การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต้องยอมรับว่ามีปัญหาให้แก้ไขต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ และปัญหาเศรษฐกิจภายนอกประเทศ ที่มาจากปัจจัยหลักของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 รวมถึงปัญหาความไม่มั่นคงของการเมืองไทย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบต่างๆ เพื่อนำไปขับเคลื่อนให้ไม่ต้องหยุดนิ่ง และจากความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ พบว่ามีการขับตัวเลขที่น่าสนใจจากผลการอัดฉีดนโยบายในครั้งนี้ โดย “นายธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการในเดือนนี้ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยปรับตัวดีขึ้นจาก 50.1 ในเดือนก.ค. มาเป็น 51.0 ในเดือนส.ค. อย่างไรก็ดี แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ จากมาตรการผ่อนคลายให้ธุรกิจเปิดดำเนินการได้หลายสถานประกอบการมากขึ้น และมีมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่อง แต่การที่ค่าดัชนีส่วนใหญ่ยังทรงตัวต่ำ ดังนั้นจึงคาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายไปอย่างน้อยจนถึงไตรมาส 4 ของปีนี้ จนกว่าสถานการณ์โควิดจะคลายตัวลง และมีการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจอย่างกว้างขวาง พร้อมกับรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมชัดเจนเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิดและฟื้นความเชื่อมั่นผู้บริโภค นายธนวรรธน์ เชื่อว่า หากไม่มีการระบาดของไวรัสโควิดในรอบ 2 อย่างรุนแรง ก็มั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 2 โดยจากนี้ไปตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ น่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ และแม้จะยังมีประเด็นการชุมนุมทางการเมืองอยู่เป็นระยะ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะสามารถหาทางออกได้ผ่านกลไกของรัฐสภา เช่น กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเชื่อว่าสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองจะไม่มีความรุนแรง "ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มเป็นขาขึ้น ยังไม่เห็นเหตุที่ดัชนีจะปรับตัวลดลง นอกจากจะมีโควิดระบาดรอบสอง ล็อกดาวน์รอบสอง และการชุมนุมทางการเมือง แต่เราก็ยังไม่เห็นถึงจุดนั้น เพราะการชุมนุมเริ่มเข้าสู่การหาทางออกในสภาได้ รวมถึงหากปัจจัยราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรง และสถานการณ์โควิดโลกมีการระบาดหนักที่จะทำให้หลายประเทศกลับมาล็อกดาวน์รอบ 2 ซึ่งทั้งหมด ยังไม่เห็นน้ำหนักที่จะเกิดขึ้น" เช่นเดียวกับทาง “นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล” ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นไตรมาส 4/2563 พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าการค้าและการลงทุนไตรมาส 4 ปีนี้จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ส่งผลให้การนำเข้าส่งออกระหว่างไทยกับจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยการส่งออกของไทยไปจีนช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัว 4.5% หรือคิดเป็นสัดส่วน 12.8% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ทั้งนี้แนะรัฐบาลเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยเฉพาะการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ขณะที่มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศแม้รัฐบาลดำเนินการ แต่มองว่ายังไม่เพียงพอที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ ดังนั้น จำเป็นต้องผลักดันมาตรการผ่อนคลายการเดินทางเข้าไทยในช่วงไตรมาส 4/2563 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการมาพำนักในไทยระยะยาว โดยกำหนดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาไทยต้องมาจากพื้นที่ปลอดภัยจากโควิด โดยอาจจับคู่การท่องเที่ยวในลักษณะเมืองกับเมือง เช่น มณฑลกว่างโจ หรือเมืองอื่นของจีน ที่ไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิน 100 วัน จับคู่กับเมืองท่องเที่ยวของไทย เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ เป็นต้น ขณะที่ระยะเวลาการกักตัว มองว่าหากต้องกักตัวถึง 14 วันนั้นอาจนานไป และไม่ดึงดูดนักท่องเที่ยว จึงมองว่าควรให้กักตัวตามที่การแพทย์ยอมรับได้ และตามความเสี่ยงของเมืองหรือประเทศที่เดินทางเข้ามา รวมทั้งต้องหารือระดับท้องที่เพื่อให้ประชาชนในท้องที่ให้ความยินยอมในการเปิดพื้นที่ และมีการจำกัดบริเวณการเดินทางให้อยู่เฉพาะภายในพื้นที่ นอกจากนี้ แนะสถาบันการเงินออกมาตรการพักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวออกไปอีกอย่างน้อย 1 ปี และรัฐบาลควรปรับแก้กฎหมาย หรือตั้งกองทุน เพื่อเข้าไปดูแลเรื่องสินทรัพย์ที่ถือครองของต่างชาติรวมถึงการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของต่างชาติ ที่ขณะนี้ไม่สามารถเดินทางมาทำธุรกรรมในไทย เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 และติดขัดกฎหมายเรื่องการโอนเงินเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อดูดซัพโอเวอร์ซัพพลายในภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทย โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์แนวสูงที่กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่คือชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน ซึ่งนอกจากจะอำนวยความสะดวกให้ชาวต่างชาติแล้ว ทำให้สถาบันการเงินกล้าปล่อยสินเชื่อ และช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้มีเงินทุนเข้ามาหมุนเวียนในธุรกิจด้วย อีกมุมหนึ่งของธุรกิจที่น่าเป็นห่วงอย่าง “ธุรกิจรากหญ้า” ที่กำลังซื้อหดหาย และต้องการที่จะได้รับแรงกระตุ้นจากภาครัฐอย่างมาก โดย “นายสมชาย พรรัตนเจริญ” นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย เปิดใจว่า สถานการณ์ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งของไทยในไตรมาส 4 ของปีนี้ยังอยู่ในภาวะอ่อนแอค่อนข้างมาก เนื่องจาก ผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อในการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะประชากรฐานราก เพราะปีนี้ ปริมาณพืชผลทางการเกษตรน้อยจากภัยแล้ง ประกอบกับสถานการณ์ โควิด-19ระบาดในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยล็อกดาวน์ ธุรกิจหลาย เซ็กเตอร์ขาดรายได้ รวมถึงร้านค้ารายย่อยที่เคยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ไม่มีรายได้เหมือนเดิม “ได้สำรวจธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ร้านโชห่วยในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าผู้ประกอบการเผชิญ ความเหนื่อยยากอย่างมาก เพราะไม่มีรายได้ อย่างอื่นมาพยุงกิจการนอกจากการพึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทำให้เห็นความอ่อนแอของภาคธุรกิจอย่างมาก ส่วนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐที่ผ่านมา เงินไม่สะพัดและกระจายสู่ร้านค้าฐานราก ไม่นำพาต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ดังนั้นโครงการใหม่ที่จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ จึงเรียกร้องให้ผันสู่ร้านค้าย่อยโดยตรง เช่น ร้านโชห่วย ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านนวดแผนไทย ร้านกาแฟโบราณ เป็นต้น เพื่อให้เงินหมุนเวียนต่อไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ไม่เช่นนั้นร้านค้ารายเล็กอาจเจ๊งได้” แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แม้จะสามารถผลักดันตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการ! แต่ก็ยังมีธุรกิจเล็ก ๆ ที่เป็นธุรกิจของคนรากหญ้า ที่ยังต้องการแรงกระตุ้นจากรัฐบาลเช่นเดียวกัน! เหมือนที่ “รัฐบาลลุงตู่” ประกาศไว้ว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”