ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย สำหรับคนไทยโดยทั่วไป ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ดูจะเป็นเรื่องไกลตัว ไม่เหมือนเรื่องในอ่าวไทยหรือทะเลชายขอบในอันดามัน แต่เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นขึ้นมาเมื่อเจ้ากรมยุทธการทหารเรือได้กล่าวอ้างถึงความจำเป็นในการมีเรือดำน้ำว่ามันมีส่วนเกี่ยวพันกับความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก และคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ที่ออกมาต่อต้านการมีเรือดำน้ำและฝ่ายสนับสนุนถึงความจำเป็นที่จะต้องมีเรือดำน้ำ โดยที่ยังไม่ต้องพูดถึงความเหมาะสมในการจัดซื้อเรือดำน้ำในยามนี้ หรือวิธีการจัดซื้อจัดหาที่น่าจะให้ประโยชน์ต่อประเทศโดยรวมหรือทางเลือกอื่นก็ควรรู้ไว้บ้าง ก่อนที่จะไปไกลกว่านี้คงต้องมาทำความเข้าใจกับความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ตามที่ได้มีการกล่าวอ้างถึงว่ามันเกิดจากอะไร หรืออะไรเป็นสาเหตุให้เกิดความตึงเครียดในบริเวณนั้น ประการแรกพื้นที่ๆกล่าวถึงนั้น มันอยู่บริเวณไหน ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าทะเลจีนใต้นั้น แม้ชื่อจะบอกว่าทะเลจีนใต้แต่ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นของจีน แต่มันเป็นทะเลที่เป็นเขตติดต่อกันหลายประเทศ คือ เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จึงขอยืนยันว่ามันเป็นของใช้ร่วมกันระหว่างประเทศเหล่านี้กับจีน แม้จีนจะอ้างประวัติศาสตร์เพื่อเข้าครอบครองบริเวณนี้ก็ตาม แต่มันขัดกับหลักกฎหมายสากลและกฎหมายทางทะเลว่าด้วยอาณาเขต และเขตเศรษฐกิจทางทะเล 200 ไมล์ จะมาบอกว่ามันชื่อทะเลจีนใต้จึงต้องเป็นของจีนคงไม่ได้ ที่มันชื่อทะเลจีนใต้เขายึดโยงว่ามันใกล้ประเทศใหญ่ที่มีอิทธิพลในแถบนั้น อย่างมหาสมุทรอินเดียก็มิได้หมายความว่าอินเดียเป็นเจ้าของมหาสมุทร ดังนั้นพื้นที่ทะเลจีนใต้จึงต้องมีการตกลงใช้ร่วมกันแบ่งผลประโยชน์กัน เพราะเมื่อเอาหลักเขตเศรษฐกิจตามกฎหมายทะเลมาอ้างมันจะเป็นพื้นที่ทับซ้อนกัน จึงต้องมีการเจรจาตกลงกัน นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญอันเชื่อมต่อการเดินเรือจากยุโรปที่ผ่านคลองสุเอชผ่านมหาสมุทรอินเดีย ผ่านช่องแคบมะละกา มุ่งหน้าไปจีน เกาหลี ไต้หวัน และญี่ปุ่น ซึ่งนอกจากจะขนสินค้ายังเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติจากตะวันออกกลางไปยังประเทศในภาคตะวันออกไกลอีกด้วย ด้วยเหตุนี้การที่จีนเข้ามาครอบครองพื้นที่ดังกล่าว โดยอ้างประวัติศาสตร์จึงทำให้ 5 ประเทศที่มีสิทธิในการใช้ทะเลบริเวณดังกล่าวทำการประท้วง และยื่นต่อศาลโลกเพื่อขอให้ระงับข้อพิพาท แต่จีนไม่ยอมรับให้ศาลโลกดำเนินคดี เหมือนกับที่หลายประเทศทำเช่นอินเดีย ไม่ยอมให้ศาลโลกยุติข้อพิพาทแคว้นแคชเมียร์ จีนอาศัยความเป็นมหาอำนาจใช้นโยบายกำปั้นเหล็กเข้าครอบครองและขยายอาณาเขต สร้างเกาะเทียมและอาคารสถานที่อย่างมากมายบนแนวปะการังที่มีอยู่ในทะเลจีนใต้ ซึ่งมีหมู่เกาะเล็กๆและแนวปะการังกับโขดหินกระจายอยู่ คือหมู่เกาะพาราเซล และหมู่เกาะสแปรตลี่ แล้วพื้นที่หมู่เกาะเหล่านี้ ซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า แทบไม่มีผู้คนอาศัย นอกจากที่พักชั่วคราวของชาวประมงจากประเทศที่ใช้พื้นที่ร่วม มันเกิดสำคัญขึ้นมาได้อย่างไร ก็ต้องย้อนไปศึกษาการสำรวจทางดาวเทียมเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน พบว่าบริเวณเหล่านี้โดยเฉพาะแถบหมู่เกาะสแปรตลี่มีปริมาณน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำรองเป็นจำนวนมาก แม้ปริมาณที่แน่นอนจะยังคงถกเถียงกันอยู่ว่ามากแค่ไหน แต่มันมีแน่และมาก นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จีนให้ความสนใจและประกาศว่าเขตดังกล่าวเป็นดินแดนในอธิปไตยของตน โดยลากเส้นในแผนที่อ้างอิง ซึ่งแน่นอนว่าเวียดนาม บรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ไม่ยอมรับ ทำการประท้วงและยื่นต่อศาลโลก แต่จีนก็ไม่ยอมให้ศาลโลกยุติข้อพิพาท ยืนยันว่าข้อพิพาทดังกล่าวต้องเกิดจากการเจรจาร่วมกัน ระหว่างจีนกับอีก 5 ประเทศ อย่างไรก็ตามการเจรจาไม่เคยคืบหน้า เพราะจีนยังยืนกระต่ายขาเดียวที่อ้างว่ามันเป็นของจีน โดยไม่ยอมให้อีก 5 ประเทศมีสิทธิหรือมีส่วนแบ่งจากผลประโยชน์ใดๆที่จะเกิดขึ้นแม้แต่การทำประมง ส่วนประเทศอื่นๆแม้จะมิได้มีผลกระทบโดยตรง แต่ก็กังวลอย่างมาก คือ เกาหลี ญี่ปุ่น และไต้หวันที่ต้องอาศัยเส้นทางเดินเรือขนสินค้าจากยุโรป วัตถุดิบ และพลังงานจากตะวันออกกลาง และส่งสินค้าออกไปขายในภูมิภาคต่างๆ เพราะมันเป็นเส้นทางทำมาหากินของตนเอง ผลกระทบถัดมาคือประเทศต่างๆ ที่จะส่งสินค้าและวัตถุดิบมาขายให้ญี่ปุ่น เกาหลีและไต้หวัน แม้แต่การขนมาขายจีนก็ตาม หากจีนมีมาตรการเข้มงวดในการผ่านทะเลจีนใต้ก็คงยุ่ง ส่วนสหรัฐฯไม่พอใจจีนเพราะมันเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญของกองเรือที่ 7 ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ที่สหรัฐฯใช้ในการเดินทางเพื่อปกป้องพันธมิตร มองในจุดนี้ถ้าสหรัฐฯมานั่งอยู่แทนจีน สหรัฐฯในฐานะมหาอำนาจก็คงทำแบบเดียวกันนั่นแหละ เหมือนกับที่สหรัฐฯทำกับปานามาที่คุมเส้นทางเดินเรือสำคัญของตนผ่านคลองปานามา จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง มหาอำนาจจึงไม่คำนึงถึงกฎหมายระหว่างประเทศ หรือกฎบัตรขององค์การสหประชาชาติที่ตนเป็นสมาชิกเลย ดังนั้นการเผชิญหน้ากันระหว่างจีนและสหรัฐฯในบริเวณทะเลจีนใต้จนเกิดความตึงเครียดขึ้นมาในเวลานี้ ก็เพราะสหรัฐฯได้ออกหน้ามากดดันจีนให้ทำตามกฎหมายระหว่างประเทศและพันธสัญญาต่อองค์การสหประชาชาติ สหรัฐฯจึงเคลื่อนกองเรือขนาดใหญ่เข้ามาในบริเวณนี้ ซึ่งประกอบด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำ กับกองเรือคุ้มกัน ทั้งเรือพิฆาต เรือฟรีเกต และเรือดำน้ำนิวเคลียร์ จำนวนรวมกันไม่ต่ำกว่า 60 ลำ ซึ่งสหรัฐฯไม่เคยทำอย่างนี้มาก่อน ยกเว้นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งก็ไม่ใหญ่แค่นี้ ฝ่ายจีนก็ตอบโต้ด้วยการซ้อมรบใหญ่ในบริเวณดังกล่าวโดยเชื่อมโยงกับแผ่นดินใหญ่ จนทำให้เกิดความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ ในทางการเมืองระหว่างประเทศสหรัฐฯก็พยายามสร้างพันธมิตรด้วยการชี้ชวนให้ประเทศต่างๆได้เห็นถึงผลประโยชน์ที่ถูกจีนยึดครองไปเป็นของตนฝ่ายเดียว โดยเฉพาะ 5 ประเทศที่ใช้ประโยชน์ร่วมในทะเลจีนใต้ ซึ่งไม่มีน้ำยาไปต่อกรกับจีน ถ้าไม่มีสหรัฐฯหนุ่นหลัง ในด้านยุทธศาสตร์สหรัฐฯก็ประกาศจุดยืนว่ามหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียต้องเปิดเสรี (Free and Open) ตามยุทธศาสตร์ Indo-Pacific ของสหรัฐฯ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในการตอบโต้ยุทธศาสตร์ Belt and Road Innitiative ของจีน คือการเชื่อมโยงการค้ากับทั่วโลกในทางเปิดแต่ในทางปิด คือการขยายอิทธิพลของจีนไปทั่วโลก สำหรับประเทศไทยเรื่องที่จีนประกาศอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้นั้นเกิดมานานพอควรแล้ว ในสมัยพลเอกเปรม ได้มีการประชุมหารือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งกองทัพเรือ ว่าเราควรจะยื่นประท้วงจีนหรือยื่นเรื่องต่อศาลโลกหรือไม่ เพราะถ้าโยงจากเกาะโลซินที่มีการกล่าวอ้างในปัจจุบันว่าทำให้เขตเศรษฐกิจทางทะเลไทยครอบคลุมได้มากขึ้นนั้น เรามีสิทธิประท้วงจีนได้ แต่ที่ประชุมสรุปว่าได้ไม่คุ้มเสียเพราะจีนคงไม่ยอมขึ้นศาลโลก และเราก็ทำอะไรจีนไม่ได้ อย่าไปแกว่งเท้าหาเสี้ยนเลย ดังนั้นความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ จึงเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างรุ่นใหญ่สหรัฐฯ-จีน เราไม่มีศักยภาพอะไรไปเกี่ยวข้องได้เลย ต่อให้มีเรือดำน้ำจีน 3 ลำ และเรือบรรทุกเครื่องบินอีก 1 ลำ ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่มีเรือบรรทุกเครื่องบินในอาเซียน ก็ไม่เห็นว่าใครจะเกรงใจเลย ข้อตกลงที่เกิดขึ้นในการแบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนมันเกิดจากการเจรจาและการยึดโยงกับกฎหมายระหว่างประเทศ กับความเชี่ยวชาญในการต่อรองและการดำเนินวิเทโศบายระหว่างมิตร ไม่ใช่มองใครเป็นศัตรูหมด