เมื่อวันที่ 14 ก.ย.63 ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI โดยตั้งบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้ทำแผน ทั้งนี้ศาลล้มละลายกลางนัดฟังคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ ฟฟ10/2563 ระหว่างบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ผู้ ร้องขอ กับเจ้าหนี้ผู้คัดค้าน โดยมีรายละเอียดดังนี้ คดีนี้ ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและขอให้ศาลตั้งบุคคลที่ ลูกหนี้ผู้ร้องขอเสนอเป็นผู้ทำแผน ศาลประกาศนัดไต่สวนตามกฎหมายแล้ว มีเจ้าหนี้ยื่นคำคัดด้าน รวม 16 ราย ขอให้ศาลยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และคัดค้านผู้ทำแผนที่ลูกหนี้ผู้ร้องขอเสนอระหว่างพิจารณา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 16 ถอนคำคัดค้าน ศาลไต่สวนพยานลูกหนี้ผู้ร้องขอ รวม 5 ปาก และไต่สวนพยาน เจ้าหนี้ผู้คัดค้าน รวม 3 ปาก โดยใช้เวลาพิจารณาคดี รวม 3 นัด ศาลพิเคราะห์คำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ คำคัดค้าน และพยานหลักฐานในสำนวนคดีแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้หรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณางบแสดงฐานะทางการเงิน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 และวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ลูกหนี้มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์และส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ ซึ่งงบแสดงฐานะทางการเงินได้ตรวจสอบและสอบทานตามมาตรฐานการบัญชีโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแล้ว ประกอบกับสินทรัพย์ในงบแสดงฐานะการเงินของลูกหนี้บางรายการมิได้เป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าที่สามารถยึดหรือบังคับชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายได้ เป็นเพียงการบันทึกตามมาตรฐานทางบัญชีเท่านั้น นอกจากนั้น ปัจจุบันลูกหนี้มีหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระ โดยลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ที่ถึงกำหนดได้ ซึ่งในเรื่องนี้เจ้าหนี้ผู้คัดค้านในคดีก็ไม่ได้นำสืบเป็นอย่างอื่น ลูกหนี้จึงมีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้ โดยเป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท โดยคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สองว่า มีเหตุอันสมควรและช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้หรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า โครงสร้างธุรกิจของลูกหนี้เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ และมีความจำเป็นต่อระบบการคมนาคมและขนส่งทางอากาศ ลูกหนี้มีทรัพยากรในการดำเนินธุรกิจที่มีมูลค่าและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งมีชื่อเสียงและประสบการณ์จากการประกอบกิจการมานาน ปัจจุบันลูกหนี้ยังคงมีความสามารถในการสร้างรายได้ สาเหตุที่ทำให้ลูกหนี้ประสบปัญหาทางการเงิน มิได้เกิดจากพื้นฐานธุรกิจของลูกหนี้อย่างแท้จริง แต่เกิดจากสภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยภายนอก ทำให้การประกอบกิจการการบินพาณิชย์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของลูกหนี้และธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องต้องลดการให้บริการลงอย่างฉับพลัน เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการบินในต่างประเทศ หากลูกหนี้ไม่ได้รับการฟื้นฟูกิจการ กรณีย่อมเกิดความเสียหายต่อลูกหนี้ เจ้าหนี้ทั้งหลาย ลูกจ้าง ผู้ลงทุนในกิจการของลูกหนี้ ประชาชน และกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ส่วนช่องทางการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้นั้น เจ้าหนี้ผู้ให้เช่าหรือผู้ให้เช่าซื้อเครื่องบินหลายรายสนับสนุนให้ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และยินยอมให้ลูกหนี้ใช้เครื่องบินที่ให้เช่าหรือให้เช่าซื้อ โดยพักหรือขยายระยะเวลาการชำระหนี้บางส่วน เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้ อีกทั้งลูกหนี้ยังมีหนังสือสนับสนุนการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและไม่ประสงค์คัดค้านคณะผู้ทำแผนที่ลูกหนี้เสนอมาแสดงเป็นหลักฐานยืนยันว่า ลูกหนี้ได้เจรจาประนอมหนี้เรื่อยมาและได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้สถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้ให้เช่าและให้เช่าซื้อเครื่องบิน ผู้ให้บริการด้านอากาศยาน สายการบินคู่ค้า ผู้ถือหุ้นกู้รายใหญ่ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบธุรกิจของลูกหนี้ทำให้ข้อกล่าวอ้างของลูกหนี้มีน้ำหนัก ดังนี้ ทั้งนี้หากได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โครงสร้างองค์กร และการบริหารจัดการของลูกหนี้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดในอนาคตตามความเหมาะสมภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ลูกหนี้ย่อมมีโอกาสดำเนินธุรกิจต่อไป และมีรายได้สามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อย่างเป็นธรรมในจำนวนที่ดีขึ้นกว่าเดิมหรืออย่างน้อยจะไม่ได้รับความเสียหายเพิ่มเติมจากการคงสภาพกิจการของลูกหนี้ไว้ ทั้งสามารถรักษาการจ้างงานจำนวนมาก ซึ่งเป็นประโยชน์มากกว่าการปล่อยให้กิจการของลูกหนี้ต้องล้มละลาย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สามว่า ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยสุจริตหรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อลูกหนี้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่อาจชำระหนี้ตามกำหนดได้ ลูกหนี้ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอได้ตามกฎหมาย ทั้งเจ้าหนี้ผู้คัดค้านในคดีไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานใดให้รับฟังได้ว่า ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยไม่สุจริต นอกจากนี้การที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ย่อมมีผลเป็นเพียงการจัดตั้งกระบวนการบังคับเจ้าหนี้ทั้งหลายและลูกหนี้ ให้เจรจาตกลงกันในเรื่องมูลหนี้ โดยมีผู้ทำแผนเป็นผู้แทนของลูกหนี้ในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อหาวิธีการรักษามูลค่าทรัพย์สินของลูกหนี้ และเพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้มากที่สุดด้วยความเป็นธรรม จากข้อเท็จจริงที่วินิจฉัยข้างต้นจึงรับฟังได้ว่า ลูกหนี้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/3 และได้ความจริงครบถ้วนตามมาตรา 90/10 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า บุคคลที่ลูกหนี้เสนอสมควรเป็นผู้ทำแผนหรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ผู้ทำแผนต้องตรวจสอบรายละเอียดและความเป็นไปได้จากการปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้บนหลักการที่ว่าแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จะต้องก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย และเจ้าหนี้จะต้องได้รับชำระหนี้ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการมากกว่ากรณีที่ลูกหนี้ล้มละลาย ซึ่งแผนฟื้นฟูกิจการต้องจัดทำขึ้นโดยความยินยอมของเจ้าหนี้และผู้ทำแผน โดยหากผู้ทำแผนจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการที่ไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้ที่มีสัดส่วนหนี้ข้างมากตามกฎหมาย หรือทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม แผนฟื้นฟูกิจการเช่นว่านั้นย่อมไม่ได้รับความเห็นชอบให้มีผลบังคับและผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหลายได้ ด้วยหลักการดังกล่าว บุคคลซึ่งลูกหนี้เสนอเป็นผู้ทำแผน ย่อมไม่สามารถจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการไปตามที่ตนเองต้องการโดยปราศจากความร่วมมือจากเจ้าหนี้อื่นได้ ทั้งเจ้าหนี้ผู้คัดค้านในคดีก็ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานอื่น เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวอ้างให้รับฟังได้ตามคำคัดค้าน และไม่ได้เสนอบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นผู้ทำแผนเมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ผู้ที่ลูกหนี้เสนอขาดคุณสมบัติที่เหมาะสมหรือไม่สมควรเป็นผู้ทำแทน จึงเห็นสมควรตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ทำแผนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/17 ศาลจึงมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ผู้ร้องขอ โดยตั้งบริษัทอีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับพล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้ทำแผน