โรงเรียนบ้านบึงกระโดน (ศิริสิงห์อุปถัมภ์) เป็นโรงเรียนเล็กๆ ตั้งอยู่ที่ ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง จ. ชลบุรี เปิดการเรียนการสอนชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันมีจำนวนนักเรียน 60 คน เป็นเด็กนักเรียนไทย 30 คน และเด็กต่างด้าว 30 คน ประกอบด้วย​ เด็กพม่า 20 คน และเด็กกัมพูชา 10 คน ผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่ฐานะยากจน หาเช้ากินค่ำ จากอาชีพรับจ้างทำไร่อ้อย ตัดอ้อย รับจ้างแยกขยะ และหาของเก่าเพื่อนำไปขายต่อ ด้วยฐานะและสภาพความเป็นอยู่ทำให้เด็กหลายครอบครัวขาดโอกาสในการเข้าถึงอาหารที่มีโภชนาการที่ดี โรงเรียนจึงเป็นแหล่งที่จะส่งเสริมให้เด็กๆ ได้บริโภคอาหารคุณภาพอย่างเพียงพอ ซึ่งโรงเรียนบ้านบึงกระโดน ฯ ได้รับการสนับสนุนจากโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำบ้านบึง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน ) หรือ ซีพีเอฟ ให้เข้าร่วม “โครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” ตั้งแต่ปี 2558 เริ่มต้นจากกกิจกรรมปลูกผักปลอดสาร เช่น ผักคะน้า ผักบุ้ง กวางตุ้ง ตะไคร้ พริก มะเขือ ซึ่งที่ผ่านมา ผลผลิตจากแปลงผักสวนครัวของโรงเรียน นำส่งเข้าโครงการอาหารกลางวันและจำหน่ายให้ชุมชนปีนี้ โรงเรียนต่อยอดกิจกรรมในโครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต ทำโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวัน ทำให้นักเรียนมีแหล่งอาหารโปรตีนคุณภาพดีจากไข่ไก่ไว้รับประทาน บรรเทาภาวะทุพโภชนาการในเด็ก ยกระดับความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ ส่งเสริมอาชีพและทักษะให้นักเรียน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนรู้ของโรงเรียน เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารในโรงเรียน และยังสามารถถ่ายทอดความรู้ไปสู่ชุมชนได้ คุณครูอภิสรา แซ่เตียว ผู้อำนวยการโรงเรียน เล่าว่า การสร้างความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก โรงเรียนเข้าร่วมโครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ด้านการเกษตร เช่น การปลูกผักสวนครัว และการเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวัน ก็เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารอีกรูปแบบหนึ่ง ทำให้นักเรียนมีแหล่งอาหารโปรตีนคุณภาพดีจากไข่ไก่ไว้รับประทาน และยังเป็นกิจกรรมที่สอดรับกับกิจกรรมการเรียนรู้ของโรงเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวด้วยว่า โรงเรียนฯเป็นสถานศึกษาแบบอย่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของกระทรวงศึกษาธิการ และจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการในกิจกรรมชุมนุมของโรงเรียนในชั่วโมงสุดท้ายของวันพุธของทุกสัปดาห์ โดยจัดกิจกรรมเชิงนวัตกรรม“หนึ่งห้องเรียนหนึ่งโครงการอาชีพ : ONE CLASS ONE PROJECT” โดยชั้น ป. 1 ทำโครงงานแปรรูปจากกล้วย เป็นผลผลิตจากต้นกล้วยที่ปลูกในรั้วโรงเรียน ชั้น ป.2 และ ป.3 จัดทำโครงการปลูกผักสวนครัว​ ผลผลิตจำหน่ายให้โครงการอาหารกลางวันและชุมชน ชั้นป.4 ทำโครงงานทำไข่เค็ม ชั้น ป.5 จัดทำโครงการทำน้ำสมุนไพร และชั้น ป.6. จัดทำโครงงาน งานประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ เช่น กล่องนม ถุงนม ผลสัมฤทธิ์จากการส่งเสริมเด็กๆ เข้าถึงอาหารและโภชนาการที่ดี ช่วยบรรเทาปัญหาทุพโภชนาการในเด็ก จากข้อมูล ปี 2562 พบว่าจำนวนนักเรียน 83 % ไม่มีภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งดีขึ้นกว่าปี 2561 ที่มีจำนวนของนักเรียนที่ไม่มีภาวะทุพโภชนาการอยู่ที่ประมาณ 75 % ด.ญ.วรัญญา ทองจันทร์ หรือน้องบุ๋มบิ๋ม อายุ 11 ปี เรียนอยู่ชั้น ป. 5 และเป็นรองประธานนักเรียน ตื่นเต้นดีใจกับโรงเรือนเลี้ยงไก่ของโรงเรียนและแม่พันธุ์ไก่ไข่ 30 ตัว ที่โรงเรียนเริ่มทดลองเลี้ยงเป็นครั้งแรก บุ๋มบิ๋ม เล่าว่า ตั้งแต่โรงเรียนได้สนับสนุนแม่พันธุ์ไก่ ไข่มาได้ 1 สัปดาห์ เธอเข้ามาช่วยดูแลให้อาหารไก่ ดูแลเรื่องน้ำ และเก็บไข่ มีพี่ๆ จากซีพีเอฟมาให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงไก่ไข่ การสังเกตไก่ป่วย การเก็บไข่ จากวันแรกที่เก็บผลผลิตไข่ไก่ได้ 3 ฟอง เพิ่มมาเป็น 7 ฟอง และเช้าวันนี้ เธอรู้สึกดีใจที่เก็บไข่ไก่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 12 ฟอง ผลผลิตไข่ไก่ที่เก็บได้ส่งขายเข้าโครงการอาหารกลางวัน บุ๋มบิ๋ม เล่าต่อว่า การที่โรงเรียนปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเอง และเลี้่ยงไก่ไข่ ทำให้นักเรียนได้บริโภคผักที่สะอาด ปลอดสารพิษ และมีผลผลิตไข่ไก่ไว้ทำเป็นอาหารกลางวัน นอกจากนี้ นักเรียนสามารถนำความรู้จากการเลี้ยงไก่ไปเป็นอาชีพได้เมื่อโตขึ้น ด้าน ด.ญ.นัฐลดา ยืนหยัดชัย หรือน้องออม อายุ 8 ปี นักเรียนชั้น ป.3 เล่าว่า เธอมีหน้าที่ช่วยรดน้ำในกิจกรรมปลูกผักสวนครัวทุกวันพุธก่อนเลิกเรียน ที่แปลงผักของโรงเรียน จะมีทั้งผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า ผักกาดขาว พริก ตะไคร้ มะเขือ ซึ่งโรงเรียนจะนำผักที่ปลูกไปทำอาหารกลางวันให้นักเรียน เมนูที่น้องออมชื่นชอบ ก็คือ แกงเขียวหวานใส่มะเขือที่โรงเรียนปลูก และ ที่บ้านของออมยังเคยซื้อผักกวางตุ้งของโรงเรียนไปทำกับข้าว ออมบอกว่า ดีใจที่วันนี้ โรงเรียนมีโครงการเลี้ยงไก่ด้วย เด็กๆจะได้มีไข่ไก่ไว้กิน ซึ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยบำรุงสมอง "ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต" มุ่งมั่นร่วมส่งเสริมเด็กและเยาวชนบริโภคอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน สร้างความมั่นคงทางอาหารในโรงเรียน เพื่อให้เด็กๆ ในโรงเรียนทั้งในเขตเมืองและในพื้นที่ห่างไกลมีโอกาสเท่าเทียมในการเข้าถึงอาหาร เติบโตอย่างสมวัยทั้งทางร่างกาย และสติปัญญา