วันที่ 15 กันยายน ที่ ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ร่วมเสวนาในหัวข้อ "ถ้าการเมืองดีเราจะคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์กันอย่างไร" โดยระบุว่า ก่อนอื่นคงต้องยืนยันและยอมรับหลักการประชาธิปไตยก่อนว่า เป็นหลักที่ประกันเสรีภาพการแสดงออก ให้แต่ละคนอดทนความต่อความเห็นที่แตกต่าง เป็นการถกเถียงจนได้สิ่งที่เป็นฉันทามติของมหาชน แต่อย่างไรก็ตาม ฉันทามตินี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เสียงข้างน้อยอาจกลายเป็นเสียงข้างมากได้ในวันข้างหน้า ดังนั้น ถ้าการเมืองดี เราสามารถที่จะอภิปราย ถกเถียงกันเรื่องสถาบันกษัตริย์ได้ตั้งแต่เรื่องที่ว่าให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจให้มากขึ้นหรือน้อยลง หรือจำเป็นต้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ หรือแม้แต่กระทั่งพูดแสดงความเห็นว่าต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เป็นไปได้ ดังเช่นที่ สหราชอาณาจักรหรือสเปนที่เปิดโอกาสให้ประชาชน พรรคการเมือง รณรงค์เรื่องการเปลี่ยนแปลงสถาบันกษัตริย์ อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นสิ่งที่เปิดพื้นที่ตรงนี้ไว้ว่าประเทศไทยเราจะมีวุฒิภาวะตรงนี้เพียงพอหรือไม่ที่จะถกเถียงกัน นายปิยบุตร กล่าวว่า การแก้ไขกฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญและกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ก่อนที่จะไปลงรายละเอียดหรือมีข้อเสนอต่างๆ นั้น คิดว่าเราจำเป็นต้องตั้งหลักก่อนว่า ต้องการปกครองในระบอบอะไร เพราะถ้าเอาระบอบประชาธิปไตยเป็นตัวตั้ง นั่นหมายความว่า สถาบันกษัตริย์ต้องปรับให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย เพราะวันนี้ ในศตวรรษที่ 21 เรายอมรับเรื่องประชาธิปไตย เคารพในเรื่องศักดิ์ศรีมนุษย์ ว่าประชาชนเป็นผู้ทรงสิทธิ์ และผู้มีอำนาจย่อมต้องถูกตรวจสอบได้ อย่างนี้แล้วสถาบันต่างๆ ตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ต้องปรับให้สอดคล้องกับหลักนี้หรือไม่ ที่อำนาจสูงสุดเป็นของบุคคลทุกคนที่รวมกันในชื่อประชาชนไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง องค์กรที่ทำหน้าที่รัฐแทนประชาชนนั้นมีความเชื่อมโยงกับประชาชนและมีเรื่องความรับผิดชอบ ต้องมีหลักการแบ่งแยกอำนาจ ปัจเจกชนเป็นผู้ทรงสิทธิเสรีภาพส่วนเรื่องใดที่รัฐต้องการจำกัดสิทธิก็ต้องตราเป็นกฎหมาย และสำคัญที่สุดก็คือ การแบ่งแดนเรื่องสาธารณะกับเรื่องเอกชนออกจากกัน เพราะรัฐจะแสดงเจตนาได้ต้องมีคนไปใช้อำนาจ และจะทำให้คนคนนั้นมี 2 หมวก คือ 1 คน และ 2 คือ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ มีตำแหน่งที่ใช้อำนาจ ซึ่งตำแหน่งพระมหากษัตริย์ก็เช่นกัน ต้องแบ่งให้ชัดเจน เพราะถ้าปนกันจะย้อนไปสู่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เรื่องส่วนตัวกับเรื่องส่วนรวมเป็นเรื่องเดียวกัน "ถ้ายึดหลักประชาธิปไตยดังนี้แล้ว กฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มีนั้นจำเป็นต้องไปดูว่ามีอะไรที่ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตยบ้าง หลักการ The king can do no wrong เรื่องเอกสิทธิ์คุ้มครองประมุขของรัฐนั้น ต้องดูว่าจะจัดการอย่างไร ประมุขของรัฐเราคือพระมหากษัตริย์สืบทอดสายโลหิต จะทำอย่างไรให้เรื่องส่วนบุคคลและเรื่องของรัฐแบ่งเขตแดนจากกันอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดความชอบธรรม นั่นก็คือ ต้องทำให้พระมหากษัตริย์ไม่มีพระราชอำนาจโดยแท้ในทางสาธารณะด้วยพระองค์เอง คือต้องให้รัฐมนตรีมีอำนาจโดยแท้และเป็นคนรับผิดชอบ นั่นคือที่มาที่เรื่องต่างๆ ของรัฐนั้นต้องทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และต้องมีรัฐมตรีที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบจริงๆ นั่นเพราะ The king can do notthing" นายปิยบุตร กล่าว นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ยังมีอีกหลายประเด็นที่ควรแก้ไขให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย เช่น รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 16 กรณีพระมหากษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร จะตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ หรือ พ.ร.บ.ราชการส่วนพระองค์ 2560 ที่กำหนดให้ส่วนราชการในพระองค์ไม่มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่กลับให้รัฐบาลมีหน้าที่จัดสรรงบประมาณให้ และมีการโอนส่วนราชการหน่วยงานต่างๆที่ใช้อำนาจในแดนสาธารณะมาไว้กับราชการส่วนพระองค์ หรือ พ.ร.บ.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ที่ทำให้เกิดความคลุมเครือในเรื่องทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับทรัพย์สินส่วนพระองค์ รวมถึงปัญหาเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ผู้ร่วมเสวนาในวันนี้หลายคนบอกว่าพระมหากษัตริย์ถึง 2 รัชกาล ไม่ประสงค์ใช้มาตรานี้แล้ว ดังนั้นก็ควรที่จะต้องยกเลิกไป เพราะอย่างไรก็ตามยังมีกฎหมายหมิ่นประมาทในระบบกฎหมายระบบปกติอยู่ แต่ทั้งนี้ ตนเองเห็นไปไกลกว่านั้นคือว่า การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ ศาล ทูต หรือแม้แต่คนคนทั่วไปนั้น ก็ไม่ควรมีโทษทางอาญา เพราะในโลกอารยะนั้น การใช้เสรีภาพในการพูด เขียน พิมพ์ ไม่ควรที่จะต้องนำมาซึ่งความผิดอาญาถึงขั้นต้องเข้าคุก คนที่ถูกละเมิดจะร้องเรื่องสินไหมทดแทนก็ว่ากันไป แต่ไม่ควรเอาเข้าคุกเพราะการด่า "อีกฉบับที่เปลี่ยนจากรัชสมัยที่แล้วอย่างชัดเจนคือ ส่วนราชการในพระองค์ ที่กำหนดไว้ว่าไม่ได้เป็นหน่วยงานของรัฐ คำถามคือว่าแล้วเป็นหน่วยงานอะไร ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ไม่มีใครรู้ แต่กฎหมายบังคับให้รัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณแผ่นดิน และที่แน่ชัดคือว่าเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ แต่ที่ผ่านมาก็ปรากฏว่ามีการโอนหน่วยราชการอื่นๆ ที่ใช้อำนาจสาธารณะเข้าไปด้วย ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ยังมีความคลุมเครือ" นายปิยบุตร กล่าว นายปิยบุตร กล่าวทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมา หลายคนอาจไม่สบายใจกรณีการปราศรัยของนักศึกษาธรรมศาสตร์เมื่อ 10 สิงหาคม แต่ตนอยากให้พิจารณาแยกแยะเรื่องท่าทีกับเรื่องเนื้อหา ซึ่งตนไม่เห็นว่าเนื้อหานั้นเป็นการยุยงปลุกปั่นแต่อย่างใด จริงอยู่ ท่าทีวันนั้นอาจมีเรื่องแสง สี เสียง การแสดงออกมาอาจทำให้หลายคนไม่สบายใจ ซี่งก็ต้องแยกแยะจากเนื้อหาที่ต้องการสื่อสาร และก็อยากจะฝากว่า การปฏิรูปเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นจะเกิดขึ้นได้ตบมือข้างเดียวไม่มีทางดัง จำเป็นต้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ปัญญาชนฝ่ายรอยัลลิสต์ นักวิชาการ ข้าราชการ รวมถึงคนอื่นๆ เห็นด้วย ดังนั้นจำเป็นต้องโน้มน้าวให้พวกเขายินยอมปฏิรูปไปด้วยกัน ซึ่งจำเป็นต้องมีพื้นที่ให้เกิดการพูดคุยกันในลักษณะนี้ ขอบคุณทนายอานนท์ คุณเพนกวิน คุณรุ้ง และนักศึกษาที่กล้าหาญเป็นผู้นำเสนอ เรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้การพูดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กลับมาเป็นเรื่องปกติอีกครั้ง และต้องขอบคุณฝ่ายรอยัลลิสต์ที่มีเหตุมีผลหลายคน รวมทั้งวิทยากรร่วมเสวนาในวันนี้อย่าง นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ และ ศ.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรมืองดีจะคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างไร" ย้ำต้องยึดหลักประชาธิปไตย - ชี้มีหลายประเด็นต้องแก้ไขค์ ที่พร้อมพูดคุยเรื่องนี้ด้วยกันเพื่อที่ต่อไป เราจะได้แสวงหาฉันทามติให้กับสังคมไทยในเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์