นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงคมนาคมได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว และดูแลความปลอดภัยการเดินทางของประชาชน รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ในช่วงวันหยุดต่อเนื่องระหว่างวันที่ 4-7 ก.ย.63 โดยข้อมูลสะสมเมื่อวันที่ 3-5 ก.ย.63 พบว่า มีประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ 6,254,162 คน-เที่ยว ต่ำกว่าประมาณการ 10.24% มีปริมาณการจราจรเข้า-ออกกรุงเทพฯ จำนวน 8,620,532 คัน สูงกว่าประมาณการ 36.47% โดยพบว่าส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ส่วนบุคคล จำนวน 8,067,882 คัน ขณะที่สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุบนโครงข่ายทางถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม ในวันที่ 3-5 ก.ย.63 พบว่า มีจำนวนอุบัติเหตุเกิดขึ้น 229 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 33 คน บาดเจ็บ 199 คน บริเวณที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่เป็นทางตรง 82.84% สาเหตุสำคัญเกิดจากการขับรถเร็วเกินกำหนด โดยเกิดที่กรุงเทพฯมากที่สุด 20 ครั้ง สำหรับอุบัติเหตุที่มีรถจักรยานยนต์เกี่ยวข้องจำนวน 59 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 16 คน บาดเจ็บ 69 คน เกิดที่จังหวัดสุพรรณบุรีมากที่สุด 6 ครั้ง นอกจากนี้มีอุบัติเหตุโดยรถโดยสารสารธารณะ จำนวน 2 ครั้ง ทั้งนี้ไม่มีการเกิดอุบัติเหตุในบริการขนส่งสาธารณะทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ สำหรับการเตรียมความพร้อมของระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภท ในวันที่ 3-5 ก.ย.63 สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนได้อย่างเพียงพอ ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง อย่างไรก็ดีพบว่ามีจำนวนผู้ใช้บริการเดินทางด้วยรถ บขส. ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ในการตรวจความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะ ณ จุดตรวจความพร้อม 121 แห่ง จำนวน 37,041 คัน พบข้อบกพร่อง 20 คัน และได้สั่งให้แก้ไขแล้ว ส่วนความพร้อมของท่าเรือ/แพ พบมีเรือโดยสารไม่พร้อมใช้งาน จำนวน 1 ลำ และได้สั่งปรับปรุงแล้ว ด้านการปฏิบัติงานของพนักงานขับรถ เจ้าหน้าที่รถไฟ รถไฟฟ้า และผู้ประจำเรือไม่พบว่ามีการดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติด แต่อย่างใด ทั้งนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์การเดินทางและดำเนินการเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในวันที่ 7 ก.ย.63 ที่ประชาชนจะเดินทางกลับจากทุกภูมิภาค และจะมีปริมาณการเดินทางที่สูงขึ้น โดยเน้นย้ำให้จัดระเบียบการจราจร ใช้เทคโนโลยีกล้อง CCTV และอากาศยานไร้คนขับ(โดรน) ในการสำรวจสภาพการจราจรบนเส้นทางหลักสำคัญ เพื่อควบคุมและสั่งการให้การบริหารจัดการจราจรมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ให้จัดเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลอำนวยความสะดวกประชาชนอย่างเพียงพอตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับการให้บริการรถโดยสารสาธารณะทั้งรถโดยสาร,รถไฟ,รถไฟฟ้า,เรือ,เครื่องบินต้องเคร่งครัดในมาตรฐานความปลอดภัยทั้งพื้นที่สถานี ยานพาหนะโดยสาร และผู้ปฏิบัติหน้าที่ ต้องไม่เกิดการล่าช้าและไม่มีผู้โดยสารตกค้าง พร้อมทั้งรักษามาตรการด้านสาธารณะสุขเพื่อเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวด