นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว "Kamnoon Sidhisamarn" ระบุว่า .. "ผมจะโหวตเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ - ทั้งตั้งส.ส.ร. และตัดอำนาจส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ !" _____________ โดยภาพรวมแล้วรัฐธรรมนูญ 2560 ในส่วนของบทถาวร มีของดีอยู่เยอะ คำว่า ‘รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง’ ไม่ใช่สิ่งเกินเลย โดยเฉพาะเมื่อพิจารณามาตรา 144 ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ไม่ให้นักการเมืองเข้ามามีส่วนใช้งบประมาณแผ่นดิน ส่วนมาตรา 54 ที่มีรวม 6 วรรคก็เป็น ‘ธรรมนูญด้านการศึกษา’ ที่ไม่รู้ว่าจะเขียนให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ที่มีบทบัญญัติเข้มข้นกว่าที่เคยมีมา ส่วนใหญ่ของเสียงคัดค้านเป็น ‘บทเฉพาะกาล’ ที่ถูกตั้งคำถามหนักในประเด็นความชอบธรรมทางการเมือง อันเป็นเสมือนส่วนยอดภูเขาน้ำแข็งของความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเฉพาะกาลมาตรา 269 ประกอบมาตรา 272 อันเป็นหัวใจสำคัญที่สุด “คสช.คัดเลือก 250 ส.ว. แล้วส.ว.ร่วมเลือกอดีตหัวหน้าคสช.เป็นนายกรัฐมนตรี” แน่นอน นี่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยตามปกติ แต่ได้รับการอรรถาธิบายแก้ต่างจากหลายคน รวมทั้งผมเอง ว่าเป็นระบอบการเมือง ‘เฉพาะกิจ’ และ ‘เฉพาะกาล’ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ของความขัดแย้งที่ดำรงอยู่มาที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงชนิดสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อมาแล้วหลายครั้งในรอบ 15 ปี เพื่อให้บรรลุ 2 เป้าหมาย หนึ่ง - คือความสงบสุขในบ้านเมือง อย่างน้อยก็ชั่วคราว สอง - คือเพื่อให้การปฏิรูปประเทศตามแผนงานเดินหน้าได้ดี ในช่วง 5 ปีแรก เพราะเชื่อว่าหากทำได้ ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่จะได้รับการแก้ที่สมุฏฐาน และจะเกิดความสงบสุขอย่างยั่งยืน ถึงขนาดมีบทบังคับว่าการปฏิรูปประเทศจะต้องเห็นผลภายใน 5 ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญคือภายในวันที่ 6 เมษายน 2565 โดยมีการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 รองรับ 16.82 ล้านเสียงเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และ 15.13 เห็นด้วยกับประเด็นคำถามเพิ่มเติม ได้โปรดสังเกตคำถามเพิ่มเติมในการลงประชามติครั้งนั้น “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” ขีดเส้นใต้ ‘เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่อง...’ ไม่ใช่จู่ ๆ ก็ขอใช้มาตรการพิเศษเฉย ๆ คำอรรถาธิบายเหล่านี้จะมีที่มาจากเจตนาแท้จริงหรือไม่ หรือท่านจะเชื่อจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม ป่วยการที่จะเถียงกัน ประเด็นนี้ผมนำมาใช้ชั่งน้ำหนักเพื่อไตร่ตรองในการตัดสินใจโหวตเห็นชอบหรือไม่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเริ่มต้นด้วยคำถามที่ผมต้องตอบตัวเองอย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาก่อนก็คือ ณ บัดนี้ทั้ง 2 เป้าหมายอันเป็นฐานอ้างอิงความชอบธรรมรองรับมาตรการพิเศษ คือความสงบสุขของบ้านเมือง กับการปฏิรูปประเทศนั้น เมื่อได้ฉันทานุมัติจากประชาชนจนนำมาปฏิบัติแล้วมันสัมฤทธิผลเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ? จะได้ตอบโจทย์ได้ว่ามันยัง ‘คุ้มค่า’ กับการคงไว้ต่อไปหรือไม่ ? ประเด็นเรื่องความสงบสุขของบ้านเมืองนั้นปรากฎชัดเจนต่อหน้าพวกเราทุกคนขณะนี้ว่าไม่มีอยู่อย่างแน่นอนแล้ว เพราะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองขนาดหนักชนิดไม่เคยปรากฎมาก่อน การชุมนุมมวลชนกลับมาอีกในรูปแบบใหม่ ถ้าไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญเลยไม่ว่าจะในประเด็นไหนอย่างไรก็จะยิ่งซ้ำเติมให้ความไม่สงบยกระดับสูงขึ้น ประเด็นนี้สำคัญที่สุด เพราะแม้ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้จะตั้งอยู่บนสมุฏฐานร้าวลึกและหลากมิติของสังคมไทยที่สั่งสมมายาวนาน ต่อให้การแก้รัฐธรรมนูญเกิดขึ้น ก็ใช่ว่าจะดับความขัดแย้งจนเกิดความสงบขึ้นในบ้านเมืองทันที หรือแม้แต่จะสงบลงโดยพื้นฐานก็ตาม แต่ความพยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ตามหน้าที่และอำนาจที่มีอยู่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย มิใช่หรือ ? ส่วนการปฏิรูปประเทศนั้นต้องยอมรับว่าคืบหน้าช้ามาก และจะไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญเขียนกำหนดไว้ให้สัมฤทธิผลในปี 2565 อย่างแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องใหญ่ ๆ ที่ทุกคนรอคอยอย่างเช่นการปฏิรูปตำรวจที่แม้รัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนเวลาบังคับไว้อย่างเข้มข้นโดยกำหนดให้เสร็จภายในปี 2561 ก็ไร้ผล จำเป็นที่จะต้องกล่าวด้วยความเจ็บปวดว่ารัฐบาลชุดนี้ ‘สอบไม่ผ่าน’ ในเรื่องนี้ครับ เฉพาะเรื่องการปฏิรูปตำรวจตามมาตรา 258 ง (4) นอกจากทำไม่เสร็จให้ใกล้เคียงภายใน 1 ปีตามบังคับรัฐธรรมนูญมาตรา 260 วรรคสองแล้ว ยังฝ่าฝืนบทเร่งรัดกึ่งลงโทษในมาตรา 260 วรรคสามอีก ด้วยการตราประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องหลักเกณฑ์การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามหลักอาวุโสลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 มีผลบังคับใช้ 31 กรกฎาคม 2531 ที่มีแนวโน้มขัดรัฐธรรมนูญ ต่อมาเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2561 ใช้อำนาจคสช.ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 20/2661 เรื่องมาตรการการสนับสนุนการบริหารราชการแผ่นดินให้มีความต่อเนื่อง เป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ได้รับการรับรองให้มีอยู่โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตรา 265 ให้ประกาศและการกระทำตามประกาศนั้นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ทั้งในอดีต และต่อไปในอนาคตที่ไม่ได้กำหนดเงื่อนเวลาไว้ พูดง่าย ๆ ว่าเสมือนรัฐธรรมนูญมาตรา 260 ถูกแก้ไขไปแล้วในทางปฏิบัติหรือ de facto โดยคนส่วนใหญ่ไม่รู้ เรื่องนี้ผมได้อภิปรายในที่ประชุมวุฒิสภาไปแล้วเมื่อ 31 สิงหาคม 2563 จริง ๆ เฉพาะเรื่องการไม่ปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญอย่างเดียว ผมก็เกือบตัดสินใจได้แล้ว ก็ในเมื่อมาตรา 44 โดยหัวหน้าคสช.ยังเสมือนแก้รัฐธรรมนูญในทางปฏิบัติไป 1 มาตราสำคัญเมื่อ 2 ปีมาแล้วได้ ทำไมผมต้องไปขวางการแก้รัฐธรรมนูญแบบตรงไปตรงมาด้วยเล่า ? ผลลัพธ์คือตัวตัดสินการกระทำ ! เมื่อผลลัพธ์ออกมาแล้วโดยภาพรวมต่อหน้าพวกเราทุกคนว่าทั้งความสงบและการปฏิรูปประเทศไม่เกิดขึ้นจริง เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วผมขอตอบโจทย์โดยไม่ลังเล... ขณะนี้ ‘ไม่คุ้มค่า’ ที่จะคงมาตรการพิเศษเฉพาะกิจและเฉพาะกาลช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะที่อ้างว่าเพื่อให้การปฏิรูปประเทศเดินหน้า ไว้อีกต่อไป ทำให้ตรงเป้าที่สุดก็คือตัด ‘มาตรา 272’ อำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีของ 250 ส.ว.ออกไปจากรัฐธรรมนูญ ! ความคิดเบื้องต้นของผม คือควรแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราว่ากันเป็นประเด็น ๆ ไปก่อนเลย โดยต้องรวมเอาประเด็นที่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุด หรือที่ถูกมองว่าไร้ความชอบธรรมที่สุด คือมาตรา 272 ไว้ด้วย จะเหมาะสมกว่าการแก้ไขให้เกิดการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยส.ส.ร. ในขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมกี่ร่าง มีแค่ 2 ร่างจากพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลที่มีหลักการแก้ไขเฉพาะมาตรา 256 วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยส.ส.ร.เท่านั้น หรือจะมีร่างแก้ไขรายประเด็นรายมาตราตัดมาตรา 272 ของส.ส.สาทิตย์ วงศ์หนองเตยเข้ามาเป็นร่างที่ 3 หรือยังจะมีร่างฯที่ 4 แก้ไขรายประเด็นรายมาตราตัดมาตรา 272 ของพรรคเพื่อไทยเข้ามาอีก คิดเร็ว ๆ ในชั้นต้นที่ผมยังมีคำถามกับประเด็นส.ส.ร.ก็เพราะ.... การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่หมดทั้งฉบับโดยส.ส.ร.ในลักษณะปราศจากกรอบ นอกจากห้ามแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 เท่านั้น เสี่ยงต่อการที่จะทำให้ของดี ๆ ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 มีอันต้องหายไป นอกเหนือจากหมวด 1 และหมวด 2 แล้ว ยังมีประเด็นที่ละเอียดอ่อนอีกมาก โดยเฉพาะประเด็นเหล่านี้... - พระราชอำนาจในฐานะองค์พระประมุขแห่งรัฐที่อยู่นอกหมวด 2 อาทิ ในขั้นตอนการตราพระราชบัญญัติ หรือรัฐธรรมนูญ และอื่น ๆ - กลไกขององค์กรอิสระต่าง ๆ ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ - รวมทั้งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ที่อาจถูกแปรเปลี่ยนไปเมื่อต้องยกร่างใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเฉพาะพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้น ก็ยังต้องใช้เวลาอีก 15 - 19 เดือนกว่าจะสำเร็จทุกขั้นตอน แต่ครั้นคิดทบทวนดูอย่างรอบคอบแล้ว ในชั้นวาระที่ 1 นี้ จะให้ผม ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกวุฒิสภาชุดแรก 250 คนตามบทเฉพาะกาล มาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแบบยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ที่เสนอจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพรรคร่วมรัฐบาลภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรี ได้อย่างไร ขอบอกว่าโดยตรรกะแล้ว ‘เป็นไปไม่ได้’ โดยสิ้นเชิง หนึ่งคือประเด็นความสงบในบ้านเมือง พวกเราส.ว. 250 คนในเบื้องต้นคือตำบลกระสุนตก เป็นประเด็นหลักของข้อกล่าวหาว่าเป็นความไม่ชอบธรรมหลักของรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่แล้ว ในทรรศนะและมุมมองของผู้คนจำนวนมากในประเทศนี้ ทั้งในรัฐสภาแห่งนี้ และนอกรัฐสภา ไม่ว่าทรรศนะและมุมมองนั้นจะถูกหรือผิดก็ตาม ขืนพวกเราเป็นต้นเหตุให้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 2 ฉบับตกไปอีก ก็หาทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับมามีความชอบธรรมขึ้นไม่ หาทำให้บ้านเมืองสงบลงไม่ ตรงกันข้าม ความไม่สงบอย่างยิ่งชนิดไม่เคยพบเคยเห็นจะมาถึง ณ เบื้องหน้าทันที เพราะนอกจากวุฒิสภาจะยิ่งถูกชี้หน้ากล่าวหาหนักขึ้นแล้ว นายกรัฐมนตรีก็จะตกอยู่ในสถานะหนักหนาสาหัสไปด้วยโดยถูกชี้หน้าว่าเล่นเกมการเมือง 2 หน้า หน้าหนึ่งไฟเขียวพรรคร่วมรัฐบาลเสนอร่างฯตั้งส.ส.ร. อีกหน้าหนึ่งส.ว.ที่ตนตั้งมากลับคัดค้านหรือสนับสนุนไม่ถึงเกณฑ์ทำให้ตกไป สองคือประเด็นประชามติ ถ้าผมเคยยอมรับผลการประชามติ 7 สิงหาคม 2559 เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยเสียง 16.82 และ 15.13 ล้านเสียง และกล่าวอ้างว่าเป็นการตัดสินใจโดยตรงจากประชาชน จึงเป็นความถูกต้องชอบธรรมที่จะล้มล้างกันง่าย ๆ ไม่ได้ หากผมจะไม่เป็นคนกลับกลอกสองมาตรฐานหรือไร้มาตรฐาน ก็จะต้องยอมรับผลของการตัดสินใจโดยตรงจากประชาชนหลังจากนี้อีก 2 หรือ 3 ครั้งข้างหน้าด้วย คือ การประชามติอีก 1 - 2 ครั้ง และการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญอีก 1 ครั้ง ที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ผ่านมติรัฐสภา 3 วาระแล้ว อย่าลืมว่าการแก้ไขมาตรา 256 ให้ตั้งส.ส.ร.ไม่ได้จบที่ผลโหวตในรัฐสภา แต่ตามกระบวนการต้องไปให้ประชาชนตัดสินใจโดยตรงโดยการลงคะแนนลับหย่อนลงหีบบัตรเลือกตั้งอีกรวมแล้ว 3 ครั้ง หากเป็นไปตามร่างฯของพรรคเพื่อไทย ครั้งที่ 1 - ประชามติร่างร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ครั้งที่ 2 - เลือกตั้งส.ส.ร. 200 คน ครั้งที่ 3 - ประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับส.ส.ร. หากเป็นไปตามร่างฯพรรคร่วมรัฐบาล อาจจะเหลือเพียง 2 ครั้งแรกเท่านั้น โดยลดจำนวนส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งลงเหลือ 150 คน ผมเป็นใครครับ ? ผมจะถือสิทธิอะไรไป ‘ขวางทาง’ การตัดสินใจโดยตรงของประชาชนถึง 2 - 3 ครั้งข้างหน้า ? ผมผู้ซึ่งมาจากบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกตีตราชี้หน้าว่าไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรม ไม่ว่าการตีตราชี้หน้านั้นจะถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ก็ตาม ! ผมมิบังอาจหรอกครับ !! แม้การตัดสินใจโดยตรงจากประชาชนโดยการลงคะแนนลับในหีบบัตรเลือกตั้ง อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดเสมอไป โดยเฉพาะภายใต้สภาพการณ์ทางสังคมวิทยาการเมืองของบ้านเราอย่างที่เคยเป็นมาและยังเป็นอยู่ ต่อให้เป็นการตัดสินใจถึง 2 - 3 ครั้งก็เถอะ แต่มีคำตอบที่ดีกว่านี้หรือไม่ในวันนี้ เมื่อไม่มีคำตอบที่ดีกว่านี้ แล้วจะให้ผมไปลงมติที่จะเป็นการขวางทางไปสู่คำตอบดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ในวันที่สถานการณ์เดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร วันที่ 24 กันยายน 2563 ผมจึงมิอาจลงมติเป็นอื่นได้ นอกจากลุกขึ้นเปล่งวาจา... “เห็นชอบครับ” ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรายประเด็นรายมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 272 ถ้ามีร่างฯเสนอเข้ามา หรือการแก้ไขเพิ่มเติมหมวดใหม่ให้มีส.ส.ร.ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับตามร่างฯที่เสนอเข้ามาแล้ว 2 ฉบับ คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา 6 กันยายน 2563
ขอบคุณข้อมูลและภาพ เพจเฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn