทิ การขนส่งสินค้า (Freight Transportation) ธุรกิจตัวกลางในการจัดส่งสินค้า (Freight Forwarding) การบริการขนส่งพัสดุย่อย (Small Package Delivery Services) การให้บริการคลังสินค้า (Warehousing Services) เป็นต้น โดยจากการประเมินพบว่า มีกฏระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโลจิสติกส์ทั้งหมด 69 กฏระเบียบ โดยในจำนวนนี้มี 54 กฏระเบียบที่เป็นอุปสรรค์ต่อการเสริมสร้างบรรยาการการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรม ทั้งนี้รายงานยังได้มีการระบุข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการปรับปรุงกฎระเบียบดังกล่าวเพื่อเพิ่มระดับการแข่งขันในธุรกิจสาขาโลจิสติกส์เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยต่อไป 2.รายงานการศึกษาการประเมินความเป็นกลางทางการแข่งขันในธุรกิจขนส่งพัสดุย่อย (OECD Competitive Neutrality Reviews: Thailand-Small-Package Delivery Services) โดยจะมุ่งเน้นการศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ความสำคัญและกรอบการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในประเทศไทย รัฐวิสาหกิจและการแข่งขัน ภาพรวมของธุรกิจการขนส่งพัสดุย่อยของประเทศไทย และการดำเนินงานของไปรษณีย์ไทยที่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในธุรกิจขนส่งพัสดุย่อย รวมทั้งได้มีการระบุข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่มุ่งการสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า และให้ผู้ประกอบธุรกิจในทุกระดับสามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรีและเป็นธรรม (Level Playing Field) ด้วยการปรับเปลี่ยนกฏระเบียบเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจในทุกระดับสามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรีและเป็นธรรมจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการแข่งขันทางการค้า อันจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจบริการขนส่งพัสดุขนาดย่อยภายในประเทศและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่มีความเสรีและเป็นธรรม เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคอาเซียน โดยที่ผ่านมา สขค. ได้ร่วมดำเนินการจัดทำรายงานกับคณะทำงาน OECD อย่างใกล้ชิดด้วยการให้ข้อมูล และข้อคิดเห็น รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสาขาโลจิสติกส์เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริง และความเห็นต่อการศึกษาเพื่อจัดทำรายงานทั้งสองฉบับ พร้อมทั้งประมวลและวิเคราะห์ข้อมูล และนำส่งให้คณะทำงาน OECD ดำเนินการจัดทำรายงานต่อไป และในปัจจุบันรายงานข้างต้นทั้ง 2 ฉบับ ได้ถูกจัดทำขึ้นเสร็จสิ้นเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์แล้ว กิจกรรมข้างต้นนี้ มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การเสริมสร้างความตระหนักรู้และเผยแพร่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของผลการศึกษาให้แก่หน่วยงานภาครัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนให้เกิดความเข้าใจ และให้ความสำคัญต่อการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการกำหนดนโยบายหรือกฏระเบียบในธุรกิจสาขาโลจิสติกส์ที่ส่งเสริมการแข่งขัน อันเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศการประกอบธุรกิจสาขาโลจิสติกส์ให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม และ สขค. หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปกฎระเบียบ และนโยบายด้านโลจิสติกส์ให้ส่งเสริมการแข่งขัน และยกระดับการแข่งขันระหว่างรัฐวิสาหกิจและผู้ประกอบการในธุรกิจสาขาโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับหลักการการแข่งขันทางการค้าในระดับสากล (Competition principles) ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการค้าและการลงทุนมากขึ้นในธุรกิจสาขาโลจิสติกส์ของประเทศไทย ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของธุรกิจสาขาโลจิสติกส์ของไทยต่อไป