'สิระ'เตรียมขอมติ กมธ.กฎหมาย ตรวจสอบคลิปเสียงนักการเมืองเรียกรับผลประโยชน์ ย้ำแม้เกิดเหตุก่อนดำรงตำแหน่ง ส.ส. แต่ต้องตรวจสอบเพื่อให้มีการดำเนินคดี สวน "เสรีพิศุทธ์" ทำไมไม่ตรวจสอบคนทำผิด แต่กลับจะมาตรวจสอบคนที่ตรวจสอบ เมื่อวันที่ 2 ก.ย.63 ที่รัฐสภา นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงกรณีคลิปเสียงนักการเมืองเรียกรับผลประโยชน์จากบริษัทเอกชนว่า ตอนแรกจะนำเสนอเรื่องนี้เพื่อขอมติคณะกรรมาธิการให้พิจารณาด้วยตนเอง แต่ทราบว่าจะมีผู้มาร้องให้คณะกรรมาธิการตรวจสอบเรื่องนี้ จึงจะเสนอให้คณะกรรมาธิการพิจารณาจากคำร้องที่บุคคลภายนอกยื่นเข้ามา ส่วนกรณีที่พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ บอกคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ไม่มีอำนาจตรวจสอบ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดเหตุก่อนนักการเมืองคนดังกล่าวจะดำรงตำแหน่ง ส.ส. นายสิระ ชี้แจงว่า เรื่องนี้เป็นอาญาแผ่นดิน ความผิดสำเร็จแล้ว มีผู้เสียหาย จึงต้องตรวจสอบเพื่อนำไปสู่การดำเนินคดีกรรโชกทรัพย์ ซึ่งมีอายุความเกิน 10 ปีอยู่แล้ว โดยจะต้องตรวจสอบวันเกิดเหตุย้ำว่าแม้แต่เกิดเหตุก่อนการดำรงตำแหน่ง ก็ต้องถูกดำเนินคดี ยืนยันว่าไม่ได้ใช้กลไกคณะกรรมาธิการแก้แค้นในทางส่วนตัว แม้นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยในคลิปเสียง จะออกมาแถลงขอโทษกรณีขัดแย้งกับตนเองแล้ว แต่ก็เป็นแค่เรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบกรณีนี้ ส่วนจะเชิญนายมงคลกิตติ์เข้ามาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมติคณะกรรมาธิการ นายสิระ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการจะมีการหารือกับฝ่ายกฎหมาย ว่ากรณีคลิปเสียงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการหรือไม่ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าเป็นกรณีที่กฎหมายไม่ได้บังคับใช้กับบุคคลที่ปรากฏในคลิปเสียง เข้าข่ายการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ ส่วนที่อยู่ในการตรวจสอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นกรณีที่ข้าราชการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนกรณีคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ จะดำเนินการ ตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ หากดำเนินการตรวจสอบกรณีคลิปเสียง นายสิระ กล่าวว่า สามารถดำเนินการตรวจสอบผู้ร้องได้ หากเป็นกรณีที่ร้องเท็จ แต่ขอให้ประชาชนช่วยกันตั้งคำถามถึงคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ว่าจะร่วมกันตรวจสอบเรื่องนี้ หรือจะขัดขวางคณะกรรมาธิการไม่ให้ตรวจสอบเรื่องนี้ แทนที่จะตรวจสอบผู้กระทำผิด กลับจะตรวจสอบคนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ