เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 63 ที่ทำเนียบรัฐบา​ล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลัง​การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)​ ว่า สำหรับการต่างประเทศ​ และการส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศ ในวันที่ 9-12 ก.ย. จะมีการประชุมในระดับภูมิภาคอาเซียน และประเทศระดับคู่ภาคี รวมถึงการประชุมระดับอนุภูมิภาคคือประเทศในระดับลุ่มแม่น้ำโขง กับประเทศคู่ภาคี โดยวาระแรกเริ่มด้วย เป็นการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ผ่านการประชุมในรูปแบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จะเป็นการลงนามร่วมกันในเอกสาร 17 ฉบับ โดยเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศคู่ภาคี แบ่งเป็น อาเซียน กับรัสเซีย, อาเซียนกับจีน, อาเซียน กับเกาหลีใต้, อาเซียนกับนิวซีแลนด์, อาเซียนกับแคนนาดา, อาเซียนกับอินเดีย และอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา โดยจะเป็นการลงนามความร่วมมือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์​ ซึ่งจะเน้นในเรื่องเศรษฐกิจ​เป็นหลัก น.ส.รัชดา กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการลงนามร่วมกันระหว่างอาเซียน และสหประชาชาติ โดยเป็นการลงนามแบบครอบคลุมในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคม สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการลงนามที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และความมั่นคง ระหว่างอาเซียน กับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ว่าด้วยการปฏิบัติต่อเด็กที่ถูกเกณฑ์ และเชื่อมโยงกับผู้ก่อการร้าย และกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง ส่วนอีกฉบับ​คืออาเซียน และประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการต่อต้านการฟอกเงิน และการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย รวมถึงอาเซียน และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยการรักษาความมั่นคงใน​เศรษฐกิจ​ดิจิทัล​ นอกจากนี้ยังมีอาเซียน และภูมิภาค​เอเชีย​แปซิฟิก​ว่าด้วยเรื่องของการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อป้องกัน และตอบสนองต่อการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-​19 และการลงนามระหว่างอาเซียนกับประเทศพันธมิตรในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือว่าเป็นการขยายความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ นอกภูมิภาคอาเซียน กับประเทศคิวบา และแอฟริกาใต้ น.ส.รัชดา กล่าวว่า ส่วนฉบับสุดท้ายเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมประชาชาติอาเซียน โดยสำนักเลขาธิการอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา โดยองค์การพัฒนาประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีวาระการประชุมระหว่างรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขงกับสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 11 ก.ย. ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำหรับการประชุมดังกล่าวถือเป็นอนุภูมิภาคประกอบด้วยประเทศไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม และเมียนมาร์ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ สิ่งที่จะดำเนินการร่วมกัน ประกอบด้วยความร่วมมือ เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 การส่งเสริมพลังงาน และตลาดพลังงานไฟฟ้าให้มีความยั่งยืน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่มีคุณภาพ และจะมีการแบ่งปันข้อมูลด้านน้ำอย่างโปร่งใส และการส่งเสริมบทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เพื่อการบริหารน้ำจัดการข้ามพรมแดน เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน โดยทางสหรัฐอเมริกา แสดงเจตนารมณ์ว่าให้เงินสนับสนุนเพื่อการพัฒนา และผลักดันประเด็นที่ภูมิภาคแม่น้ำโขงให้ความสนใจ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การขยายการค้าการลงทุน การบรรเทาภัยพิบัติ การต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติ นอกจากการลงนามของรัฐมนตรีหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขงกับสหรัฐอเมริกา ยังมีการแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกด้านพลังงาน ระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขง ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาที่ใช้ชื่อว่า การส่งเสริมหุ้นส่วนพลังงานลุ่มน้ำโขง