เมื่อวันที่ 11 ก.ย.63 สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจให้บริการรับและส่งอาหารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์กับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร หรือไกด์ไลน์ ฟู้ด เดลิเวอรี่ นำทีมโดย นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาแนวปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ พร้อมด้วยอนุกรรมการอีก 2 ท่าน ประกอบด้วย 1.ศาสตราจารย์ ดร.ศักดา ธนิตกุล อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นและชี้แจงข้อซักถาม ในรูปแบบโฟกัส กรุ๊ป เกี่ยวกับ ร่างแนวปฏิบัติ ไกด์ไลน์ ฟู้ด เดลิเวอรี่ ดังกล่าว ที่ห้องกมลทิพย์ 1 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาแนวปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจค้าปลีกออนไลน์เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการชุดนี้ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการออกกฎระเบียบต่างๆจำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และสามารถนำไปปฏิบัติได้ จึงนำมาสู่การจัดกิจกรรมการประชุมโฟกัส กรุ๊ป เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างไกด์ไลน์ ฟู้ด เดลิเวอรี่ ในวันนี้ โดยผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มให้บริการรับและส่งอาหารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร และมีคณะอนุกรรมในฐานะเป็นผู้พิจารณาจัดทำไกด์ไลน์ดังกล่าวร่วมรับฟังความคิดเห็นพร้อมตอบประเด็นข้อซักถามต่างๆจากผู้ประกอบธุรกิจทั้งสองฝ่าย เพื่อสร้างความชัดเจนในแนวทางการปฏิบัติทางการค้าที่ถูกต้องเหมาะสม ภายใต้บรรทัดฐานการดำเนินธุรกิจที่มีความเป็นสากล เพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรีและเป็นธรรม สำหรับไกด์ไลน์ธุรกิจให้บริการ ฟู้ด เดลิเวอรี่ มีประเด็นสำคัญที่กำหนดไว้ในไกด์ไลน์ ฟู้ด เดลิเวอรี่มีดังนี้ ประเด็นแรกการเรียกเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้ (GP) และการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายต่างๆอย่างไม่เป็นธรรมเช่น มีการเรียกเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้ในอัตราที่สูงเกินสมควร หรือเก็บเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญา หรือในอัตราที่แตกต่างกันระหว่างร้านอาหารในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติ เป็นต้น ส่วนประเด็นที่สอง การกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการบังคับในลักษณะการจำกัดสิทธิมิให้ไปทำการค้ากับผู้อื่น (Exclusive Dealing) เช่น การจำกัดหรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้อื่นโดยการห้ามจำหน่ายอาหารกับผู้ประกอบธุรกิจให้บริการรับและส่งอาหารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์รายอื่น หากไม่ปฏิบัติตามก็จะมีการเรียกเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้ (GP) ในอัตราที่สูงขึ้น เป็นต้น ขณะที่ประเด็นที่สาม การใช้อำนาจตลาดหรืออำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรมเช่น การแทรกแซง หรือจำกัดอิสระในการกำหนดราคาของผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร การกำหนดเงื่อนไขบังคับด้านราคาที่ต้องจำหน่ายเท่ากันในทุกช่องทาง การประวิงเวลาในการจ่ายค่าสินค้านานเกินสมควร การปฏิเสธที่จะทำการค้ากับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารบางราย และการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขภายใต้สัญญาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นต้น สำหรับประเด็นที่สี่ การใช้พฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมอื่นๆเช่น การที่ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการรับและส่งอาหารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์กระทำการบังคับ หรือกำหนดเงื่อนไขพิเศษ หรือจำกัดหรือกีดกัน การประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจอื่นจนอาจก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งนี้ตามแผนการทำงาน หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว ทั้งจากการรับฟังประชาพิจารณ์ในรูปแบบโฟกัส กรุ๊ป ในวันนี้และจากช่องทางออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2563–15 กันยายน 2563 คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ จะนำความคิดเห็นที่ได้รับทั้งหมดมาพิจารณาปรับปรุงเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนเสนอ กขค.พิจารณาให้ความเห็นชอบ และออกประกาศให้มีผลบังคับใช้ต่อไป คาดว่าจะบังคับใช้ได้ภายในเดือนตุลาคม 2563