จากถานการณ์โควิด-19ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในทุกภาคส่วน ดังนั้นทางรัฐบาลจึงได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน สร้างการจ้างงาน และกระจายรายได้ไปทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในธุรกิจไมซ์ ที่มีสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บรับไม้ต่อ ขณะที่ในส่วนของผู้ประกอบการรายใหญ่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่างงัดกลยุทธ์ทุกรูปแบบ เพื่อผลักดัน และส่งเสริมให้เกิดการจัดงานประชุมและนิทรรศการในประเทศ หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน ผลักดันและส่งเสริมให้เกิดงานไมซ์ ทั้งนี้ นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ กล่าวว่า เวลานี้คงต้องเร่งผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการจัดงานประชุมและนิทรรศการในประเทศตามนโยบายของภาครัฐ สำหรับงบอัดฉีดประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อให้เกิดงาน และการเดินทางมาประชุม สัมมนา รวมถึงจัดการแสดงสินค้าทั่วประเทศด้วยการเปิดตัวแพ็กเกจพิเศษ เพื่อสนับสนุนการจัดงานไมซ์ทั้งในและต่างประเทศอาทิ แพ็กเกจประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า สำหรับการจัดประชุมและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลในประเทศ,แพ็กเกจประชุมเมืองไทย ร่วมใจขับเคลื่อนชาติ สำหรับการจัดประชุมภายในประเทศ แพ็กเกจงานแสดงสินค้าในประเทศ นำเศรษฐกิจไทยไปไกลกว่า สำหรับการจัดงานแสดงสินค้าภายในประเทศ เป็นต้น จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา โดยสนับสนุนงบประมาณ 30,000 บาทต่อกรุ๊ป (30 คน) จำนวน 500 กรุ๊ปและสนับสนุนห้องประชุม (สำหรับโรงแรม) จำนวน 15,000 บาท สำหรับจัดประชุม 1 วัน (30 คนขึ้นไป) และสนับสนุนงบประมาณ 50,000-120,000 บาทสำหรับการจัดงานประชุม และสนับสนุนงบประมาณตั้งแต่ 8 แสน-1 ล้านบาท สำหรับการจัดงานเอ็กซิบิชั่นและมีการเจรจาธุรกิจแบบ B2B นอกจากนี้ยังมีแพ็กเกจสำหรับตลาดต่างประเทศใน 4 กลุ่มตลาด ประกอบด้วยแพ็กเกจ Ease Up สำหรับการจัดประชุมและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลนานาชาติ (meetings & incentives) แพ็กเกจ Convene Plus สำหรับการจัดประชุมนานาชาติ (conventions) แพ็กเกจ Reenergizing สำหรับการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ เป็นต้น อีกทั้งในเวลานี้ ทาง ทีเส็บ ได้กำลังรอดูการพิจารณาหลักเกณฑ์ของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( ศบค.) ว่า จะอนุญาตให้นักเดินทางกลุ่มไมซ์ชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาจัดประชุม สัมมนา รวมถึงงานแสดงสินค้าเข้ามาโดยไม่มีการกักตัว 14 วันตามที่ได้นำเสนอไปแล้วหรือไม่ หากสามารถปลดล็อกตรงนี้ได้น่าจะช่วยทำให้นักเดินทางกลุ่มไมซ์ตัดสินใจเดินทางได้ง่ายขึ้น ธุรกิจไมซ์มีส่วนผลักดันค่าจีดีพี ด้าน นายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็น.ซี.ซี. เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด (นีโอ) กล่าวว่า ในส่วนของผู้ประกอบการศูนย์ประชุม คงต้องหากลยุทธ์มาผลักดันงานที่เคยจัด แต่ต้องเลื่อนออกไปจัดในช่วงสิ้นปีนี้ หรือขยับออกไปเป็นช่วงปี 2564 อย่าง งานสถาปนิก’64 งานแสดงสินค้า และเทคโนโลยีด้านวัสดุก่อสร้าง การออกแบบ และตกแต่งภายในที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนครั้งที่ 34 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 27 เมษายน- วันที่ 2 พฤษภาคม 2564 ที่ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี น่าจะสร้างรายได้ถึง 2 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่สร้างได้ไว้ประมาณ 1,500 ล้านบาท มีผู้ที่สนใจเข้าร่วม 700 บริษัท ในพื้นที่กว่า 6 หมื่นตารางเมตร โดยมีกลุ่มเทรดเดอร์ หรือกลุ่มผู้ประกอบการที่สำคัญ ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าในแถบประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) อย่าง ปูนซีเมนต์ ทีโอเอ เป็นต้น ศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล “ เพราะฉะนั้นผู้ซื้อที่อยู่ในเครือข่ายดังกล่าวจึงสนใจงานนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีงานดีไซน์ และคอนเซ็ปต์ไอเดียต่างๆ ของไทย ซึ่งเกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านยังขาดแคลน โดยเฉพาะงานด้านเทคโนโลยีที่นำมาใช้กับอาคาร และบ้านหลังสถานการณ์โควิด-19 เป็นเรื่องที่น่าสนใจกับกลุ่มลูกค้าในแถบนี้เป็นอย่างมากซึ่งทั้งหมดนี้เมืองไทยเป็นผู้ผลิต ดังนั้นเมื่อลูกค้ามีการสั่งซื้อภายในงานขึ้น ก็จะช่วยผลักดันค่าจีดีพีในประเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย” นายศักดิ์ชัย กล่าว รูปแบบงานไมซ์จะเปลี่ยนไป พร้อมกันนี้ นายศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ในอนาคตรูปแบบธุรกิจด้านไมซ์จะต้องเปลี่ยนไป โดยมีเรื่องของนวัตรกรรม และเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สัมพันธ์กันมาเป็นส่วนช่วยสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจไมซ์ให้เติบโตขึ้น จากเดิมที่ต้องลงทะเบียน เพื่อเดินทางมาร่วมภายในงานเท่านั้น ก็จะมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมแบบผ่านระบบออนไลน์ก็สามารถเข้าไปลงทะเบียน โดยเสียค่าใช้จ่ายไม่มากนัก ก็ได้ร่วมงานประชุมและนิทรรศการได้อย่างสะดวกสบาย “การทำงานต่อจากนี้ไป คงจะต้องเตรียมในเรื่องของการทำออนไลน์ ทั้งก่อน และหลังงาน รวมทั้งมีพรีออเดอร์ในส่วนของการนำเนื้อเรื่องไปลงออนไลน์ และหลังจากเสร็จงานก็จะมีการนำข้อมูลทั้งหมดไปลงระบบออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้าที่สนใจได้เข้าไปดูอีกครั้ง เรียกกันว่า อินไดเร็คทอรี่” นายศักดิ์ชัย กล่าว ดังนั้น นายศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า เวลานี้การจัดประชุม และนิทรรศการการที่ต้องมาเจอกันยังเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งมีการทำวิจัยกับสมาคมฯ ทั่วโลก การเจอหน้ากันมีความจำเป็นถึง 70% แต่ในที่สุดและ ก็จะต้องมี โอทูโอ คือ ระบบออฟไลน์สู่ออนไลน์ที่มีส่วนช่วยถึง 30% มาสริมให้งานนั้นๆ มีความน่าสนใจ และดึงดูดให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมได้หลายช่องทาง และแต่ความเหมาะสมของแต่ละองค์กร