ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า...โควิด 19 ประเทศไทยสามารถควบคุม ไม่ให้มีการระบาดในประเทศได้ถึง 100 วันแล้ว ขณะเดียวกันจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกรวม 26 ล้านคนแล้ว มีผู้ป่วยเสียชีวิตมากกว่า 8 แสนคน จะยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆประมาณ 4 วันหนึ่งล้านคน ภายในสิ้นปีนี้น่าจะมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 50 ล้านคน และมีการสูญเสียชีวิตมากกว่าล้านแน่นอน ความหวังที่จะหยุดยั้งการระบาดของโรคได้ ทุกคนตั้งความหวังไว้ที่ วัคซีนแต่การให้วัคซีนกับคนทั้งโลกไม่ใช่เรื่องง่าย การจะหยุดยั้งการระบาดของโรคได้ จะต้องมีคนติดเชื้อไปแล้ว รวมทั้งเกิดภูมิต้านทานที่ได้จากวัคซีนรวมกันแล้ว ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 50-60 ของประชากร วัคซีนจะต้องมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ความหวังส่วนตัวขอให้มีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่า 60% ก็ยังดี หรือให้วัคซีนแล้วถ้าติดเชื้อจะลดอาการรุนแรงลงได้ไวรัสนี้จะยังอยู่กับเราตลอดไป สิ่งหนึ่งที่มีความต้องการอย่างยิ่ง คือยาที่ใช้รักษาจำเพาะ เพื่อลดความรุนแรงของโรค และไม่ให้เกิดการเสียชีวิตเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องการในระยะยาว ในอดีตที่ผ่านมายกตัวอย่างไข้หวัดใหญ่สเปนในการระบาด ไม่ได้มีการควบคุมมากมายเท่าปัจจุบัน แต่เมื่อ 100 ปีที่แล้วประชากรก็ไม่ได้หนาแน่นเท่ากับปัจจุบัน การระบาดของโรคใช้เวลา 2 ปี โรคจึงสงบลง เชื้อไวรัสไม่ได้หมดไป เปลี่ยนเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ที่เป็นการระบาดทุกปี สำหรับ โควิด 19 มีมาตรการในการควบคุมป้องกันลดการระบาดให้เหลือน้อยที่สุด ดังนั้นถ้าไม่มีวัคซีน มาช่วยเลย การระบาดจะต้องยาวนานกว่า 2 ปี อย่างไรก็ตามมีความเชื่อมั่นว่าภายในสิ้นปีนี้ ผลการศึกษาวัคซีนในระยะที่ 3 ที่มีถึงอย่างน้อย 6 ชนิดในปัจจุบัน ก็น่าจะเริ่มเห็นประสิทธิผลในการป้องกันโรคของวัคซีนแต่ละชนิดที่ทำการศึกษากัน ในอดีตถึงปัจจุบัน วัคซีนที่ทำการศึกษากันประกอบไปด้วย วัคซีนเชื้อเป็นชนิดอ่อนฤทธิ์ วัคซีนเชื้อตาย วัคซีนที่ใช้วิศวกรรมพันธุศาสตร์สร้างโปรตีนจากสิ่งมีชีวิต วัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นตัวนำ วัคซีนที่ใช้ DNA หรือ RNA รายละเอียดข้อดีข้อเสียของวัคซีนแต่ละชนิด จะนำมาเสนอต่อไป ยง ภู่วรวรรณ ๓ กย ๒๕๖๓