ดร.กมลินทร์ พินิจภูวดล คดีเหมืองทองอัครากลับมาได้รับความสนใจในสังคมอีกครั้งในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เป็นช่วงที่คณะกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 พิจารณางบประมาณของกระทรวงอุตสาหกรรม 111 ล้านบาท เพื่อต่อสู้คดี... แต่ในแง่ของคดีแล้ว ประเด็นที่ได้ยิน ได้รับทราบตามสื่อต่างๆ ก็คือ...การใช้ ม. 44 ปิดเหมืองทองเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม...การทุจริตให้สินบนเพื่อได้รับสัมปทาน...การดำเนินกิจการเหมืองแร่โดยยึดถือครอบครองพื้นที่ป่าและรุกล้ำเขตพื้นที่ทางหลวง....เรื่องเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับการต่อสู้คดีหรือไม่ และเกี่ยวข้องกับประเด็นข้อกฎหมายในคดีหรือไม่อย่างไร ประเด็นข้อกฎหมายที่ต่อสู้กันในคดีมีอะไรบ้าง อะไรคือข้อเท็จจริงที่ต้องพิสูจน์โดยใช้พยานหลักฐานต่างๆ และจะมีเหตุผลหรือน้ำหนักต่อการพิจารณาข้อกฎหมายในคดีของอนุญาโตตุลาการหรือไม่ หรือมีข้อต่อสู้เรื่องใดที่มีน้ำหนักต่อการไม่รับคดีนี้ไว้พิจารณาของอนุญาโตตุลาการ อย่างไรก็ดี การดำเนินกระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการในคดีนี้เป็นความลับ ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ จึงทำให้ไม่สามารถทราบข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงที่ต่อสู้กันในคดีได้อย่างครบถ้วน ต้องอาศัยข้อมูลจากสื่อต่างๆ เพื่อประกอบการพิจารณา 1) คดีเหมืองทองอัคราเกิดขึ้นจากมาตรการของรัฐ โดยเฉพาะคำสั่งของ คสช. ที่ 72/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคํา ที่ออกโดยอาศัยอำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ประกาศว่า “ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรและใบอนุญาตต่าง ๆ ตามกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคําระงับการประกอบกิจการไว้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป จนกว่าคณะกรรมการจะมีมติเป็นอย่างอื่น...” บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด (Kingsgate Consolidated Ltd.) จากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งได้สิทธิสัมปทานเหมืองแร่ทองคำชาตรี (Chatree Gold Mine) และให้บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) บริษัทลูกในประเทศไทยดำเนินกิจการขุดเหมือง ได้ใช้สิทธิเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศกับไทย ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA) เพื่อเรียกร้องให้มีการชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นจำนวนเงิน 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ (22,672 ล้านบาท) เนื่องจากคำสั่งของ คสช. เป็นการละเมิดข้อตกลง TAFTA การใช้สิทธิของบริษัทคิงส์เกตเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยชดใช้ค่าเสียหายภายใต้ข้อตกลง TAFTA นี้ (Treaty-based arbitration cases) ก็คือ กลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (Investor-State Dispute Settlement - ISDS) ดังนั้น คู่กรณีที่พิพาทจึงต้องต่อสู้กันภายใต้หลักกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศ และความตกลงการลงทุนที่เกี่ยวข้อง (ในที่นี้คือ ข้อตกลง TAFTA) 2) การละเมิดข้อตกลง TAFTA เป็นการละเมิดพันธกรณี ข้อบท หรือข้อกฎหมายใดในข้อตกลง TAFTA บริษัทคิงส์เกตได้เผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ เรื่องการดำเนินการทางกฎหมายเกี่ยวกับเหมืองแร่ทองคำชาตรีกับประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 โดยระบุว่า การดำเนินการของรัฐ (State acts) ที่สำคัญซึ่งนำไปสู่ข้อเรียกร้องภายใต้ข้อตกลง ประกอบด้วย 1) มติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหะกรรม (Metallurgical Processing Licence : "MPL") ไปจนถึงสิ้นปี 2559 (แทนที่จะเป็นช่วงเวลา 3 หรือ 5 ปี ตามที่ได้รับการต่ออายุก่อนหน้านี้) 2) มติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ให้ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ และ 3) คำสั่งของ คสช. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ให้ระงับการประกอบกิจการ และยังระบุอีกว่า มาตรการเหล่านี้ของรัฐบาลไทยเป็นมาตรการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (unlawful measures) เป็นการละเมิดพันธกรณีของข้อตกลง TAFTA บริษัทคิงส์เกตจึงใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย (TAFTA Claim) โดยฟ้องว่า มาตรการของไทยละเมิดข้อบทหรือข้อกฎหมายที่สำคัญ 3 ข้อ ได้แก่ 1) การประติบัติอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม (Fair and Equitable Treatment) 2) การโอนหรือการเวนคืนกิจการ (Expropriation) และ 3) การทำให้เสียหาย การทำตามอำเภอใจ หรือการเลือกปฏิบัติ (Non-impairment) ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะผู้ถูกร้อง/ผู้ถูกฟ้องคดีก็ต้องต่อสู้เพื่อหักล้างข้อกฎหมายเหล่านี้ 3) คำสั่งของ คสช. ที่ 72/2559 ระงับการประกอบกิจการด้วยเหตุผลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน... จากข้อมูลดังกล่าวที่บริษัทคิงส์เกตได้เผยแพร่ต่อสาธารณะ พบว่า การใช้สิทธิเข้าสู่กลไก ISDS เกิดขึ้นจากมาตรการอื่นๆ ด้วย แต่คำสั่งของ คสช. นี้เป็นเหตุผลหลัก คำถามที่น่าสนใจก็คือ เป็นการสั่งปิดเหมืองถาวรหรือชั่วคราว ฝ่ายรัฐบาลอ้างว่า “ไม่ได้ใช้ ม.44 สั่งปิดเหมืองทองอัคราฯ แต่ให้หยุดดำเนินการชั่วคราว หลังมีร้องเรียนผลกระทบสิ่งแวดล้อม และให้ขอเปิดอีกได้หลังมีพ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่...” แต่บางฝ่ายก็โต้แย้งว่าเป็นการปิดเหมืองอย่างถาวร ในประเด็นนี้ หากพิจารณาคำสั่งของ คสช. ดังกล่าว ที่ประกาศว่า “ระงับการประกอบกิจการ...จนกว่าคณะกรรมการจะมีมติเป็นอย่างอื่น” ซึ่งต่อมาภายหลัง เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2561 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกแถลงการณ์ย้ำว่า “คำสั่ง คสช. ที่ ๗๒/๒๕๕๙ เป็นมาตรการชั่วคราวเพื่อระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ เพื่อปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความปลอดภัยของประชาชนไทยเป็นสำคัญ...” การปิดเหมืองจึงเป็นการปิดชั่วคราว ในประกาศเองก็เขียนเปิดช่องไว้ว่า...จนกว่าคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานจะพิจารณาเป็นอย่างอื่น ดังนั้น ความเสียหายจากการปิดเหมืองชั่วคราวก็อาจไม่ทำให้มีค่าเสียหายที่เรียกร้องให้ชดใช้มากถึงสองหรือสามหมื่นกว่าล้านบาทตามที่เป็นข่าว หากเหมืองสามารถกลับมาดำเนินการต่อ เมื่อมีการฟื้นฟูพื้นที่ตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กําหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว ความเสียหายจึงอาจเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ระงับการประกอบกิจการจนถึงวันที่กลับมาดำเนินการต่อได้ ไม่ใช่ความเสียหายที่คำนวณจากมูลค่าทั้งหมดของเหมือง และการสูญเสียรายได้ที่อาจจะเกิดขึ้นจากดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำ 4) คำสั่งของ คสช. ระงับการประกอบกิจการด้วยเหตุผลสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากสามารถพิสูจน์หรือมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แน่ชัดว่าเหมืองทองคำก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพประชาชนในพื้นที่จริง คำสั่งนี้ ในกฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศ เรียกว่า “Right to regulate” หรือ อำนาจในการควบคุม หรือ การใช้อำนาจรัฐ (Police powers) เพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัย ความปลอดภัยของประชาชน และการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐสามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้ แม้ว่าข้อตกลง TAFTA ไม่มีข้อบทคุ้มครองการใช้อำนาจในการควบคุมนี้ไว้ก็ตาม ในคดี ISDS ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 1,023 คดี (UNCTAD World Investment Report 2020) มีหลายคดีที่รัฐยกข้อต่อสู้ เรื่องความจำเป็นของรัฐ (State of necessity) ซึ่งเป็นหลักกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และได้รับการยอมรับในความตกลงระหว่างประเทศด้านการลงทุน อนุญาโตตุลาการในหลายคดีก็ยอมรับหลักนี้ ซึ่งอาจนำไปสู่การพิจารณาและคำชี้ขาด (Award) ว่า การที่รัฐใช้อำนาจ Right to regulate นี้ ไม่เป็นการละเมิดพันธกรณีข้อตกลง ในเรื่องการประติบัติอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม และการโอนหรือการเวนคืนกิจการก็ได้ แต่อย่างไรก็ดี อนุญาโตตุลาการในหลายคดี มักให้ความสำคัญเรื่องความสมดุลของอำนาจของรัฐในการควบคุม และการคุ้มครองนักลงทุนด้วย (Balance between the right to regulate and investor protection) โดยเฉพาะในกรณีที่มีความสูญเสียและความเสียหายของนักลงทุน (Loss and damages) เกิดขึ้น 5) เรื่องสินบนข้ามชาติที่อยู่ในการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นประมาณปี 2558 โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ข้อมูลและหลักฐานบางอย่างจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์และการลงทุนของประเทศออสเตรเลีย (Australian Securities and Investment Commission : ASIC) ที่ส่งมาให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) ซึ่งพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย ถูกร้องเรียนว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำการทุจริตในการขุดเหมืองแร่ทองคำในไทย โดยมีการโอนเงินจากประเทศออสเตรเลียมายังประเทศไทย ที่อาจใช้เพื่อประโยชน์ในการขอใบอนุญาตขุดเหมืองแร่ทองคำ หรือเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ พร้อมทั้งให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐของไทยด้วย ดังนั้น เรื่องสินบนนี้ จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้อนุญาโตตุลาการไม่รับคดีนี้ไว้พิจารณา (เขตอำนาจของอนุญาโตตุลาการ) ได้หรือไม่ หรือใช้เป็นข้อเท็จจริงเพื่อใช้ต่อสู้การละเมิดพันธกรณีของข้อตกลง TAFTA โดยทั่วไปแล้ว การต่อสู้คดี ISDS ก็เหมือนกับการต่อสู้คดีในศาล กล่าวคือ ต่อสู้กันเรื่องเขตอำนาจศาล (Jurisdiction) และ ต่อสู้กันในประเด็นข้อกฎหมาย (Legal issue) ในเรื่องเขตอำนาจของอนุญาโตตุลาการโดยกลไก ISDS มีเงื่อนไขที่สำคัญ 3 ประการคือ 1) ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร (Consent in writing) ของคู่กรณีพิพาทที่มอบอำนาจให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยข้อพิพาท 2) คุณลักษณะของคู่กรณีพิพาทที่ฝ่ายหนึ่งคือรัฐ (State) และอีกฝ่ายหนึ่งคือนักลงทุนต่างชาติ (Foreign investor) หรือนักลงทุนของประเทศที่ทำความตกลงกัน และ 3) ประเด็นข้อพิพาททางกฎหมายที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการลงทุน (Legal dispute arising directly out of an investment) ในคดีเหมืองทองอัครา การใช้กลไก ISDS ก็เป็นไปตามเงื่อนไขที่สำคัญ 3 ประการนี้ กล่าวคือ 1) ข้อตกลง TAFTA มีข้อบทเรื่องการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับนักลงทุนของอีกรัฐหนึ่ง (Article 917) ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าของไทยในการใช้กลไก ISDS ซึ่งต่อมาบริษัทคิงส์เกตก็ได้ให้ความยินยอมก่อนเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ 2) คู่กรณีที่พิพาทคือรัฐบาลไทยโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและบริษัทคิงส์เกตซึ่งเป็นบริษัทของประเทศออสเตรเลียที่มีข้อตกลง TAFTA กับไทย และ 3) ประเด็นข้อพิพาททางกฎหมาย ได้แก่ การประติบัติอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม การโอนหรือการเวนคืนกิจการ และการทำให้เสียหาย การทำตามอำเภอใจ หรือการเลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ดี นอกจากการต่อสู้ในเรื่องเขตอำนาจของอนุญาโตตุลาการตามเงื่อนไข 3 ประการข้างต้น และประเด็นข้อกฎหมายในข้อตกลงแล้ว ในคดี ISDS หลายคดี รัฐได้ยกประเด็นเรื่องการคอร์รัปชั่นและติดสินบน มาเป็นข้อต่อสู้เขตอำนาจของอนุญาโตตุลาการอีกด้วย (Corruption defenses) และหากมีข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ว่า มีการทุจริตของนักลงทุนเกิดขึ้นจริง (Investor corruption) ก็จะทำให้นักลงทุนเสียสิทธิการใช้กลไก ISDS อนุญาโตตุลาการจะปฏิเสธเขตอำนาจ และไม่รับคดีไว้พิจารณา ดังตัวอย่างต่อไปนี้ คดี World Duty Free v. Kenya บริษัท World Duty Free ฟ้องรัฐบาลเคนย่าว่าละเมิดสัญญาสัมปทานขายสินค้าปลอดภาษี และทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย แต่รัฐบาลเคนย่าได้ยกเรื่องการจ่ายสินบนของบริษัทให้กับอดีตประธานาธิบดีของเคนยาเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญญาสัมปทาน คดี Inceysa v. El Salvador อนุญาโตตุลาการตัดสินว่า การที่นักลงทุนได้รับอนุมัติโครงการลงทุนอันเนื่องจากการฉ้อโกงหรือผิดกฎหมาย นักลงทุนจึงไม่สามารใช้สิทธิเข้าสู่กลไก ISDS เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายภายใต้ความตกลงการลงทุนจากการที่รัฐละเมิดพันธกรณีได้ คดี Hamester v. Ghana อนุญาโตตุลาการตัดสินว่า การลงทุนจะไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้ความตกลง หากจัดตั้งขึ้นโดยละเมิดหลักความสุจริต (good faith) ในกฎหมายภายในหรือกฎหมายระหว่างประเทศ โดยการทุจริต ฉ้อโกง หรือหลอกลวง หรือเป็นการลงทุนที่ละเมิดกฎหมายของประเทศที่รับการลงทุน คดี Metal-Tech v. Uzbekistan บริษัท Metal-Tech จากอิสราเอลดำเนินการโดยทุจริต และละเมิดกฎหมายอุซเบกิสถานเรื่องการติดสินบน อนุญาโตตุลาการพบว่ามีการทุจริตเกี่ยวกับข้อตกลงการให้คำปรึกษา การลงทุนจัดตั้งขึ้นและดำเนินการโดยทุจริต (made and operated corruptly) อนุญาโตตุลาการจึงปฏิเสธเขตอำนาจ คดีนี้น่าสนใจที่อนุญาโตตุลาการตีความข้อบทของความตกลงทวิภาคีการลงทุน (Bilateral Investment Treaty : BIT) ระหว่างอิสราเอลกับอุซเบกิสถานเรื่องการอนุญาตการลงทุน (Admission clause) ที่บัญญัติว่า การลงทุนต้องดำเนินการตามกฎหมายและข้อบังคับของรัฐภาคีที่รับการลงทุน อนุญาโตฯตีความข้อบทนี้ว่า การลงทุนจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ณ เวลาที่ก่อตั้ง และในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตาม ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจะไม่ตกอยู่ภายใต้เขตอำนาจอนุญาโตตุลาการ การจัดตั้งการลงทุนของบริษัท Metal-Tech เกิดขึ้นจากการทุจริตคอร์รัปชั่น จึงนำไปสู่การยกเลิกเขตอำนาจอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น เรื่องสินบนข้ามชาติจึงเป็น “หมัดเด็ด” หรือ "เกราะป้องกัน" (shield) ที่รัฐบาลไทยอาจใช้เป็นข้อต่อสู้ในคดีเหมืองทองอัคราได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า มีการให้สินบนเกิดขึ้นจริง และคณะกรรมการป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด และข้อเท็จจริงใหม่นี้จะสามารถยื่นเป็นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อให้รับไว้พิจารณาเพื่อนำไปสู่การปฏิเสธเขตอำนาจอนุญาโตตุลาการได้หรือไม่ เนื่องการพิจารณาคดีได้เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และอยู่ในระหว่างการเตรียมทำคำชี้ขาด ในข้อตกลง TAFTA กำหนดให้การตั้งอนุญาโตตุลาการ ISDS และกระบวนวิธีพิจารณาใช้ข้อบังคับอนุญาโตตุลาการของคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (UNCITRAL Arbitration Rules) ซึ่งภายใต้ข้อบังคับดังกล่าว...คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยการคัดค้านเรื่องเขตอำนาจ (ข้อ 21 1)... การแก้ไข หรือเพิ่มเติมข้อเรียกร้องหรือข้อต่อสู้ สามารถทำได้ในระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ เว้นแต่คณะอนุญาโตตุลาการจะพิจารณาว่าไม่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความล่าช้าในการดำเนินการหรือการส่งผลกระทบต่ออีกฝ่ายหนึ่ง หรืออยู่นอกขอบเขตของข้อตกลงอนุญาโตตุลาการ (ข้อ 20)...การยื่นคำร้องต่อสู้เขตอำนาจของอนุญาโตตุลาการจะต้องยื่นไม่ช้ากว่าในคำแถลงต่อสู้คดี (not later than in the statement of defence) (ข้อ 21 3)... แต่โดยทั่วไปแล้ว อนุญาโตตุลาการควรพิจารณาข้อต่อสู้เกี่ยวกับเขตอำนาจเป็นประเด็นแรกๆ (a preliminary question) (ข้อ 21 4) 6) เรื่องการดำเนินกิจการเหมืองแร่โดยเข้ายึดถือครอบครองพื้นที่ป่าและรุกล้ำเขตพื้นที่ทางหลวง ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และ พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 เรื่องนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับคดีการเข้ายึดถือครอบครองพื้นที่ป่าและรุกล้ำเขตพื้นที่ทางหลวง บริเวณตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เป็นคดีพิเศษที่ 17/2559 โดยได้ดำเนินการส่งกรณีพบการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 ส่วนประเด็นที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ได้ส่งให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561 ได้แก่ กรณีเจ้าหน้าที่ถูกกล่าวหาว่ามีการออกโฉนดโดยมิชอบ โดยมีบริษัทเอกชนร่วมสนับสนุนการกระทำความผิด และกรณีบริษัท อัคราฯ และพวก รวม 2 คน ในความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 ดังนั้น เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนที่เกิดขึ้นจากการทุจริตหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย (Illegal investment) ก็อาจใช้เป็นข้อต่อสู้เรื่องเขตอำนาจอนุญาโตตุลาการได้เช่นกัน แต่จะสามารถยื่นต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อให้รับไว้พิจารณาได้หรือไม่ และต้องรอให้มีมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางวินัยของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องก่อน หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 ข้อเท็จจริงนี้จะสามารถยื่นได้ทันหรือไม่ ก่อนการมีคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ?