แม้ศึกบุนเดสลีกา ฤดูกาล 2019/20 ได้เพิ่งผ่านพ้นไป โดยลงเอยด้วยหนังม้วนเดิมอีกครั้ง ของ “เสือใต้” บาเยิร์น มิวนิค เพราะแม้จะมีช่วงที่เป๋ แถมยังมีทีมอื่นร่วมสร้างความตื่นเต้น แต่ตอนจบของเรื่องพระเอกก็กลับมาทันเวลา บาเยิร์น มิวนิค คว้าแชมป์ 8 ซีซั่นซ้อน และเพิ่มสถิติแชมป์ลีกสูงสุดของเยอรมณีมากที่สุดต่อไปด้วยจำนวน 30 สมัย แม้ทีมอื่นๆ จะอิจฉาตาร้อนสักเพียงไหน แต่สาวกบาเยิร์นก็ยังคงทำได้แค่เพียงยักไหล่ พร้อมคำพูดที่ว่า "เราก็ยิ่งใหญ่ของเราแบบนี้แหละใครจะทำไม?" และยิ่งตอกย้ำเข้าไปอีก หลัง “เสือใต้” คว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก มาครองเป็นสมัยที่ 6 ซึ่งมีส่วนสำคัญจากนักเตะฝีมือดีหลายรายที่อัดแน่นอยู่ในถ้ำ “เสือใต้” ไม่ว่าจะเป็น “โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี” “มานูเอล นอยเออร์” “แซร์จ นาบรี” แข้งฝีมือดีเหล่านี้ ไม่ใช่เด็กปั้นของสโมสร แต่ล้วนเป็นนักเตะที่ “เสือใต้” ซื้อตัวจากสโมสรอื่นในบุนเดสลีกา ด้วยราคาถูกแสนถูก ยิ่งไปกว่านั้น “เสือใต้” ได้นักเตะบางคนมาแบบฟรี ๆ จนทำให้พวกเขากลายเป็นทีมผูกขาดแชมป์บุนเดสลีกา 8 สมัยติดต่อกัน ไม่ว่าคุณจะคิดอย่างไร สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ พลังการ “ดูด” นักเตะของ“เสือใต้” จากทีมในบุนเดสลีกา ที่มีส่วนสำคัญทำให้บุนเดสลีกา แข็งแกร่งดั่งในปัจจุบัน และเมื่อนำนักเตะเหล่านี้เข้ามาผสมผสานกับเด็กปั้นในอคาเดมี ที่ขึ้นชื่อเรื่องฝีเท้า “เสือใต้” จึงเป็นทีมที่รักษามาตรฐานอย่างมั่นคง และยาวนาน จนก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2019-20 ด้วยการลงทุนอย่างคุ้มค่าที่สุด หากนับย้อนหลังไป แฟนบอล หลายคนคงไม่รู้ ว่า “เสือใต้” ไม่ได้ใหญ่ค้ำฟ้ามาแต่ไหนแต่ไร ทว่ามันเกิดจากการบริหารที่ชัดเจน ในหลายยุคมีทีมผลัดกันก้าวขึ้นมาท้าทาย “เสือใต้” อาทิ กลัดบัค, ฮัมบูร์ก และ ดอร์ทมุนด์ ในปัจจุบัน แต่ที่สุดแล้วสโมสรเหล่านี้ทนแรงเสียดทานไม่ไหว สุดท้ายก็สู้ได้ แค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะพวกเขาแพ้ภัยตัวเอง ไม่มีใครยืนระยะได้ดีเท่ากับ “เสือใต้” บาเยิร์น มิวนิค อีกแล้ว ขณะที่เรื่องด้านการเงินนั้น “เสือใต้” ก้าวข้ามทีมอื่นไปอีกระดับเพราะพวกเขาใช้ผู้บริหารคนนอกที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารและการเงินโดยเฉพาะ รายชื่อผู้บริหารระดับ CEO ของ “เสือใต้” จะพบว่าแต่ละคนเป็นนักธุรกิจระดับโลกอย่างแท้จริงไม่ว่าจะเป็น แฮร์เบิร์ต ไดสส์ (ประธานกลุ่ม Volkswagen ที่ Audi ค่ายรถยนต์ในเครือเป็นสปอนเซอร์ของสโมสร), แวร์เนอร์ เซเดลิอุส (ที่ปรึกษาอาวุโสของ Allianz), มิเชล ไดเดอริช (บอร์ดบริหาร UniCredit Bank), ทิโมเธอุส ฮ็อตเก้ส์ (ประธานของบริษัทโทรคมนาคมระดับประเทศอย่าง Deutsche Telekom หรือที่เราคุ้นกับโลโก้ T บนหน้าอกเสื้อแข่ง) รวมถึง แฮร์เบิร์ต ไฮเนอร์ (อดีต CEO ของ adidas) และยังมีอีกหลายคนที่ทรงอิทธิพลที่ไม่ได้กล่าวถึง “เสือใต้” เป็นทีมที่ไปได้ไกลที่สุดในเยอรมนีทั้งในคุณภาพการเล่น และการบริหารงานด้านเศรษฐกิจ บัดนี้ผ่านมาแล้ว 26 ปี“เสือใต้” ได้กำไรทุกครั้ง ล่าสุดในการจัดอันดับสโมสรที่มีรายรับสูงที่เป็นอันดับ 4 ของโลก โดยทำรายได้ถึง 657 ล้านยูโรเลยทีเดียว และนับเป็นการก้าวอย่างอหังการ ไปสู่ความสำเร็จ จริงอยู่ที่เงินจำนวนนี้ยังน้อยกว่า เรอัล มาดริด, บาร์เซโลนา และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ยึดอันดับ 1-3 ทว่า “เสือใต้” มีความแตกต่างกับทีมอื่นๆ ตรงที่พวกเขามีรายได้เชิงพาณิชย์สูงสุดมากกว่า 50% ของรายรับโดยรวม ขณะที่ทีมอื่นๆ นั้นส่วนใหญ่มีรายได้หลักจากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในสัดส่วนที่สูสีกับรายได้เชิงพาณิชย์ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่างบประมาณที่สโมสรบาเยิร์น ใช้ทำทีมทุกวันนี้ ไม่ได้มาจากนำเงินทุนของสโมสรออกมาใช้เลย ทุกบาททุกสตางค์ในการบริหารทีมเกิดจากส่วนที่เป็นกำไรล้วนๆ และการทำกำไร 26 ปี ติดต่อกันแสดงให้เห็นว่า “เสือใต้” มีพื้นฐานการเงินในระดับที่ "โคตรแข็งแกร่ง" ว่าง่ายๆ คือพวกเขาแทบไม่มีความเสี่ยงที่จะล้มละลายเลยแม้แต่น้อย ความสำเร็จของ “เสือใต้” ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ การบริหารจัดการ และ ความจงรักภักดี สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้ “เสือใต้” สามารถดึงดูดใจนักเตะของทีมอื่นได้อย่างง่ายดาย และเป็นฝันของนักเตะเยอรมันแทบทุกคน เพราะการได้เล่นให้กับ “เสือใต้” ก็เหมือนการเปิดประตูสู่ทีมชาติเยอรมนี ทุกเหตุผลที่กล่าวทำให้ทุกสโมสรในบุนเดสลีกายอมรับแต่โดยดีว่า หาก “เสือใต้” ต้องการนักเตะของพวกเขาขึ้นมาเมื่อไหร่ก็แทบจะหมดโอกาสต่อต้านเมื่อนั้น แม้จะเกลียดราชาแห่งลีกเยอรมนีเท่าไร แต่พวกเขาไม่อาจปฏิเสธความยิ่งใหญ่ของ “เสือใต้” ได้เลย