นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผช.รมต.เกษตร ติดตามมุ่งแก้ปัญหาภัยแล้งให้พื้นที่ขังหวัดพิจิตรประสานขอฝนหลวงเพิ่มความถี่ในการทำฝนหลวง ขณะที่ ผอ.ศูนย์ฝนหลวงแจงปฏิบัติการต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 63 จนถึงวันนี้ขึ้นบินแล้ว 104 เที่ยวบิน แต่มีฝนตกเพียง 36 วัน เหตุเจออุปสรรคพื้นที่พิจิตรไม่มีป่าไม้ในการสร้างความชุ่มชื้น ซึ่งบ่อยครั้งที่ขึ้นบินแล้วต้องคว้าน้ำเหลวเหตุเพราะไม่มีกลุ่มเมฆ เสนอชาวพิจิตรควรเร่งปลูกป่า วันที่ 12 ก.ย. 2563 ความคืบหน้าจากสถานการณ์ภัยแล้งในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตร ที่เกิดจากฝนทิ้งช่วงทำให้เกษตรกรชาวนาและชาวสวนไม้ผลได้รับความเดือดร้อน จึงร้องทุกข์ไปยังนายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอให้ช่วยเหลือประสานขอการทำฝนหลวง ดังนั้นในวันนี้จึงมอบให้ นายวัชรินทร์ แทนจำรัส เลขาส่วนตัวของ นายนราพัฒน์ ผช.รมต.เกษตร ให้ไปประสานกับ นายประสพ พรหมมา ผอ. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง จ.พิษณุโลก สอบถามความคืบหน้าของการทำฝนหลวง เพื่อให้เกิดฝนในพื้นที่จังหวัดพิจิตร นายประสพ พรหมมา ผอ. ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง จ.พิษณุโลก กล่าวว่า รับผิดชอบพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วย พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ แพร่ น่าน ในส่วนของจังหวัดพิจิตรเป็นพื้นที่ที่รับผิดชอบอยู่ด้วย ยอมรับว่าเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา จังหวัดพิจิตรประสบปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ รวมถึงปีนี้ด้วย ส่วนการปฏิบัติการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง ที่มีเครื่องบินทำฝนหลวงเพียง 2 ลำ ได้ขึ้นบินเพื่อทำฝนหลวงให้เขตพื้นที่จังหวัดพิจิตรมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 จนถึงวันนี้ขึ้นบินโปรยสารเคมีทำฝนหลวงไปแล้ว 104 เที่ยวบิน แต่ทำให้มีฝนตกแค่เพียง 36 วันเท่านั้น เหตุเป็นเพราะในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตรไม่มีภูเขา ไม่มีป่าไม้ จะได้เมฆฝนส่วนใหญ่ก็มาจากจังหวัดค้างเคียงที่มีภูเขาและป่าไม้ ดังนั้นเมื่อขึ้นบินโปรยสารเคมีทำฝนหลวงพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ทำแล้วได้ผลดีที่สุดก็คือ อำเภอดงเจริญ และ อำเภอที่อยู่แนวขอบติดกับจังหวัดเพชรบูรณ์ ล่าสุดจากสถานการณ์ภัยแล้งและการร้องขอของเกษตรกรชาวพิจิตร ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่างพิษณุโลก รับทราบปัญหา โดยต่อจากนี้จะเพิ่มความถี่รอบบินทำฝนหลวงให้พื้นที่จังหวัดพิจิตรให้บ่อยครั้งขึ้น แต่ก็ต้องออกตัวก่อนว่าการทำฝนหลวงมีตัวแปร คือ ต้องมีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต้องมีมากกว่า 60% และมีกลุ่มเมฆฝนด้วย จึงจะประสบความสำเร็จ แต่ที่ผ่านมาเจอปัญหาในพื้นที่จังหวัดพิจิตร กลุ่มเมฆฝนมีน้อย รวมถึงความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศก็มีน้อยด้วยเช่นกัน ดังนั้นแนวทางคือต้องช่วยกันอนุรักษ์และสร้างผืนป่าเพื่อสร้างความชุมชื้นในอากาศ ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล และการทำฝนหลวงสามารถทำได้อย่างที่ต้องการอีกด้วย ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานการณ์ฝนในพื้นที่จังหวัดพิจิตร เมื่อคืนวานที่ผ่านมามีฝนตกลงมาอย่างหนักในหลายพื้นที่ ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากการปฏิบัติการทำฝนหลวง รวมถึงมีร่องความกดอากาศต่ำพัดผ่าน จึงทำให้มีฝนตกพอทำให้นาข้าวในหลายพื้นที่รอดพ้นจากวิกฤตต้นข้าวที่ส่อแห้งตายได้อีกด้วย