ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. กล่าวว่า ก่อนจะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 คนไทยนิยมมีกิจกรรมทางกาย 74.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงมากเมื่อเทียบกับ 5-6 ปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 50-60 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อโควิดระบาด ทำให้มีข้อจำกัดมากขึ้น คนไทยขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวน้อยลงเหลือเพียง 55 เปอร์เซ็นต์ ถ้าสถานการณ์เป็นแบบนี้ต่อไป อาจทำให้คนไทยสุขภาพไม่ดีในระยะยาว เสี่ยงเป็นโรค NCDs เพิ่มขึ้น สำหรับคำว่า กิจกรรมทางกาย หรือ Physical Activity นั้น ครอบคลุมถึงการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา รวมถึงการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้มีกิจกรรมทางกายที่เพียงพออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นภายใต้เงื่อนไขที่จะต้อง new normal ต้องมาดูว่าคนในสังคมจะหันมามีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอได้อย่างไร ภารกิจของสสส.เกี่ยวกับเรื่องนี้ คือสนับสนุนให้เกิดทั้งองค์ความรู้ ความมั่นใจ วางระบบการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้รัดกุมเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างมาตรฐาน สร้างความดึงดูดใจ ความพร้อมต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะเอื้อให้คนหันกลับเข้ามาในระบบ ที่สำคัญชุมชนควรมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้วย เช่น การจัดให้มีงานวิ่งเกิดขึ้นหรือร่วมกันสร้างพื้นที่ออกกำลังกาย ก็จะทำให้คนเห็นความสำคัญ ซึ่งไม่จำเป็นต้องวิ่ง อาจจะเป็นการเดินเร็วๆ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ รวมถึงการขึ้นบันไดหรือกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ก็ถือว่าเป็นการทำให้ร่างกายมีกิจกรรมทางกายได้เหมือนกัน “ขณะนี้สสส.ได้จัดทำเป็นคู่มือไว้ให้แล้ว และคงต้องเฝ้าติดตามว่างานไหนจะจัดบ้าง จัดด้วยมาตรฐานไหน ซึ่งเราต้องช่วยกันตรวจสอบและให้คำแนะนำ ภายใต้ความระมัดระวังด้านสุขภาพ พร้อมๆ กับการเคารพกฎกติกา คือสิ่งที่สสส.จะต้องเน้นย้ำเป็นพิเศษ” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ยังกล่าวด้วยว่า การออกกำลังกายยังนำไปสู่การตระหนักรู้เรื่องสุขภาพ ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้สุขภาพดี เช่นนอกจากออกกำลังเป็นประจำแล้ว ยังต้องรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ต่อไปก็จะคำนึงถึงพฤติกรรมของตัวเอง เช่น ไม่สูบบุหรี่ ไม่กินเหล้า และให้ความสำคัญกับอารมณ์ ฉะนั้นปัจจัยที่จะเอื้อให้เกิดสิ่งเหล่านี้ มีตั้งแต่นโยบายของภาครัฐที่จะช่วยหนุนเสริม ชุมชนเองก็สามมารถสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการออกกำลังกายและสร้างแหล่งอาหารดีๆ ที่เป็นประโยชน์ได้ ที่สำคัญตัวเรามีศักยภาพพอไหมที่จะรู้ว่าทำอย่างไรบ้างให้มีสุขภาพดี แล้วพาตัวเองให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายตัวเองและสังคม ++++++++++++++