พาณิชย์แนะผู้ประกอบการเครื่องดื่มไทย ชี้โอกาสขยายตลาดไปเมียนมายังขยายตัวได้สูง ความนิยมในสินค้าไทยยังคงโตต่อเนื่อง แม้จะผลิตเครื่องดื่มได้เองในบางประเภท อีกทั้งได้เปรียบคู่แข่งด้านภูมิศาสตร์ ขนส่งได้รวดเร็ว ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ต่ำ แนะสร้างการรับรู้ผ่านโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมาก นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่เมียนมาเริ่มมีการปฏิรูปประเทศและมีนโยบายในการส่งเสริมทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ จึงมีการเติบโตทางเศรษฐกิจและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชากรมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในประเทศเมียนมามีการเติบโตขึ้นมาก และมีหลากหลายรูปแบบเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคของประชากรชาวเมียนมาที่เริ่มมีกำลังซื้อ ซึ่งเครื่องดื่มนำเข้าจากต่างประเทศได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก อาทิ น้ำผลไม้ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง น้ำหวานและน้ำอัดลม (soft drink) ชา กาแฟ นม นมถั่วเหลือง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยกเว้นเบียร์ที่ห้ามนำเข้า และเครื่องดื่มผสมเกลือแร่ เป็นต้น ทั้งนี้แม้เมียนมาจะเปิดประเทศแล้วนั้น แต่ยังมีข้อจำกัดในการผลิตสินค้าที่หลากหลายหรือสินค้าที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งยังไม่มีกฎหมายอุตสาหกรรมที่ชัดเจน อีกทั้ง ด้านคุณภาพและภาพลักษณ์ของสินค้าเครื่องดื่มที่ผลิตในประเทศอาจยังไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคบางกลุ่ม จึงยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเครื่องดื่มจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจากประเทศไทย ซึ่งถือว่าได้เปรียบประเทศอื่นๆในเชิงภูมิศาสตร์ เนื่องจากมีพรมแดนติดกับเมียนมา ทำให้การขนส่งสินค้าทำได้สะดวกรวดเร็วและมีต้นทุนโลจิสติกส์ที่ต่ำกว่าคู่แข่ง โดยจากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง ได้สรุปพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มเครื่องดื่มไว้ดังนี้ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (วิสกี้ ไวน์ เบียร์) ชาวเมียนมานิยมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเพิ่มขึ้น เห็นได้จากการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหาร ผับ บาร์ และร้านสถานบันเทิง โดยกลุ่มชนชั้นกลาง-กลุ่ม High End จะนิยมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ แม้เริ่มผลิตสินค้าได้เอง แต่ยังมีการนำเข้าเป็นจำนวนมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น น้ำแร่ น้ำอัดแก๊ส (Sparking Water) และน้ำหวานต่างๆ สำหรับเครื่องดื่มชูกำลัง เป็นสินค้าเครื่องดื่มนำเข้าจากประเทศไทยที่ได้รับความนิยมและมีมูลค่าการนำเข้าสูงที่สุด พบว่ามีการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากประเทศไทยหลากหลายแบรนด์ เป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวเมียนมาทั่วไปไม่ว่าจะผู้ชายหรือผู้หญิง น้ำผลไม้ เครื่องดื่มน้ำผลไม้จากประเทศไทยหลากหลายแบรนด์เข้าไปจำหน่ายในเมียนมาเช่น มาลี UFC ทิปโก้ CHABAA และ ดีโด้ เป็นต้น ส่วนน้ำผลไม้แบรนด์ท้องถิ่นของเมียนมาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงคือ VeVe ทั้งนี้การส่งออกสินค้าไทยสู่ตลาดเมียนมาได้จะต้องผ่านผู้นำเข้า ตัวแทนจำหน่าย (Sale Agent) และผู้จัดจำหน่าย (Distributor) เป็นหลัก ซึ่งการหาคู่ค้าที่มีศักยภาพและมีความน่าเชื่อถืออาจต้องใช้เวลาในการศึกษาและทำความรู้จักคู่ค้าให้เป็นอย่างดี เพื่อให้สามารถกระจายสินค้าไทยได้อย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันกระบวนการทางศุลกากรต้องให้ผู้นำเข้าท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ โดยมีช่องทางการกระจายสินค้าในเมียนมาที่สำคัญ 4 ช่องทางได้แก่ ตลาดดั้งเดิมทั่วไป (Traditional Trade) หรือร้านโชห่วย ร้านค้าปลีกท้องถิ่น ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุด และครอบคลุมทุกพื้นที่ ห้างโมเดิร์น เทรด (Modern Trade)ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากและมีการขยายตัวทางธุรกิจสูง สามารถตอบรับเทรนด์ไลฟ์สไตล์ของชาวเมียนมายุคใหม่ได้เป็นอย่างดี และเริ่มขยายสาขากระจายไปยังภูมิภาคต่างๆอีกด้วยอาทิ City Mart Group,Capital, AEON Orange,Ga Mone Pwint และ Sein Gay Har นอกจากนี้ยังมีร้านสะดวกซื้อ(Convenience Store) ที่เป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกพื้นที่ ส่วนช่องทางอี-คอมเมิร์ซ (E-Commerce)นั้น ปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ผ่านแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือในเมียนมาอย่าง Shop.com.mm “แม้ว่าขณะนี้รัฐบาลเมียนมาเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 โดยร้านค้าและร้านอาหาร สามารถเปิดกิจการได้ตามปกติ ผู้ประกอบการจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับภาวะตลาด และสถานการณ์เศรษฐกิจเช่น การศึกษาช่องทางขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ และการทำดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง โดยเน้นการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊กซึ่งเป็นสื่อที่ชาวเมียนมาใช้เป็นอันดับหนึ่งเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมาก และมีต้นทุนที่ไม่สูง”