12 มิ.ย. ของทุกปี เป็น "วันต่อต้านการใช้แรงงานเด็กโลก" (World Day Against Child Labour 2017) สำหรับประเทศไทย เรื่องงานเป็นประเด็นที่สำคัญ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่me.shgikถูกกดดันจากประชาคมระหว่างประเทศมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ที่เห็นได้ชัด คือการถูกประเมินในรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ (Trafficking in Persons Report หรือ TIP Report) ให้อยู่ในระดับต่ำสุดหรือ Tier 3 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมประมง และอุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งถูกจับตามองเป็นพิเศษ "ศ.ดร.สุภางค์ จันทวานิช" จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แรงงานเด็กเป็นทั้งเรื่องในเชิงมนุษยธรรม และการเมืองที่ต้องให้ความสำคัญ ได้มีการทำวิจัยสำรวจแรงงานในภาคประมงหลายจุดทั้งระนอง ตราด สมุทรสาคร และสงขลา จากกลุ่มตัวอย่างพบแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี อยู่ร้อยละ 5.5 แต่ในความเป็นจริงอาจจะมีมากกว่านี้ สำหรับข้อท้ามายของปัญหาเรื่องแรงงานเด็ก มาจากหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็น นายจ้าง ที่ไม่มีความตระหนักรู้ว่ากำลังจ้างแรงงานเด็ก ไม่รู้ข้อกฎหมายว่าเด็กทำอะไรได้บ้าง และนายจ้างที่รู้ว่าจ้างเด็ก แต่ก็ยังจ้างเพราะค่าแรงถูกกว่า ในส่วนของเด็กที่จะอยู่ในภาคประมง ปัจจุบันเด็กไทยน้อยมาก ส่วนใหญ่ที่มีอยู่เป็นแรงงานข้ามชาติ ในงานวิจัยที่ทำกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) พบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กเข้าสู่การเป็นแรงงานไม่ว่าภาคไหนก็คือ ความต้องการมีรายได้ โดยที่เป็นเด็กต่างชาติบอกว่า ต้องการช่วยเหลือตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ ขณะที่ พ่อแม่เอง ก็ไม่รู้ว่าการที่ลูกมาทำงานเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เมื่อเด็กมาในฐานะผู้ติดตามก็มาช่วยงาน เช่นปอกกุ้งได้มาก็คิดรวมกับพ่อแม่ นายจ้างไม่ได้จ่ายเงินจ้างเด็ก แต่จ่ายให้ในส่วนของพ่อแม่ "สมพงษ์ สระแก้ว" ผู้อำนวยการ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวว่า ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าแรงงานเด็กทั้งหมดหายไปแล้ว แม้ว่าจะมีการปรับปรุงเรื่องข้อกฎหมาย เพิ่มบทลงโทษ แต่ก็อาจจะยังมีการลักลอบอยู่บ้าง ทั้งในภาคประมง และแปรรูปสัตว์น้ำ แต่ตั้งแต่ปี 2557 ที่รัฐบาล คสช.เข้ามาก็มีการปรับปรุงข้อกฎหมายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น และเป้าหมายของทุกฝ่ายคือ วันนี้ไม่อยากให้มีเรื่องแรงงานเด็กอีก ซึ่งทางออกก็คือ ต้องเอาการศึกษาเข้ามาแก้ปัญหา จากข้อมูลของกระทรวงแรงงานพบว่า ในอดีตการใช้แรงงานเด็ก เป็นแรงงานไทยเสียเป็นส่วนมาก มาจากปัจจัยสภาพเศรษฐกิจของครอบครัวเป็นหลัก หลายกรณีที่ตรวจเจอก็ทำให้ผู้ปฏิบัติงานสะท้อนใจว่า การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ก็ไปกระทบมิติทางสังคมอีกด้านหนึ่ง แต่ปัจจุบัน แรงงานเด็กเปลี่ยนไปเป็นแรงงานข้ามชาติแล้ว ที่เด็กไทยน้อยลง อาจจะด้วยการศึกษาของไทยเอง จากที่ร่วมกับสำนักงานสถิติทำการสำรวจเมื่อปี 2558 สำรวจเด็กอายุ 15-17 ปี มีประมาณ 11 ล้านคน พบว่า ส่วนใหญ่ เรียนหนังสืออย่างเดียว ประมาณ ร้อยละ 66 เรียนหนังสือ และทำงานกับครอบครัว ร้อยละ 25 เรียนและทำงานกับเอกชน ร้อยละ 3 ทำงานอย่างเดียว ร้อยละ2.5 ไม่เรียนไม่ทำงานประมาณร้อยละ 2 เด็กที่ทำงานอยู่ในภาคเกษตร ป่าไม้ และประมง ร้อยละ 53 ซึ่งสำหรับภาคประมงกฎกระทรวงกำหนดว่าต้องอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ อนุสัญญาว่าด้วยขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ซึ่งใช้เมื่อ 17 มิ.ย. 2542 โดยไทยได้ให้สัตยาบรรณเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2544 ก็นับว่าไทยค่อนข้างก้าวหน้าไปมาก ได้มีการปรับปรุงกฎหมายใหม่ให้ครอบคลุม มีการบังคับ และคุ้มครองกว้างขวางมากขึ้น เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้มีการเพิ่มโทษนายจ้างที่ใช้แรงงานเด็กที่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด ปรับตั้งแต่ 4 - 8 แสนบาท ต่อลูกจ้าง 1 คน จากเดินโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท "ดรณภา สุกกรี" ทนายความจาก TLCS Legal Advocate Co.,Ltd กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 2 ประเทศที่กฎหมายในเรื่องนี้ค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุด เนื่องมาจากTIP Report และIUU เป็นปัจจัยที่มากดดันให้ทุกภาคส่วนในประเทศ โดยเฉพาะรัฐ และเอกชนต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่นอกเหนือจากภาครัฐปรับปรุงกฎหมายแล้ว ในภาคธุรกิจมีจุดเปลี่ยนคือเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2559 สหรัฐฯ มีการแก้ไขกฎหมาย Tariff Act 1930 ห้ามนำเข้าสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแรงงานเด็ก แรงงานบังคับ แรงงานนักโทษ รวมทั้งค้ามนุษย์ แต่ถึงมีการห้ามนำเข้าแต่ก็มีข้อยกเว้น (Consumption Demand Exception) เป็นช่องโหว่าทางกฎหมายว่า ถ้าปริมาณการผลิตในสหรัฐฯ ยังไม่ถึงปริมาณความต้องการในประเทศ ก็ยังนำเข้าได้ เป็นช่องโหว่มา 85 ปี จนเพิ่งจะได้ยกเลิกข้อนี้ออกไปแล้ว สำหรับประเทศไทย สินค้าที่ถูกขึ้นรายการว่าเหตุผลควรเชื่อว่าถูกผลิตโดยแรงงานเด็กไว้ได้แก่ สิ่งทอ กุ้ง น้ำตาล สื่อลามก ซึ่งต่อไปนี้ถ้ามีข้อกล่าวหา นอกจากจะถูกดำเนินคดีในประเทศไทยแล้ว ถ้าชี้ไปได้ว่าจะเข้าสหรัฐฯ สามารถหยุดได้ที่ชายแดนทันที จุดนี้จะทำให้เอ็นจีโอเข้ามามีบทบาทมาก ถ้ารู้ถ้าเห็น ก็สามารถรวบรวมหลักฐาน และดำเนินการให้เกิดผลได้ "สุรพงษ์ กองจันทึก" นักสิทธิมนุษยชน และนักกฎหมาย ยืนยันว่าวันนี้จะมีแรงงานเด็กไม่ได้อีกแล้ว ไม่มีข้อยกเว้น แรงงานเด็กคือเริ่มตั้งแต่อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา ไม่มีการตีความเป็นอย่างอื่น แม้การที่เด็กช่วยเหลือครอบครัวจะมีมานาน แต่วันนี้สรุปแล้วว่า การให้เด็กเป็นแรงงานไม่เอื้อต่อการพัฒนาเด็ก เราจึงต้องกันเด็กทุกวิถีทางไม่ให้เข้าสู่การเป็นแรงงาน ซึ่งทางแก้คือ "เด็กต้องเข้าสู่การศึกษา ต้องเข้าสู่โรงเรียน" เมื่อพูดกันถึงประเด็นนี้ ก็มีคำถามผุดขึ้นมาในสังคมถึงการที่เอางบประมาณของรัฐไทยไปดูแลกลุ่มคนต่างด้าว บ้างก็ว่าคนกลุ่มนี้ไม่เสียภาษี ทำไมต้องเอาเงินภาษีคนไทยมาดูแล แต่นายสุรพงษ์แก้ไขความเข้าใจผิดว่า สังคมต้องเข้าใจว่าภาษีไม่ใช่มีไว้เพื่อคนที่จ่าย เช่น คนจ่ายภาษีเยอะต้องได้รับบริการคืนจากรัฐเยอะ แต่ภาษีคือเงินที่คนนั้นได้ประโยชน์จากแผ่นดินนี้ต้องจ่ายคืนในรูปแบบภาษี และรัฐเอาเงินนั้นมาบริการทุกคนบนแผ่นดินนี้ร่วมกัน ส่วนประเด็นคนต่างด้าวไม่จ่ายภาษีอันนี้ก็ไม่ถูกต้อง เพราะคนต่างด้าวเข้ามาในประเทศไทยไม่ว่าถูกกฎหมายหรือไม่ต่างเสียภาษีทั้งสิ้น ไม่ว่าทางตรง คือภาษีรายได้บุคคลเหมือนคนไทยทุกประการ เพียงแต่ที่ไม่ได้จ่าย เพราะคนเหล่านี้เหมือนคนไทยที่ยากจน มีรายได้น้อยรัฐก็จะยกเว้นภาษีให้ ขณะที่ การเสียภาษีทางอ้อม ก็ได้แก่การจับจ่ายซื้อสินค้า บริการ ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในส่วนสิทธิขึ้นพื้นฐาน เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน อันนี้เราให้ทุกคนเท่ากันหมด แต่สิทธิพลเมือง ให้เฉพาะพลเมืองไทยเท่านั้น ซึ่ง "การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน" ที่ทุกคนต้องได้รับ ถ้าเขาเป็นคนต้องได้รับ ดังนั้นการอุดหนุนการศึกษาก็อุดหนุนอย่างเท่าเทียมกันเสมอมา และที่ผ่านมาประเทศไทยก็ไม่ได้ดูแลแต่เฉพาะในประเทศไทย ตัวอย่างที่ดีก็คือสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ที่มีพระเมตตาไปส่งเสริมการศึกษาในประเพทศเพื่อนบ้าน เพราะหากเด็กเหล่านั้นรู้ภาษาไทย มีทัศนคติที่ดีต่อสังคมไทย ก็จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทย "สมหมาย ชัยศัตรา" ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหาดเล็ก จ.ตราด ยอมรับว่ามีแรงงานเด็กอยู่ แต่ระยะหลังการศึกษาก็ได้เปลี่ยนแปลงเด็กเหล่านี้ ในฐานะสถานศึกษาที่อยู่ชายแดนก็มีภาระมากมาย ที่จะให้คนทั้งสองชาติอยู่กันอย่างมีความสุข ไม่ให้เกิดปัญหาสังคม ให้เด็กที่ข้ามมาเรียนตระหนักรักชาติเรา สำนึกบุญคุณของชาติเราบ้าง นี่คือสิ่งที่คนทำการศึกษาชายแดนต้องตระหนัก และต่อไปเด็กเหล่านี้ก็จะเป็นแรงงานผู้ใหญ่ที่สุจริต ซื่อสัตย์ ดังนั้นโรงเรียนที่อยู่ตามตะเข็บชายแดน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรับเด็กเหล่านี้เข้ามาเรียน สำหรับโรงเรียนบ้านหาดเล็ก ซึ่งอยู่ติด จ.เกาะกง มีนักเรียนข้ามชาติมาเรียนถึงร้อยละ 80 ก็ให้ความรู้ ความตระหนักว่าต้องรู้กฎหมายไทย รู้ระเบียบวินัยของคนไทย อนาคตที่จะมาทำงานร่วมกับคนไทยต้องรู้วัฒนธรรมไทย และเน้นเรื่องสถาบันหลักของประเทศไทยคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งจะโยงไปถึงเรื่องความมั่นคงระหว่างประเทศ "คนที่อยู่ชายแดน มีความสุขมาก แต่เราจะทำอย่างไรกับคนสองประเทศ เราจะสื่อสารอย่างไรกับเด็กนักเรียนของเราให้ไปสื่อสารกับผู้ปกครองไม่ให้มีความขัดแย้ง ไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชายแดนซึ่งจะส่งผลไปถึงระดับประเทศ นี่คือสิ่งสำคัญที่ทำกันอยู่ ส่วนทำไมจะต้องให้อะไรเท่าเทียมกับคนไทย นี่เป็นเรื่องของคุณธรรม คนที่อยู่ชายแดนต้องมีคุณธรรม ทำอย่างให้คนสองชาติรักกัน และนี่เป็นคำตอบของความมั่นคงของประเทศ"