ส.อบจ.ตรังพร้อมผู้นำท้องที่ เปิด3ถ้ำห้วยยอดหนุนเป็น "พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น" หลังพบวัตถุโบราณอายุกว่า3พันปี จำนวนมาก เผยสำนักศิลปากรที่15ภูเก็ต ลงพื้นที่สำรวจก่อนนำพระพิมพ์อายุกว่า3พันปีไปเก็บรักษา พร้อมผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแห่งใหม่ของจังหวัด วันที่ 27 สิงหาคม 2563 นายกิตติเดช วรรณบวร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(ส.อบจ.)ตรัง พร้อมนายไพโรจน์ จงจิตร อดีตกำนันตำบลเขากอบ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง นายปรีชา คงรอด ผู้ใหญ่บ้านหมู่6ต.เขากอบ นำสื่อมวลชนมาสำรวจถ้ำเขาคุรำ เขานุ้ย และเขาหัวพาน ในพื้นที่ ม.12 บ้านเป ต.เขากอบ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ หลังจากที่มีการค้นพบวัตถุโบราณภายในถ้ำทั้ง3ลูกจำนวนมาก มีทั้งพระพิมพ์ เศษภาชนะ เศษโครงกระดูก เศษฟันคน ฟันสัตว์ เครื่องประดับ ฯลฯ โดยที่ชาวบ้านได้สร้างที่เก็บรักษาดูและเป็นบ้านบริเวณหน้าถ้ำและมีการดูแลอย่างดี เนื่องจากเป็นวัตถุโบราณล้ำค่าที่มีอยู่ในถ้ำคาดว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า3,000ปี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพของถ้ำทั้ง3ลูกทั้งถ้ำเขาคุรำ เขานุ้ย และเขาหัวพาน มีสภาพพื้นที่ตั้งอยู่ติดกันเป็นเขาสูงตั้งเด่นตระหง่านปกคลุมด้วยผืนป่าเขียวขจีอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรป่าไม่น้อยใหญ่ปกคลุมหนาแน่น ภายในถ้ำมีลักษณะเหมือนถ้ำทั่วไปมีทั้งที่มีลักษณะเป็นห้องโถงใหญ่ ซอกหลืบหินงอกหินย้อยสวยงามที่สำคัญคือชาวบ้านขุดค้นพบวัตถุโบราณภายในถ้ำทั้ง3ลูกจำนวนมาก พร้อมทั้งได้แจ้งให้ทางสำนักศิลปากรที่15ภูเก็ต ทราบและลงมาสำรวจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ล่าสุดทางนักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำท้องที่และชาวบ้านตำบลเขากอบ ประสานไปยังกรมศิลปากรผลักดันให้มีการจัดตั้งเป็น"พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น"และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอีกแห่งของจังหวัดตรัง นายไพโรจน์ จงจิตร อดีตกำนันตำบลเขากอบ กล่าวว่า เขาคุรำ นี้เริ่มพัฒนาครั้งแรกเมื่อปี 2543 และได้สร้างอาคารตรงนี้ไว้แล้วก็ถูกทิ้งร้างมาเป็นระยะเวลาประมาณ 20 ปี แต่เมื่อปีพ.ศ. 2561 ตนเองก็ได้เริ่มเข้ามาปรับปรุงสถานที่แห่งนี้ก็ได้เจอของเก่าและตนเองก็ได้เก็บสะสมไว้และก็เจอของเยอะขึ้นเรื่อยๆก็ได้เก็บเอาไว้ในส่วนของรายละเอียดต่างๆนั้นทางสำนักศิลปากรที่15ภูเก็ตและทางนายกิตติเดช วรรณบวร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรังได้เป็นคนประสานมา "ซึ่งก่อนหน้านี้ตนเองเก็บด้วยใจรักไม่รู้จักว่าแต่ละชิ้นมีความเป็นมาอย่างไร ซึ่งบริเวณแถวนี้มีถ้ำอยู่หลายถ้ำในแต่ละถ้ำพบว่ามีของโบราณอยู่ทุกถ้ำ ลักษณะภายในถ้ำจะมีห้องโถงใหญ่ วัตถุโบราณที่พบส่วนใหญ่จะมีหม้อดิน เศษกระดูกหรือฟันของกระดูกมนุษย์ ขวานหินสมัยโบราณ ซึ่งทางสำนักศิลปากรที่15ภูเก็ตแจ้งว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 3 พันปี แล้วเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมาทางรองอธิบดีกรมศิลปากรได้ลงมาเยี่ยมพื้นที่แห่งนี้ด้วย ซึ่งพบว่าที่นี่เป็นแหล่งสำคัญที่สุดของภูมิภาคนี้ ซึ่งตอนนี้ชาวบ้านให้ความสำคัญและช่วยกันดูแลสถานที่แห่งนี้ด้วย หากใครเข้ามาเยี่ยมชมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 0866113864"นายไพโรจน์ กล่าว ด้านนายปรีชา คงรอด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ตำบลเขากอบ กล่าวว่า ตนเองในฐานะของกรรมการของกรมศิลปากรก็ได้ศึกษาดูแลและอนุรักษ์เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ของกรมศิลป์และที่พบของเขาคุรำ เขานุ้ย เขาหัวพาน ก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทางกรมศิลปากรที่จ.ภูเก็ตได้เข้ามาสำรวจ พบวัตถุโบราณหลายชิ้น ซึ่งของสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราต้องควรอนุรักษ์ไว้ ซึ่งสิ่งที่พบถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดแล้วอายุประมาณ 3 พันปีที่ทางกรมศิลป์ได้แจ้งไว้ ต่อไปเราก็สามารถทำเป็นสถานที่ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมได้ หากนักท่องเที่ยวจะเข้ามาเยี่ยมชมที่นี่มีความปลอดภัยอย่างแน่นอนจะมีทางเจ้าหน้าที่ตำรวจหมู่บ้าน อปพร.ช่วยดูแลป้องกันคุ้มครองให้นักท่องเที่ยวได้รับความปลอดภัย ในส่วนของการเข้าไปเยี่ยมชมแต่ละถ้ำนั้นใช้เวลาในการเดินเข้าไปไม่แน่นอนเพราะมีพื้นที่ถ้ำ มีโถงกว้างใหญ่ มีหินงอกหินย้อย และความพิสดารอัศจรรย์ภายในถ้ำด้วย ขณะที่ นายกิตติเดช วรรณบวร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง กล่าวว่า ตนเองได้ประสานงานกับสำนักศิลปากรที่15ภูเก็ตแล้วร่วมกับอดีตกำนันไพโรจน์ จงจิตร และกำนันในพื้นที่กำนันดำรงค์ศักดิ์ วรรณบวร ที่เป็นสมาชิกและประสานไปอย่างองค์การบริหารส่วนตำบลเขากอบ เนื่องด้วยว่าทางกรมศิลปากรได้ทราบข่าวเมื่อปี 2554 ว่ามีการค้นพบพระพิมพ์และของใช้โบราณในยุคไม่น้อยกว่า 3 พันปี ซึ่งพระพิมพ์ที่พบประมาณ1,000 กว่าองค์ ตอนนี้ก็ได้มีการส่งมอบพระพิมพ์ให้แก่ทางกรมศิลปากรเพื่อนำไปขึ้นทะเบียนไว้อยู่ที่สำนักศิลปากรที่15ภูเก็ตแต่ในส่วนที่รับผิดชอบของพื้นที่ตรงนี้ภูเขาทั้ง 3 ลูกก็คือภูเขาคุรำ ภูเขานุ้ย ภูเขาหัวพาน ทางกรมศิลป์ได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งโบราณคดีจดทะเบียนถูกต้องของกรมศิลป์และกรมศิลป์ก็เข้ามาดูแล นายกิตติเดช กล่าวอีกว่า ในส่วนของการพัฒนาแหล่งโบราณคดีที่จะให้เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในอนาคตก็ได้มีการหารือกับกรมศิลป์ เพื่อให้พี่น้องชาวบ้านหมู่ที่ 12 บ้านนาเป มาพูดคุยและทำความเข้าใจกันเพื่อส่งมอบพื้นที่บางส่วนให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลเขากอบดูแลอย่างเช่นพื้นที่ที่เป็นถนนและอาคาร โดยที่เราจะต้องมีหน่วยงานราชการเข้ามาประสานงานดูแลเพื่อที่เราจะทำงานร่วมกัน เบื้องต้นทางองค์การบริหารส่วนตำบลเขากอบทำหนังสือไปยังกรมศิลป์ให้เข้ามาช่วยออกแบบเพื่อจะทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอย่างเช่น museum เดินชมแหล่งโบราณสถานที่เคยพบทั้ง 3 ภูเขา "นอกจากนี้ทางกรมศิลปากรยังได้ค้นพบสถูปจำลองขนาดอยู่ที่ประมาณ 50 cm อยู่บนยอดภูเขานุ้ยขึ้นไปความสูงประมาณ 100-150 เมตรค้นพบเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วแต่เป็นเศษของสถูปซึ่งทางกรมศิลปากรได้แจ้งไว้ว่ามีไม่กี่ที่ที่มีสถูปจำลองโบราณในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่โบราณทางคดีจึงถือว่าที่นี่มีความสำคัญในเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาในยุค 3,000 ปี และหลังจากนี้ต่อไปทางกรมศิลปากรจะเข้ามาดูแลขับเคลื่อนให้เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของคนตรังของคนห้วยยอด สำหรับคนที่สนใจสามารถเข้ามาดูวัตถุที่เคยค้นพบเช่นพระพิมพ์บางส่วน ส่วนใหญ่ที่สมบูรณ์ 900 กว่าองค์อยู่ที่พิพิธภัณฑ์จ.ภูเก็ต แต่ที่นี่ก็มีบางส่วนสามารถเข้ามาเยี่ยมชมกันได้ จะมีภาชนะต่างๆโบราณที่ค้นพบ อุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ทำมาหากินหรือกระดูกชิ้นส่วนต่างๆของใช้ กำไลสร้อยคอ ลูกปัด ที่เป็นเครื่องประดับ ที่นี่ก็มีให้ดูเป็นบางส่วนเพราะยังไม่สมบูรณ์ แต่การขับเคลื่อนของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นจะต้องให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอย่างเช่นกรมศิลป์ศิลปากรเข้ามาดูแลตอนนี้เรามีหน้าที่อย่างเดียวคือรักและห่วงแหนให้การต้อนรับคนที่มาเยือน ในส่วนของการเดินทางเข้ามาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นนั้นเดินทางเข้ามาไม่ยากอยู่ในพื้นที่ของหมู่ที่ 12 บ้านนาเป ต.เขากอบ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง อยู่ใกล้กับแม่น้ำตรังและอยู่ใกล้กับแหล่งโบราณสถานอีกที่หนึ่งคือวัดคีรีวิหาร แหล่งท่องเที่ยวถ้ำเลเขากอบและวังเทพทาโรจากกันประมาณไม่ถึง 5 กิโลเมตร ถ้าเดินทางมาจากถนนเพชรเกษมเพื่อจะไปยังทะเลสองห้องจากปากทางถนนเพชรเกษมเข้ามาก็อยู่ที่ประมาณ 3 กิโลเมตรก็จะถึงพื้นที่ของหมู่บ้านสามารถสอบถามเส้นทางจากชาวบ้านได้ เช่นกัน"นายกิตติเดช กล่าว