นาย จุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม.ร่วมงานประชุมในระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบลประจำปี 2563 โดยรับมอบข้อเสนอจากผู้แทนสภาองค์กรชุมชน เพื่อส่งต่อ ครม.พิจารณาดำเนินตาม พ.ร.บ.สภาฯ พ.ศ.2551 โดยปีนี้มีข้อเสนอแนะและแก้ไขปัญหาหลายด้าน เช่น ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ การแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เสนอทบทวนเมืองอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา การชดเชย-จัดหาที่อยู่อาศัยให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากรถไฟรางคู่ที่ จ.ขอนแก่น ปัญหาโรงงานขยะอุตสากรรมในภาคตะวันออก ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างสภาองค์กรชุมชนกับหน่วยงานต่างๆ 10 หน่วยงาน สภาองค์กรชุมชนจัดตั้งขึ้นตาม ‘พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ มีบทบาทและภารกิจในการส่งเสริมให้ชุมชนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาตำบลในด้านต่างๆ เช่น สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรม เสนอแนะปัญหาและแนวทางแก้ไข หรือความต้องการของประชาชนอันเกี่ยวกับการจัดทําบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ กำหนดให้มีการประชุมสภาฯ ในระดับตำบลอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง และประชุมในระดับชาติอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยในปีนี้สภาองค์กรชุมชนดำเนินการมาครบ 12 ปี มีการจัดตั้งสภาฯ ทั่วประเทศแล้ว 7,794 แห่ง การประชุมสภาฯ โดยในวันนี้ (10 กันยายน) ตั้งแต่เวลา 8.30-14.00 น. มีการจัดประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ประจำปี 2563 ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนทั่วประเทศ หน่วยงานภาคีเครือข่าย และภาคประชาสังคม เข้าร่วมงานประมาณ 450 คน มีนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะรัฐมนตรีรักษาการตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนฯ เดินทางมารับข้อเสนอเชิงนโยบายจากที่ประชุม เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาแก้ไขปัญหาตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 มาตรา 32 (2) และ (3) นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า สภาองค์กรชุมชนตำบล ถือเป็นรากแก้วของประชาธิปไตย เป็นสภาแห่งเดียวที่มาจากเสียงของพี่น้องประชาชนระดับรากหญ้า ปัจจุบันจัดตั้งสภาฯ แล้ว จำนวน 7,794 ตำบล สมาชิก 250,000 คน สิ่งที่สำคัญ คือ สภาองค์กรชุมชนนี้ กำหนดทิศทางของตนเอง โดยไม่ต้องรอนโยบายของกระทรวง พม. โดยขณะนี้มีสภาองค์กรชุมชนที่เข้มแข็ง 24% และยังต้องพัฒนา 76 % ซึ่งจะต้องทำให้ดี นอกจากนั้นต้องไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลังแม้กระทั่งกลุ่มชาติพันธุ์ นายจุติ  ไกรฤกษ์  รมว.พม. นายวิรัตน์ พรมสอน ประธานที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล กล่าวว่า นอกจากสภาองค์กรชุมชนตำบลแต่ละแห่งจะมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นต่างๆ แล้ว พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 มาตรา 32 ยังระบุว่า “ให้ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลดำเนินการเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้ (1) กําหนดมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งและการพัฒนาสภาองค์กรชุมชนในระดับตําบลให้เกิดความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ เพื่อเสนอให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ (2) ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกําหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและกฎหมาย รวมทั้งการจัดทําบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลต่อพื้นที่มากกว่าหนึ่งจังหวัด ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม (3) สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ” วิรัตน์  พรมสอน  ประธานที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล โดยในปีนี้มีข้อเสนอเชิงนโยบายจากที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลฯ ตามมาตรา 32 (2) “ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และกฎหมาย รวมทั้งจัดการบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลต่อพื้นที่มากกว่าหนึ่งจังหวัด ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม” โดยมีข้อเสนอประเด็นนโยบายจากที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ประจำปี 2563 เช่นการส่งเสริมฟื้นฟูอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษ ให้รัฐบาล คณะรัฐมนตรี สนับสนุน พ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ…. เพื่อให้ร่างกฎหมายนี้มีความสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการชุมชนและกลุ่มชาติพันธุ์ได้มีส่วนร่วมและมีประสิทธิภาพ ฯลฯ สนับสนุนการจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เช่น ให้กระทรวงทรัพยากรฯ เป็นเจ้าภาพหลักในการสนับสนุนการจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควันร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม สำนักงานกองทุนสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ ผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ข้อเสนอตามมาตรา 32 (3) “สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ประสบและข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไข เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ” โดยมีข้อเสนอจากที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ประจำปี พ.ศ. 2563 เช่น จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต เช่น ให้รัฐบาลทบทวนโครงการนี้ โดยต้องยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 และมติเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 เพราะปัจจุบันจังหวัดสงขลามีนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้วถึง 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ (ฉลุง) และเขตเศรษฐกิจพิเศษสะเดา ซึ่งรัฐบาลควรจะต้องสร้างมาตรการส่งเสริมสนับสนุนและเชิญชวนให้ภาคเอกชนได้เข้าไปใช้ประโยชน์พื้นที่ทั้งสองแห่งให้เต็มพื้นที่เสียก่อน หากรัฐบาลจะเดินหน้าเพื่อพัฒนาอำเภอจะนะต่อไป ต้องมีการศึกษาการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) และการศึกษา EHIA ตามมาตรา 58 เพื่อเป็นข้อมูลนำมากำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เขตพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา 2.1 ขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทยจัดกลไกการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมในกรณีการโยกย้ายและการชดเชยทรัพย์สินสำหรับผู้ได้รับผลกระทบที่อาศัยในเขตแนวเส้นทาง รถไฟ และเวนคืนที่ดินช่วงที่เบี่ยงนอกเขตทางรถไฟ ควรชดเชยในราคาตลาด โปร่งใส เป็นธรรมจัด และหาที่อยู่อาศัยใหม่ที่เหมาะสม และมีมาตรการในการกำกับ ติดตามความเป็นอยู่ของผู้ถูกอพยพและเยียวยาในส่วนต่าง ๆ ผลกระทบจากโรงงานประกอบกิจการขยะ 5 จังหวัด ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว เช่น รัฐบาลต้องมีนโยบายให้มีผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยีกำจัดขยะพิษเข้ามามากขึ้น การแก้ปัญหาการจัดการขยะพิษ และการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ต้องดำเนินการพร้อมการสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีเทคโนโลยีและความพร้อมในการจัดการกากอุตสาหกรรมมากขึ้น ขอให้รัฐบาลมีนโยบายห้ามนำเข้าขยะทุกประเภทจากต่างประเทศโดยถาวร ฯลฯ การลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างสภาองค์กรชุมชนกับหน่วยงานต่างๆ นอกจากการประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลประจำปี 2563 ดังกล่าวแล้ว ในวันนี้ (10 กันยายน) ยังมีการบันทึกการลงนามความร่วมมือระหว่างสภาองค์กรชุมชนกับหน่วยงานต่างๆ รวม 10 หน่วยงาน เนื่องจากสภาองค์กรชุมชนฯมีการจัดตั้งเกือบเต็มพื้นที่ประเทศ (ปัจจุบันจัดตั้งแล้ว 7,794 แห่ง) ทำให้สามารถขับเคลื่อนงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่ลงนามได้กว้างขวาง เช่น การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. ในการนำร่องนโยบายพืชกระท่อมเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และการสร้างเศรษฐกิจชุมชน การลงนามร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. เพื่อให้สภาองค์กรชุมชนที่มีการจัดตั้งทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริต สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อสำรวจข้อมูลนำมาจัดทำดัชนีเศรษฐกิจการค้าฐานราก สภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อจัดทำแผนงานพัฒนาเกษตรกรรมสู่แผนพัฒนาชุมชน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ เพื่อขับเคลื่อนเรื่องเครือข่ายป่าภาคพลเมือง