เกษตร-ฝ่ายปกครอง เมืองชาละวันเร่งลงพื้นที่หาแนวทางช่วยเหลือชาวนาหลังพบว่านาข้าวในพื้นที่ 12 อำเภอ ที่ลงทะเบียนปลูกข้าวไว้จำนวน 1.4 ล้านไร่เศษเจอฝนทิ้งช่วง คาดว่าจะเสียหาย 4.5 แสนไร่เศษ ชาวนาโอดครวญจ่ายค่าเช่านาไร่ละ 1 พันบาท แม้ไม่ได้ผลผลิตก็ต้องจ่ายบวกกับลงทุนค่าไถหว่าน-ค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว-ค่าปุ๋ยค่ายา รวมแล้วลงทุนไร่ละเกือบ 3 พันบาท จ่อขาดทุนย่อยยับวอนขอฝนหลวงรวมถึงวอนขอรัฐหามาตรการเยียวยาช่วยด่วน วันที่ 1 ก.ย. 2563 นายนิรุตต์ พรมสุข ปลัดอำเภอเมืองพิจิตร และ นางมะยม เนียมสุวรรณ์ เกษตรอำเภอเมืองพิจิตร ได้ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อดูนาข้าวของชาวนาในเขต ต.สายคำโห้และ ต.บ้านบุ่ง อ.เมืองพิจิตร หลังจากได้รับร้องทุกข์จากชาวนาและผู้นำหมู่บ้าน ว่า นาข้าวในเขตพื้นที่ดังกล่าวนี้ชาวนาส่วนใหญ่ลงมือไถหว่านปลูกข้าวมาตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2563 แต่ปรากฏว่าเกิดฝนทิ้งช่วงรวมถึงน้ำที่เคยได้มาจากเทือกเขาเพชรบูรณ์และเทือกเขาวังทองปีนี้ปริมาณน้ำรวมถึงฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลถึงมีฝนตกก็มีปริมาณน้อยนิดไม่เพียงพอต่อการเติบโตของต้นข้าว นายทิพย์ แตงเส็ง “ผู้ใหญ่ยุ่ง” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.สายคำโห้ และ นายกรณ์ อยู่เบิก อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 16/3 หมู่ 4 บ้านดงสว่าง ต.สายคำโห้ ซึ่งทำนาอยู่ในเขตบ้านหนองไผ่ บนเนื่อที่ 20 ไร่ ซึ่งทั้ง 2 คนนี้ ก็เป็นชาวนารวมถึง นายเจตน์ ศรีสมุทร อายุ 53 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บ้านหนองไผ่ ต.บ้านบุ่ง อ.เมืองพิจิตร ซึ่งทำนา 30 ไร่ ต่างให้ข้อมูลร้องทุกข์ว่า นาข้าวของพวกตนปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ที่ส่วนใหญ่ทุกคนเช่านาของเถ้าแก่ทำนาในราคาไร่ละ 1พันบาท ซึ่งต้องจ่ายค่าเช่านาล่วงหน้าจะได้ผลผลิตหรือไม่ได้ก็ต้องจ่ายรวมถึงข้าวที่ปลูกไปแล้วนี้ต่างกู้เงินจาก ธกส.มาลงทุน เป็นค่าเตรียมดิน เป็นค่าสูบน้ำ เป็นค่าปุ๋ย-ค่ายา และอื่นๆ รวมแล้วลงทุนไร่ละ 3,000-3,500 บาท ถึงวันนี้นาข้าวขาดน้ำจึงอยากร้องขอฝนหลวง ซึ่งถ้าภายใน 10-15 วันนี้ ถ้าไม่ฝนตกลงมาช่วย ต้นข้าวในแปลงนาก็มีสิทธิแห้งตายคาท้องนาอย่างแน่นอน จึงอยากวิงวอนให้รัฐบาลหาทางช่วยเหลือชาวนาพิจิตรเป็นการด่วน ในส่วนของ สนง.เกษตรจังหวัดพิจิตรและฝ่ายปกครองต่างก็เร่งลงพื้นที่สำรวจเพื่อเสนอผู้ว่าฯพิจิตร ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อจะได้ใช้งบประมาณในการช่วยเหลือต่อไป สำหรับข้อมูลสถานการณ์การปลูกพืชและพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากฝนทิ้งช่วง ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2563 สนง.เกษตรจังหวัดพิจิตรเปิดเผยว่าเกษตรกรใน 12 อำเภอของจังหวัดพิจิตรลงทะเบียนปลูกข้าวไว้ทั้งสิ้น 1,402,460 ไร่ จากเหตุการณ์ฝนทิ้งช่วงจึงคาดว่านาข้าวจะเสียหายประมาณ 453,724 ไร่ หรือ 32.35 % ของพื้นที่ปลูกข้าวรวมถึงพื้นที่ปลูกพืชไร่จำนวน 40,115 ไร่ ก็คาดว่าน่าจะเสียหายประมาณ 5,823 ไร่ หรือ 14.5% ของพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เช่นเดียวกับ พื้นที่ในเขต ต.วังทับไทร อ.สากเหล็กที่เป็นพื้นที่ปลูกมะม่วงเพื่อการส่งออกนับหมื่นไร่ ขณะนี้ต้นมะม่วงก็เริ่มส่อเค้าขาดน้ำและมีแมวโน้มว่าจะได้รับความเสีหาย ถ้าไม่มีฝนตก หรือ ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ รอได้แค่ถึง 15 ก.ย. 63 ก็คาดว่าจะทำให้ผลผลิตทั้งนาข้าว – พืชไร่ –ไม้ผล ของ จ.พิจิตรได้รับความเสียหายจากวิกฤตฝนทิ้งช่วงและภัยแล้งดังกล่าว