นโยบายรัฐบาลให้ความสำคัญกับการใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเป็นฐานในการพัฒนาสู่ประเทศไทย 4.0 ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) กระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม (Engineering Design Process) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) หรือ STEM นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม โดยกระทรวงศึกษาธิการเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนสะเต็มไปใช้ในระบบการศึกษา หรือที่เรียกว่า “สะเต็มศึกษา (STEM Education)” มาอย่างต่อเนื่อง สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ส่งเสริม และพัฒนาสะเต็มศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้มุ่งหวังเพียงให้นักเรียนเรียนเพื่อจบหลักสูตร หรือจบการศึกษาเพียงเท่านั้น แต่เป็นการต่อยอด สู่การประยุกต์ใช้ในการทำงานอีกด้วย ซึ่งเป็นแนวทางของในการสร้างแรงงานที่มีศักยภาพในอนาคต “ประเทศไทยต้องการกำลังคนด้าน STEM จำนวนมาก สอดคล้องกับนโยบายการเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ เป้าหมายสำคัญคือการทำให้นักเรียนสามารถนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ มองเห็นความเชื่อมโยงสู่อาชีพในอนาคตข้างหน้า นักเรียนจะได้ฝึกฝนเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ และทักษะในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ สามารถนำไปใช้ในการประกอบวิชาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ซึ่งต้องใช้เวลาขับเคลื่อนต่อเนื่องหลายปี จึงจะทำให้ประสบผลสำเร็จ” ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าว ก่อนหน้านี้ สสวท. ได้ส่งเสริมการเรียนรู้ที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี กับวิชาต่าง ๆ สู่สถานศึกษาอยู่แล้ว จึงกล่าวได้ว่าสะเต็มศึกษาเป็นสิ่งที่มีอยู่เดิม ครูจำนวนมากที่ได้จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการที่นำสาระเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ไปใช้ในการเรียนการสอน สะเต็มศึกษาสามารถนำไปปรับใช้ได้ในโรงเรียนตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งนี้ หลายปีที่ผ่านมา สสวท. ได้ดำเนินงานด้านสะเต็มศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่กำลังจะถึงนี้ สสวท. ยังคงขับเคลื่อนสะเต็มศึกษาอย่างเป็นระบบ ภายใต้โครงการหลักต่างๆ ได้แก่ โครงการการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนของครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสะเต็มศึกษา ตามแนวทาง สสวท. โดยพัฒนาครูผู้สอน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และครูปฐมวัย ให้สามารถจัดการเรียนรู้ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสะเต็มศึกษา ในห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองต่อนโยบายการสร้างกำลังคนให้มีความรู้ และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ดังกล่าวในการดำรงชีวิตประจำวัน และการประกอบอาชีพ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติให้ทัดเทียมนานาชาติ โดยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมืออบรมครูด้วยระบบทางไกล ของโครงการพัฒนานักเรียนอย่างมีคุณภาพด้วยการจัดประสบการณ์เรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และสะเต็มศึกษา เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ณ กระทรวงศึกษาธิการ โครงการยกระดับคุณภาพโรงเรียนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี (โรงเรียนคุณภาพ SMT ตามมาตรฐาน สสวท.) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนมีโอกาสได้เรียนโรงเรียนดีในทุกอำเภอ ซึ่งจะส่งผลต่อการยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียน โดยการนำสะเต็มศึกษา แพลตฟอร์มดิจิทัล และสื่อเพื่อการเรียนรู้ของโครงการ Project 14 วิทยาการคำนวณ และโค้ดดิ้ง รวมทั้งนำประสบการณ์หลากหลายของ สสวท. ไปขับเคลื่อน และยกระดับโรงเรียนในโครงการ “นอกจาก 2 โครงการหลักที่กล่าวถึงข้างต้น สะเต็มศึกษายังคงสอดแทรกอยู่ในเนื้อหา และกิจกรรมตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี หนังสือเรียน กิจกรรมการฝึกปฏิบัติการต่าง ๆ สื่อการเรียนรู้ที่ดำเนินการโดย สสวท. รวมทั้งกิจกรรม/กระบวนการย่อยตามโครงการอื่น ๆ โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เข้าสู่การเรียนรู้ตามวิถีใหม่ สสวท. จะปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้พัฒนา รูปแบบการเรียนรู้แบบออนไลน์ การศึกษาทางไกล และการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในวงกว้างยิ่งขึ้น เพื่อสร้างเด็กฉลาดรู้ ครูคุณภาพสูง ยกระดับการศึกษาชาติไทย แข่งขันได้ด้วยฐานสมรรถนะ อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าว ทิ้งท้าย เครือข่ายความร่วมมือของ สสวท. จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยผลักดันให้สะเต็มศึกษากระจายไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศได้ เครือข่ายครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (ครู สควค.) ก็เป็นอีกหนึ่งพลังที่ศักยภาพสูงที่ร่วมขับเคลื่อนภารกิจนี้ โดย ดร.ศักดิ์อนันต์ อนันตสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนนารายณ์คำผงวิทยา จังหวัดสุรินทร์ เจ้าของรางวัลครูดีเด่นสะเต็มศึกษา และยังเป็นประธานเครือข่ายวิชาการ ครู สควค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้กล่าวถึงบทบาทในการขับเคลื่อนการเรียนรู้สะเต็มศึกษาในท้องถิ่นว่า เมื่อปีการศึกษา 2562 ได้การพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ให้ครูมีความสามารถในการออกแบบการเรียนรู้เชิงรุก มีการจัดการเรียนรู้ด้วยบันได 5 ขั้น ตามแนวทางสะเต็มศึกษา และสนับสนุนให้นักเรียนศึกษาค้นคว้าและทำโครงงาน และจัดแสดงผลงานของนักเรียน ส่วนปีการศึกษา 2563 ได้ต่อยอดพัฒนาทักษะการเรียนรู้และการสร้างนวัตกรรมนักเรียน พร้อมทั้งส่งครูเข้าร่วมหลักสูตร STEAM4INNOVATOR ของสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ ให้เป็นมืออาชีพในการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะของนักเรียน และก้าวไปสู่การเป็นนวัตกร “เครือข่ายครู สควค. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้จัดทำเนื้อหาความรู้เกี่ยวกับสะเต็มศึกษา และผลงานครู สควค. ผ่านทางเว็บไซต์ครูสมาร์ทดอทคอม (www.krusmart.com) ในการประชุมวิชาการประจำปีของเครือข่ายฯ มีครู สควค. เข้าร่วมการประชุมฯ กว่า 100 คน นำผลงานวิชาการ และนวัตกรรมดีเด่นมาจัดแสดง นำเสนอ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งกันและกัน มีแนวปฏิบัติที่ดี นวัตกรรมการสอนที่โดดเด่นตามแนวทางสะเต็มศึกษา หรือวิธีการสอนใหม่ๆ สำหรับจุดเน้นของศูนย์เครือข่ายวิชาการในแต่ละภาคจะแตกต่างกัน โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเน้นด้าน ดาราศาสตร์ศึกษา ซึ่งจะพัฒนาผลงานในส่วนนี้ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป เพื่อเติมเต็มและให้เป็นแนวทางการจัดการเรียนการสอนดาราศาสตร์และอวกาศให้เข้มข้นยิ่งขึ้นต่อไป” ดร. ศักดิ์อนันต์กล่าว