สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮ็อปกินส์ ประเทศสหรัฐฯ ออกมาเตือนถึงข้อเสียของวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่วิจัยและพัฒนาขึ้นโดยประเทศจีนและประเทศรัสเซีย ซึ่งทางการของทั้งสองได้มีการอนุญาตให้ใช้ก่อนหน้า โดย ศ.แอนนา พี. เดอร์บิน นักวิจัยด้านวัคซีนแห่งมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮ็อปกินส์ สหรัฐฯ เปิดเผยว่า วัคซีนไวรัสโควิดฯ ของ “แคนซิโนไบโอโลจิกส์” บริษัทผู้ผลิตวัคซีนของจีน และ “สถาบันกามาเลยา” ของรัสเซีย อาจมีประสิทธิภาพอย่างจำกัด เนื่องจากมีพื้นฐานการวิจัยและพัฒนามาจากไวรัสโรคหวัดทั่วไป ซึ่งผู้คนจำนวนมากเคยเป็นมาก่อน ซึ่งทางบริษัทแคนซิโนไบโอโลจิกส์ของจีน ใช้วิธีดัดแปลงจากอะดีโนไวรัสไทป์ไฟว์ หรือเอดี5 (AD5 : Adenovirus Type5) ในขณะที่ สถาบันกามาเลยาของรัสเซีย ใช้พื้นฐานการวิจัยและพัฒนาวัคซีนไวรัสโควิดฯ จาก “เอดี5” เช่นกันและ “อะดีโนไวรัส” อีกตัวหนึ่ง รายงานข่าวแจ้งว่า วัคซีนทั้งสอง โดยของจีน ได้อนุญาตให้ใช้กับทหารในกองทัพของจีนไปแล้ว และหลายประเทศได้มีการขออนุมัติ ซึ่งเป็นการขออนุมัติใช้ในวงกว้างก่อนจะเสร็จสิ้นการทดลอง ส่วนของรัสเซีย ทางการได้อนุมัติเพื่อการผลิตเชิงพาณิชย์ไปก่อนหน้าเช่นกัน ท่ามกลางปฏิบัติการทดสอบที่เป็นไปอย่างจำกัด พร้อมกันนี้ ศ.แอนนา พี. เดอร์บิน แสดงความวิตกกังวลด้วยว่า ผู้คนจำนวนมากมีภูมิคุ้มกันต่อเอดี5 หรืออะดีโนไวรัสไทป์ไฟว์อยู่แล้ว เพราะต่างก็เคยเป็นโรคหวัดกันมาก่อน จึงไม่แน่ใจว่ากลยุทธ์บริษัทของจีนและสถาบันของรัสเซียคืออะไรกันแน่ รวมถึงเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนไวรัสโควิดฯ ที่อาจมีประสิทธิภาพด้านการป้องกันเพียงร้อยละ 40 ไม่ถึงร้อยละ 70 ด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ศ.นักวิจัยด้านวัคซีนแห่งมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮ็อปกินส์ ก็กล่าวว่า แม้ประสิทธิภาพการป้องกันอาจมีเพียงร้อยละ 40 แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรเลย จนกว่าจะมีวัคซีนของสถาบันอื่นๆ ออกมา