เมื่อวันที่ 1 ก.ย. เวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ครม. ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เพิ่มเติม งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงิน 883 ล้านบาท ให้กับสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดทำพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) ในส่วนของสถานที่เอกชนสำหรับแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นไปตามมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำหนดให้คนไทยทุกคนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศจะต้องเข้าพัก ณ พื้นที่ กักกันโรคแห่งรัฐทันทีเป็นเวลา 14 วัน นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งประมาณการจำนวนคนไทยในต่างประเทศที่มีความประสงค์เดินทางกลับประเทศไทยทางอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-31 ส.ค.63 ที่สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกได้สำรวจล่าสุดมีจำนวน 22,470 คน โดยอาจมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาตรการการผ่อนคลายการควบคุมโรค และมาตรการทางเศรษฐกิจของประเทศต้นทาง กระทรวงกลาโหมจึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ จัดทำพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ ส่วนที่ยังไม่ได้รับงบประมาณรวมทั้งสิ้นจำนวน 42,047 คน วงเงิน 902 ล้านบาท ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีมีบัญชาเห็นชอบให้กระทรวงกลาโหมใช้จ่ายงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงิน 883 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจัดทำพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐจำนวน 41,514 คน นางสาวไตรศุลี กล่าวอีกว่า สำหรับรายละเอียดค่าใช้จ่าย แยกเป็น ค่าตอบแทนบุคลากร 32 ล้านบาท, ค่าเช่าที่พักและค่าอาหารของเจ้าหน้าที่ 91 ล้านบาท, ค่าเช่าที่พักและค่าอาหารของผู้ถูกกักกันโรค 747 ล้านบาท, ค่าวัสดุการแพทย์ 621,000 บาท, ค่าจ้างเหมา 8 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายยานพาหนะในภารกิจโควิด-19 จำนวน 2.9 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.-30 มิ.ย.63 ได้จัดตั้งพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ โดยใช้สถานที่ราชการจำนวน 2 แห่ง และโรงแรมเอกชน จำนวน 31แห่ง รองรับผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและเข้ารับการกักกันตัวในพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐจำนวน 27,977 คน ซึ่งในส่วนของกระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดทำพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ ระยะที่ 1 จำนวน 4,200 คน วงเงิน 95 ล้านบาท และระยะที่ 2 จำนวน 4,200 คน วงเงิน 97 ล้านบาท รวมจำนวนทั้งสิ้น 8,400 คน วงเงินรวม 192 ล้านบาท ยังเหลือที่ยังไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนอีกจำนวน 19,577 คน