ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง 8ข้อผู้แสวงบุญ ควรรู้ก่อนและไปพิธีฮัจญ์ซาอุฯ ช่วงนี้ชาวไทยมุสลิมต่างมุ่งสู่เมืองมักกะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกันคือประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งเป็นศาสนบัญญัติสำคัญประการหนึ่งของศาสนาอิสลาม ที่กำหนดให้ชาวมุสลิมผู้มีความพร้อมเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ อย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต โดยอยู่บนพื้นฐานและเงื่อนไขหลัก 3 ประการ คือ มีความพร้อมด้านทรัพย์สิน สุขภาพ และมีความปลอดภัยตลอดการเดินทาง เมื่อมีความพร้อมตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว จะต้องเตรียมตัวก่อนไป และเมื่อไปประกอบพิธีฮัจญ์ในประเทศซาอุฯ จะต้องปฏิบัติอย่างไร สัปดาห์นี้นำข้อมูลกองส่งเสริมกิจการฮัจญ์ กรมการศาสนา มาให้ผู้ที่จะไปแสวงบุญได้รับทราบกัน 8 ข้อหลักๆ สังเขป เริ่มที่ 1.การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ประเทศซาอุดีอาระเบีย ผู้แสวงบุญไม่สามารถดำเนินการเองได้ เนื่องจากประเทศซาอุฯ ได้กำหนดไว้ทุกประเทศ ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาก จึงมีการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจญ์ พ.ศ. 2524 เพื่อคุ้มครองผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ เป็นไปด้วยความสะดวก ปลอดภัย และมีหลักประกัน โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์แห่งประเทศไทยเป็นคณะผู้บริหาร มีรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธาน และอธิบดีกรมการศาสนาเป็นกรรมการและเลขานุการฯ ทั้งนี้ ผู้ที่จะดำเนินการขนส่งผู้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุฯ ได้นั้น ต้องเป็นผู้ประกอบกิจการฮัจญ์ที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์ฯ เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 106 ราย ดังนั้นแล้ว ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางไปพิธีฮัจญ์จะต้องสมัครผ่านผู้ประกอบกิจการฮัจญ์ที่ได้รับอนุญาตจากทางการเท่านั้น 2. เมื่อผู้มีความพร้อมประสงค์ไปพิธีฮัจญ์ ซึ่งจะคุ้นเคยในชื่อของ “ผู้แสวงบุญ” หรือ “ฮุจยาจ” สิ่งแรกที่ผู้แสวงบุญควรทำ คือ หาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการตัดสินใจ เช่น สอบถามข้อมูลจากคนใกล้ชิด หรือคนที่เคยใช้บริการในปีที่ผ่านมาหรือก่อนๆ ตรวจสอบผู้ประกอบกิจการฮัจญ์ หรือบริษัท ที่ได้รับอนุญาตจากทางการหรือไม่ โดยสอบถามกรมการศาสนา หรือตรวจสอบผ่านทาง www.hajthailand.net หรือสอบถามผู้ประกอบกิจการฮัจย์ว่า เก็บค่าบริการเท่าไร ให้บริการอะไรบ้าง และศึกษาข้อมูลจากโบว์ชัวร์หรือเว็บไซต์ผู้ประกอบกิจการดังกล่าว 3. หากผู้แสวงบุญจะสมัครผ่านตัวแทนบริษัท ที่เรียกว่า “แซะห์” ซึ่งถ้าจะให้ความหมายที่เข้าใจง่ายๆ ก็เปรียบเหมือน “หัวหน้ากรุ๊ปทัวร์” นั่นเอง ซึ่งผู้แสวงบุญส่วนใหญ่โดยเฉพาะทางพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มักจะสมัครใช้บริการผ่าน “แซะห์” ดังนั้น ต้องขอดูหลักฐานแสดงการเป็นตัวแทนจากผู้ประกอบกิจการฮัจย์ก่อน เช่น หนังสือแต่งตั้งหรือบัตรประจำตัวที่ออกโดยผู้ประกอบกิจการฮัจญ์ทุกครั้ง 4. เมื่อตัดสินใจเลือกสมัครไปกับผู้ประกอบกิจการฮัจญ์รายใดแล้ว ต้องดำเนินการ 1) กรอกใบสมัครแสดงความจำนงกับบริษัท หรือตัวแทนบริษัท หรือแซะห์ ที่มาติดต่อ เมื่อกรอกรายละเอียดเรียบร้อย ท่านจะได้รับสำเนาใบสมัครเก็บเป็นไว้เป็นหลักฐาน 1 ฉบับ 2) ชำระเงินค่าประกันเดินทาง 13,000 บาท (ค่าอาหารในช่วงพิธีการฮัจย์ ค่าบริการและค่าพาหนะ) โดยผู้ประกอบกิจการฮัจญ์จะนำไปลงทะเบียนในระบบออนไลน์ในเว็บไซต์ข้างต้น 3) ตัวแทนบริษัทหรือแซะห์ จะมอบใบเสร็จรับเงิน และหลักฐานการลงทะเบียนที่พิมพ์ออกมาจากระบบลงทะเบียนออนไลน์ ให้แก่ท่านเพื่อเป็นหลักฐาน 4) ตรวจสอบรายชื่อในระบบออนไลน์เว็บไซต์ดังกล่าว เมื่อผู้แสวงบุญชำระงวดที่ 1 ผู้ประกอบกิจการฮัจย์ลงทะเบียนในระบบออนไลน์แล้ว ก็จะปรากฏชื่อผู้แสวงบุญอยู่ในทะเบียนออนไลน์ตามลำดับคิว แต่ยังไม่ได้สิทธิเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ทันที ต้องรอจนกว่าจะถึงคิว 5. เมื่อผู้แสวงบุญอยู่ในลำดับคิวที่จะได้รับสิทธิไปประกอบพิธีฮัจญ์ในปีใดแล้ว สิ่งที่ควรทำต่อไป ดำเนินการชำระเงินประกันการเดินทางงวดที่ 2 จำนวน 50,000 บาท ให้กับผู้ประกอบกิจการฮัจญ์หรือบริษัท หรือแซะห์ (เพื่อเป็นค่าบัตรโดยสารเครื่องบินและค่าอาหารที่เมืองมักกะห์และเมืองมะดีนะห์) โดยผู้ประกอบกิจการฮัจญ์หรือบริษัท ต้องนำเงินจำนวนจ่ายชำระผ่านระบบทะเบียนออนไลน์ สำหรับงวดที่ 3 ผู้แสวงบุญชำระเงินก่อนการเดินทาง 30 วัน ทั้งนี้ให้เป็นไปตามจำนวนที่ได้ตกลงกับผู้ประกอบกิจการฮัจญ์ หรือบริษัท หรือแซะห์ต่อไป 6. เมื่อผู้แสวงบุญมีรายชื่อเป็นผู้ได้สิทธิเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในปีใดแล้ว สิ่งที่ควรเตรียมตัว โดยผู้ประกอบกิจการฮัจญ์หรือบริษัท หรือแซะห์ จะประสานกับท่าน ซึ่งท่านต้องเตรียมความพร้อมการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เอกสาร การเงิน ความพร้อมด้านสุขภาพ ยารักษาโรค เสื้อผ้า หนังสือคู่มือเกี่ยวกับการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ รวมทั้งเข้ารับการอบรมจากผู้ประกอบกิจการฯ เพื่อให้ความรู้ก่อนการเดินทาง เช่น การใช้ชีวิตในซาอุฯ การประกอบพิธีฮัจญ์ การดูแลสุขภาพ และระเบียบข้อปฏิบัติของซาอุฯ 7. ในช่วงเทศกาลฮัจญ์ของทุกปี ทางการโดยคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์ฯ กรมการศาสนาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้แสวงบุญที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์อย่างเต็มที่ เช่น ตรวจสุขภาพ จัดเช่าที่พัก ตรวจเอกสารการเดินทางและการยื่นวีซ่า รวมถึงจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกตามท่าอากาศยานต่างๆ ที่กำหนดไว้ และ 8. การอำนวยความสะดวกให้กับผู้แสวงบุญด้านต่างๆ ในประเทศซาอุฯ โดยมีอะมีรุ้ลฮัจญ์ (หัวหน้าคณะผู้แทนฮัจญ์ทางการ) ได้รับการแต่งตั้งทางการประจำปี 2559 (ปีนี้ นายอรุณ บุญชุม ผู้แทนจุฬาราชมนตรี) เดินทางไปเพื่ออำนวยความสะดวก มีการจัดเจ้าหน้าที่บริการในระหว่างที่ต้องเดินทางระหว่างเมืองมักกะห์และมะดีนะห์ เจ้าหน้าที่ภาคสนามบริการ ทั้งที่ตำบลมีนา ตำบลมุซดะลีฟะห์ ทุ่งอารอฟะห์ เจ้าหน้าที่ออกเยี่ยมเยียนตามอาคารที่พัก ในช่วงระหว่างการประกอบศาสนกิจตลอดทั้งเทศกาลฮัจญ์ อย่างไรก็ดีเมื่อผู้แสวงบุญชาวไทยมุสลิมไม่ได้รับความสะดวกหรือมีปัญหาในเรื่องใด ทางคณะอนุกรรมการกิจการฮัจญ์ฯ และสถานกงสุลใหญ่เมืองเจดดาห์ จะรีบติดต่อประสานงานกับทางการซาอุดีอาระเบีย เพื่อให้การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาโดยล่วงทันที เป็น 8 ข้อรวมๆ ที่ผู้แสวงบุญควรรู้ก่อนและไปประกอบพิธีฮัจญ์ อย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิตของชาวมุสลิม ภาพประกอบ กองส่งเสริมกิจการฮัจญ์ กรมการศาสนา