ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กซ์ทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เดินหน้าขับเคลื่อน “โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปี 5” เปิดพื้นที่การเรียนรู้ บ่มเพาะ และสนับสนุนทุนในการต่อยอดพัฒนาผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเยาวชนจากเวทีประกวดแข่งขัน ไปสู่การประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ผลักดันไปสู่กลุ่มผู้ใช้งานได้จริง นายกิตติรัตน์ ปลื้มจิตร ผู้จัดการโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ กล่าวว่า "จาก 4 ปีที่ผ่านมา เราได้เยาวชนที่ผ่านการบ่มเพาะจากโครงการฯ ทั้งสิ้น 146 คน 49 ผลงาน ซึ่งแต่ะปีผลงานของน้องๆก็ได้พัฒนาขึ้นทุกปี และมีผลงานหลายชิ้นที่ไปถึงมือผู้ใช้ได้จริงๆ อย่างเช่น ระบบตรวจวัดและวิเคราะห์น้ำหนักกดบริเวณฝ่าเท้าอัจฉริยะ ตู้หยอดเหรียญกระจาย Wi-Fi ในที่สาธารณะ หรือ เครื่องรดน้ำเห็ดอัตโนมัติ เป็นต้น ซึ่งผลงานบางชิ้นมีจุดเริ่มต้นเป็นเพียงแค่โครงงานวิทยาศาสตร์ แต่ก้าวกระโดดกลายเป็นผลงานที่มีผู้ต้องการใช้ อีกทั้งยังไปช่วยแก้ปัญหาบางอย่างในชุมชน สังคมอีกด้วย ที่สำคัญการดำเนินงานโครงการฯจะสำเร็จไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และเนคเทค ที่ช่วยสนับสนุนในเรื่องขององค์ความรู้ กระบวนการบ่มเพาะทางความคิด รวมถึงเทคนิคในการพัฒนาผลงาน งบประมาณ ตลอดจนการต่อยอดผลงานไปสู่ภาคธุรกิจ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี และน่าสนับสนุนน้องๆที่มีฝันเหล่านี้ไปให้ถึงปลายทาง” สมรรถ - ดร.กัลยา - กิตติรัตน์ ด้าน นายสมรรถ อินทรกำธรชัย ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสาย Startegic Planing and Development ฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคมและสื่อสารองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “น่าชื่นชมและรู้สึกดีใจที่เห็นเด็กไอทีรุ่นใหม่มีความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานด้านเทคโนโลยี แต่คำถาม คือ ทำอย่างไรให้ผลงานเหล่านี้เปลี่ยนสถานะจากไอเดียต้นแบบกลายเป็นผลงานไปถึงมือของ User ได้จริงๆ นี่จึงเป็นโอกาสที่ดีที่เยาวชนกลุ่มนี้จะได้รับความคิดเห็น และการชี้แนะจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อเสริมศักยภาพของตนเองให้เข้าใกล้ความจริงมากขึ้น ซึ่งทางธนาคารไทยพาณิชย์ในฐานะผู้สนับสนุนโครงการฯก็พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จครั้งนี้ด้วยเช่นกัน และกำลังมองหาผลงานที่สามารถต่อยอดเพื่อให้น้องๆทำฝันให้เป็นจริง” ขณะที่ ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กซ์ทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กล่าว ว่า “ความพิเศษในปีที่ 5 นี้ คือ เราได้ปรับกระบวนการเสริมทักษะเยาวชนให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงมากกว่าปีที่ผ่านมา เพราะเราเชื่อว่าการที่ให้เยาวชนได้ลงไปสัมผัสด้วยตนเอง หรือการเข้าไปได้คุยกับคนอื่นที่มีประสบการณ์ จะทำให้เด็กได้เรียนรู้มากกว่าการเรียนในหนังสือ หรือการบอกกล่าวเพียงอย่างเดียว และเยาวชนเหล่านี้จะได้มองเห็นสภาพความเป็นจริงในโลกยุคปัจจุบันเขาจะได้เตรียมตัวรับมือกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ภาระกิจอีกประการหนึ่ง จากปีที่แล้ว ที่คิดว่าทางโครงการฯทำได้ดี คือ การให้ความรู้ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาจากสิ่งที่ได้คิดและสร้างสรรค์ไว้ ตรงนี้ถือว่าเป็นการเสริมความรู้ให้เขาตระหนักรู้ถึงคุณค่าจากความคิดสร้างสรรค์ที่เขาคิดขึ้นมา ” เยาวชนนักคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมและไอทีติดตามความเคลื่อนได้ที่ https://www.scbfoundation.com/หรือแฟนเพจเฟสบุค https://www.facebook.com/SCBFOUNDATION/www.