NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ มองดาวศุกร์ในมุมใหม่ หลังค้นพบ #โมเลกุลฟอสฟีน ภาพถ่ายดาวศุกร์ปกคลุมด้วยชั้นเมฆหนาทึบ บันทึกภาพในย่านรังสีอัลตราไวโอเลต โดยยานอากัตสึกิของญี่ปุ่น เป็นยานที่โคจรรอบดาวศุกร์และสำรวจดาวดวงนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 แม้ว่าดาวศุกร์จะมีสภาพแวดล้อมพื้นผิวที่โหดร้ายเกินไปสำหรับสิ่งมีชีวิตทุกแบบเท่าที่เรารู้จัก แต่บรรยากาศชั้นบนของดาวศุกร์นั้นอาจเย็นพอสำหรับจุลชีพที่ล่องลอยในอากาศ นักวิทยาศาสตร์จึงสงสัยว่า “แล้วจะมีสิ่งมีชีวิตล่องลอยอยู่ตามบรรยากาศของดาวศุกร์ไหม?” ล่าสุดวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2563 เมื่อมีการแถลงข่าวผลงานวิจัยว่าตรวจพบสารฟอสฟีน (Phosphine, PH3) ในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ ซึ่งถือเป็นสารบ่งชี้ทางชีวภาพ (Biomarker) ชนิดหนึ่ง เนื่องจากฟอสฟีนที่เรารู้จักบนโลกนั้นเกิดจากมนุษย์สังเคราะห์ขึ้นในอุตสาหกรรม และเกิดจากจุลชีพที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากออกซิเจนเท่านั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าฟอสฟีนบนดาวศุกร์อาจเกิดจากจุลชีพที่ล่องลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ หากมีการตรวจพบสารฟอสฟีนบนดาวศุกร์เพิ่มเติมหลังจากนี้ อาจกระตุ้นนักวิทยาศาสตร์ให้กลับมาสนใจกับดาวศุกร์อีกครั้ง โดยมุ่งประเด็นไปที่การตรวจหาสารชนิดอื่น ที่สามารถบ่งชี้ถึงสิ่งมีชีวิตที่อาจล่องลอยอยู่ในบรรยากาศของดาวเคราะห์ฝาแฝดของโลกดวงนี้ เรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. #อ้างอิง ภาพถ่ายโดย ISAS / JAXA / ยานอากัตสึกิ ประมวลผลภาพโดย Meli Thev ที่มาของข้อมูล : https://apod.nasa.gov/apod/ap200915.html