“บีซีพีจี”เดินหน้าเพิ่มทุน 1.035 หมื่นล้านบาท รองรับการลงทุนโครงการที่มีในมือ 64% ของวงเงินโดยรวมจากการเพิ่มทุน และส่วนที่เหลือเตรียมไว้สำหรับการลงทุนที่สร้าง EBITDA ในอัตราสูงเมื่อรวมกับการจัดการบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่จะสามารถลดผลกระทบด้าน dilution ในระยะสั้นได้อย่างแน่นอน นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า บริษัทสามารถเดินหน้าตามแผนการลงทุนที่วางไว้ โดยเข้าลงทุนในโครงการใหม่ที่น่าสนใจและมีผลตอบแทนคุ้มค่า ด้วยแผนยุทธศาสตร์ที่ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนได้แก่ 1.กลยุทธด้านธุรกิจ โดยการเติบโตทางธุรกิจทั้งแบบ Organic Growth และ Inorganic Growthการเพิ่มประสิทธิภาพของสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง การก้าวสู่ระบบดิจิตอลและนวัตกรรมมากขึ้น 2.กลยุทธด้านการเงิน การเพิ่มประสิทธิภาพเงินทุนที่ใช้และงบดุล 3.กลยุทธด้านทรัพยาการบุคคล การเพิ่มขีดความสามารถด้านบุคลากรและองค์กร โดยตามแผนกลยุทธ 5 ปี บริษัทตั้งงบลงทุนกว่า 4.5 หมื่นล้าน มุ่งขยายโรงไฟฟ้าไปยังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค และประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวี ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการลงทุนตามแผนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน จึงได้ดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท โดยการเพิ่มทุนในครั้งนี้ ทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทมีความแข็งแกร่ง และสามารถรองรับการลงทุนตามแผนที่วางไว้ โดยบริษัทได้ประกาศเพิ่มทุนไปเมื่อวันที่ 20 ส.ค.63 จำนวน 1.3 พันล้านหุ้น คาดว่าจะได้รับเงินจำนวน 1.035 หมื่นล้านบาท สำหรับ เงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุนประมาณ 10,000 ล้านบาทในครั้งนี้ บริษัทมีแผนใช้เงินลงทุนประมาณ 6,650 ล้านบาทในโครงการที่มีอยู่และกำลังพัฒนาดังนี้ 1.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยจำนวน 4 โครงการ ตั้งอยู่ในบริเวณ 3 จังหวัดได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี,ลพบุรี และปราจีนบุรี มีกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 20 เมกะวัตต์ 2.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมใน สปป. ลาว กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลเวียดนามได้อนุมัติแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการฯ รวมถึงการก่อสร้างสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ เพื่อรองรับการซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ คาดว่าโครงการฯ จะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2566 3.การชำระหนี้เงินกู้ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Nam San 3A และ Nam San 3B ใน สปป. ลาว และการสร้างสายส่งขนาด 220 กิโลโวลต์ เพื่อส่งไฟฟ้าที่ผลิตจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำทั้ง 2 แห่ง ไปยังประเทศเวียดนาม ส่วนเงินเพิ่มทุนอีกประมาณ 3,700 ล้านบาท ใช้เพื่อลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษา และพิจารณาข้อเสนอ ซึ่งตั้งเป้าอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity/ ROE) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 โดยเมื่อรวมกับผลประกอบการที่จะได้รับจากการลงทุนตั้งแต่ปลายปี 2562 และปี 2563 ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำทั้ง 2 โครงการ ใน สปป. ลาว และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยที่บริษัทได้ซื้อมาเพิ่มอีก 4 โครงการ กำลังการผลิตรวม 20 เมกะวัตต์ ผนวกกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่มีอยู่ ให้เกิดประสิทธิภาพและได้รับผลตอบแทนสูงสุด อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในฟิลิปปินส์ ฯลฯ จะสามารถลดผลกระทบด้าน dilution ในระยะสั้นได้อย่างแน่นอน