บอร์ด กนอ.เห็นชอบในหลักการแนวทางจัดระเบียบสายสื่อสารในนิคมอุตสาหกรรมลงใต้ดินปรับภูมิทัศน์พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม สอดรับการเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในกำกับของ กนอ.โดยเตรียมวางระบบ 5 G ครอบคลุมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรรม 14 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง คาดเริ่มดำเนินการตามแผนได้ปี 67 น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการขยายโครงข่ายโทรคมนาคมเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาไปสู่ยุค 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล จึงทำให้การใช้เส้นเคเบิลเส้นใยแก้วนำแสง (Optical Fiber Cable) เคเบิลทองแดง (Copper Cable) สายกระจาย (Drop Wire) มีจำนวนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเมื่อรวมกับที่มีอยู่เดิมแล้วจึงอาจทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบและบางครั้งอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน หรืออาจเกิดไฟไหม้สายสื่อสารได้ กนอ.ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวจึงมีแนวคิดจัดระเบียบสายสื่อสารในนิคมอุตสาหกรรมลงใต้ดิน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งยังเป็นการเฝ้าระวังอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น และจัดเตรียมระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกและการบริการให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ นอกจากนี้ยังเป็นการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่สูงขึ้นในอนาคต โดยล่าสุดในที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ.ที่มีนายนรินทร์ กัลยาณมิตร เป็นประธานประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการของแนวทางดังกล่าวตามที่ กนอ.เสนอ โดยให้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุนในปี 2564 และคาดว่าหากผลการศึกษาแล้วเสร็จจะสามารถเริ่มดำเนินโครงการวางท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินในนิคมอุตสาหกรรมได้ในปี 2567 โดยจะเป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยอุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของการพัฒนาในพื้นที่อีอีซี ซึ่งนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะนักลงทุนจีนได้ย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคอาเซียนจนยอดการลงทุนโดยตรงจากจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) เพิ่มมากขึ้นถึงแม้ว่าในช่วงไตรมาส 2 จะชะลอตัวลงเล็กน้อยจากสถานการณ์โควิด-19 แต่หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ทำให้บรรยากาศการลงทุนเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อพัฒนาระบบ 5G และนวัตกรรมด้านดิจิทัลสมัยใหม่ “กนอ.มองเห็นลู่ทางดังกล่าวจึงได้เตรียมความพร้อมรองรับระบบสาธารณูปโภค ระบบสื่อสารภายในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มความสะดวกในระบบ Big Data (ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่)ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม สอดรับกับแผนการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย ICT โดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน” สำหรับพื้นที่เป้าหมายของการวางท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้บริการโทรคมนาคมประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรม 14 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่งที่ กนอ.บริหารจัดการเอง เนื้อที่ประมาณ 33,855.72 ไร่ มีผู้ประกอบกิจการในพื้นที่รวมทั้งสิ้น 2,142 ราย “กนอ.จะเป็นผู้วางโครงสร้างระบบ 5G ในนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.กำกับดูแล 14 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง โดยที่มีเอกชนมาเป็นผู้ร่วมดำเนินการ ซึ่งจะทำให้โรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมีระบบสัญญาณที่มีเสถียรภาพ และสะดวก รวดเร็วขึ้น ตอบโจทย์การเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั้งภายใน และต่างประเทศในด้านมาตรฐานการให้บริการที่มีศักยภาพ”