"ฝ่ายค้าน" ไล่ถล่มยับ! ศึกซักฟอกรัฐบาลโดยไม่ลงมติ "อนุดิษฐ์" เปิดหัวชู 3 นิ้วกลางสภา จี้"นายกฯ" ลาออก เปิดทางแก้ปัญหาประ เทศ "วันนอร์"อภิปรายทิ้งทวน ยันประเทศวิกฤติไม่ได้เกิดจากโควิด-19ระบาด แต่เกิด จากผู้นำชื่อ "ประยุทธ์" ยก"เปรม-จิ๋ว"บี้"นายกฯ"หาทางลงก่อน19ก.ย. ส่วน"โจ้"แฉอีกมีนายทหารชักใยซื้อเรือดำน้ำ "บิ๊กตู่"แจงจำเป็นต้องกู้เงินแก้โควิด-19 ยันรบ.มีการตรวจสอบตั้งแต่ยุค คสช. ขอปชช.อย่ารังเกียจทหาร ยันไม่เคยมีปัญหากับม็อบนักศึกษา ขณะที่ มา ตรา 272ส่อแท้ง "จุรินทร์" กดดัน"กบฎปชป." 5 ส.ส.ถอนชื่อหนุนร่างแก้รธน. "บิ๊กแดง"งดตอบคำถามหลังลือ "รัฐประหาร" จับตาประชุมนขต.ทบ.วาระพิเศษศุกร์นี้ ระดมผู้พัน-ผู้การทั่วประเทศสั่งงานทิ้งทวนก่อนเกษียณ "นายกฯ" จ่อทูลเกล้าฯรายชื่อโผทหาร ที่รัฐสภา เมื่อ10.00น. วันที่ 9 ก.ย.63 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในการประชุมพิจารณาญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เพื่อซักถาม และเสนอแนะ เกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจ โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหมเข้าร่วมตอบข้อซักถาม โดย น.อ.เอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวอภิปรายเปิดหลักการ และเหตุผลการอภิปราย เนื่องจากสถานการณ์น่าเป็นห่วงหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวอย่างรุนแรง รวมทั้งก่อหนี้เงินกู้ ขาดดุลงบประมาณสูงขึ้น และกู้เงินเพื่อใช้ในการเยียวยาแก้ปัญหา คาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะปี 64 จะสูงถึงร้อยละ 58 นอกจากนี้ยังเกิดสถานการณ์ทางการเมืองขึ้นมาแทรกซ้อน จากความไม่ชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจ และจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เป็นไปเพื่อการสืบทอดอำนาจ จึงเกิดการชุมนุมของนิสิต นักศึกษาและประชาชน ออกมาขับไล่มากที่สุด ในประวัติศาสตร์ และขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติความรุนแรง การคุกคาม การออกหมายเรียก และยุติรัฐธรรมนูญเผด็จการ กลับสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. คืนอำนาจให้ประชาชน รวมทั้งขอให้ยกเลิกหมายจับเยาวชนทั่วประเทศ น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวอีกว่า การบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลว โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษี ที่คาดการณ์ว่า จะต่ำกว่าเป้าหมายถึง 3 แสนล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเกิดจากฝีมือของพล.อ.ประยุทธ์และพวก ดึงประเทศให้จมลงในหนี้สินกองมหึมา ส่งผลกระทบให้หนี้สาธารณะอาจสูงเกินกว่าร้อยละ 60 ของจีดีพี เกินกว่าเพดานหนี้สาธารณะ จึงมีข้อเสนอถ้าพล.อ.ประยุทธ์อยากจะช่วยเหลือคนไทยจริงๆ ทำง่ายนิดเดียว คือขอให้ลาออกไป ต่อมา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ได้ลุกขึ้นอภิปรายเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. ว่า รัฐบาลล้มเหลวในการบริหารงานเศรษฐกิจมา 5-6 ปี โดยอ้างสถานการณ์โควิด-19 แต่เกิดจากผู้นำที่ชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จึงขอแนะนำให้เห็นแก่บ้านเมือง เห็นแก่ประชาชน วันนี้หมดเวลาของท่านแล้ว ขอให้ลงจากอำนาจอย่างสง่างาม โดยขอยกตัวอย่างกรณี 2 พล.อ.คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีต ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ ที่รู้จักพอ เมื่อลงจากอำนาจก็อยู่ในสังคมไทยอย่างปกติสุข ซึ่งยังมีเวลาตัดสินใจก่อนถึงวันที่ 19 ก.ย. ที่คนส่วนใหญ่จะพูดว่า หมดเวลาแล้ว ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวชี้แจงโดยยอมรับว่าการจะทำให้ทุกคนพอใจเป็นเรื่องยาก แต่ไม่เกินความพยายาม หากพวกเราช่วยกัน ขอย้ำว่ารัฐบาลมีความห่วงใยในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสถานการณ์อื่นๆ โดยจะพยายามทำหน้าที่อย่างเต็มที่ แม้จะมีอุปสรรคอยู่บ้างก็ตาม และการกู้เงินต่างๆ หากจำเป็นต้องกู้ ก็ต้องกู้ หากไม่มีเหตุการณ์ก็คงไม่กู้ ส่วนที่มีการอ้างว่ารัฐบาลไม่เคยถูกตรวจสอบมาตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ก็เป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะเรื่องต่างๆ ก็ยังทำงานอยู่ มีการตรวจสอบ มีการชี้แจงการทักท้วง สำหรับการแก้ปัญหาโควิด-19 อยู่ในระดับน่าพอใจของโลก และต้องร่วมมือกันให้มากยิ่งขึ้น ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจคงจะชี้แจงและขอยืนยันว่า เคารพในกระบวนการรัฐสภามาโดยตลอด จะทำทุกอย่างให้เกิดความชอบธรรมโปร่งใสให้มากที่สุด ปัญหาหลายปัญหาที่จะพูดในช่วงบ่ายวันนี้ ก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นยาวนานมาแล้ว ซึ่งรัฐบาลที่เข้ามาก็มีการเตรียมแก้ปัญหามาหลายปีแล้วเหมือนกัน เพราะก่อนหน้านี้ปัญหาหลายปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ยืนยันว่าจะรับผิดชอบแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี "อย่ารังเกียจทหารมากนัก เพราะคือลูกหลานทั้งนั้น และขออย่าแยกทหารออกจากประชาชน ทหารไทยไม่ได้มีแค่ปฏิวัติ แต่ทุกวันนี้ทหารทำงานเพื่อประชาชน ทั้งการป้องกันประเทศ การป้องกันภัยพิบัติ การป้องกันโควิด-19 ขอให้ทุกคนร่วมมือกัน อย่าสร้างความเกลียดชังต่อไปเลยพร้อมย้ำว่าจะทำการปฏิรูปให้สำเร็จ ไม่ได้มีปัญหากับนักเรียน นักศึกษา มีแต่คนทำให้นักเรียน นักศึกษามีปัญหากับตนเอง" ขณะที่ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวอภิปรายถึงการจัดซื้อเรือดำน้ำของ กองทัพเรือ พร้อมเปิดโปงว่า มีนายทหารบางส่วน เกี่ยวข้องกับการทุจริต ซึ่งทำให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลหลายรายลุกขึ้นประท้วงเป็นระยะ นอกจากนี้ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ได้ลุกขึ้นอภิปรายชี้เเจงทันที โดยยืนยันว่าเป็น การจัดหายุทโธปกรณ์แบบรัฐต่อรัฐและผ่านการพิจารณาด้านกฎหมายทั้งกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด คณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงบประมาณ ขณะเดียวกัน รายงานข่าวจากรัฐสภาแจ้งว่า หลัง 16 ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่วมลงชื่อยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ร่วมกับอีก 12 พรรคการเมืองต่อประธานสภาไปแล้วเมื่อวานนี้ ปรากฏว่ามีแรงกดดันอย่างหนักจากทั้ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และนายชวนให้ส.ส.ถอนชื่อจากการยื่นญัตติครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่าพรรคเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ต้องเดินไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาล ซึ่งมีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ไปแล้ว ล่าสุดมีส.ส.อย่างน้อย 5 คน ตัดสินใจที่จะถอนชื่อจากการยื่นญัตติครั้งนี้แล้ว ประกอบด้วย นายสาคร เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ ,น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม ,นางกันตวรรณ ตันเถียร ส.ส.พังงา ,นายธีรภัทร พริ้งศุลกะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ,น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.ตรัง ซึ่งจะทำให้ญัตติดังกล่าว มีรายชื่อส.ส.สนับสนุนไม่ครบ ไม่สามารถนำเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาฯได้ ด้าน นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงกรณี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ถอนชื่อออกจากญัติการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ว่า เท่าที่ทราบ มีแรงกดดันทางรัฐบาล ทำให้ส.ส.หลายคนที่ร่วมลงชื่อขอถอดชื่อออก จึงเชื่อว่ามีแนวโน้มจะทำให้รายชื่อไม่ครบตามเงื่อนไขของกฎหมาย ซึ่งหากไม่หารายชื่อมาเพิ่ม ยอมรับน่าเสียใจว่าญัตติไม่สามารถยื่นได้ อย่างไรก็ตามยอมรับว่าหากญัตติดังกล่าวตกไป ก็ยินดีกับพรรคเพื่อไทยที่แถลงว่าจะยื่นญัตติแก้ไขเพิ่มเติมอีกหลายประเด็น โดยมีเรื่องการปิดสวิตซ์ ส.ว.ยกเลิก มาตรา 272 และยกเลิกมาตรา 270-271 สำหรับการแก้มาตรา 272 โดยยังหวังว่าจะยื่นเพื่อให้ประธานรัฐสภาบรรจุการประชุมทันสมัยประชุมนี้ และยินดีร่วมลงชื่อการเสนอมาตรา 270-201 และยินดีร่วมลงชื่อในญัตติยกเลิกมาตรา 279 ขณะที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. กล่าวถึงกระแสข่าวลือรัฐประหาร ว่า ขอให้ย้อนฟังคำพูด นายกฯที่บอกว่าให้กลับบ้าน ซึ่งนายกฯ เป็นรมว.กลาโหมด้วย และสื่อเป็นคนถามนายกฯเอง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองของ พล.อ.อภิรัชต์คือการประชุมหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.) วาระพิเศษ ระดับผู้บังคับกองพัน และผู้บังคับการขึ้นไปทั่วประเทศในวันที่ 11 ก.ย. ซึ่งการประชุมดังกล่าวถือเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของพล.อ.อภิรัชต์ ก่อนเกษียณอายุราชการ ซึ่งคาดว่าจะมีการสั่งการเรื่องการทำงานเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของกำลังพลในช่วงที่มีสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงการใช้โซเชียลมีเดียที่ฝ่ายตรงข้ามจ้องโจมตี มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงนามในบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารประจำปี ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในสัปดาห์นี้ โดยในส่วนกองทัพบก ยังเป็นชื่อ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ หรือบิ๊กบี้ ผช.ผบ.ทบ. เป็นผบ.ทบ. ,พล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ เสนาธิการทหารบก เป็นรอง ผบ.ทบ. ,พล.ท.พรศักดิ์ พูนสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นผู้ช่วยผบ.ทบ. ,พล.ท.ธรรมนูญ วิถี แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. ,พล.ท.วรเกียรติ รัตนานนท์ รองเสนาธิการทหารบก เป็นเสนาธิการทหารบก ,พล.ท.เจริญชัย หินเธาว์ แม่ทัพน้อยที่ 1 ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1ขณะที่ รองแม่ทัพภาคที่ 1 ขยับออกไปทั้งหมด ไล่ตั้งแต่ พล.ต.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง ขึ้นเป็นแม่ทัพน้อยที่ 1 ,พล.ต.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ขยับขึ้นพลโทในตำแหน่ง รองเสนาธิการทหารบก เพื่อจ่อเป็นแคนดิเดตชิง ผบ.ทบ.ในอนาคต