น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์(สนค.) เปิดเผยว่า มูลค่าการค้าเดือนก.ค.63 มีมูลค่า 18,819.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบ 11.37% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 15,476.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบ 26.38% จึงเกินดุลการค้า 3,343.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ภาพรวม 7 เดือนแรกของปี 2563 การส่งออกมีมูลค่ารวม 133,162.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบ 7.72% การนำเข้ามีมูลค่ารวม 119,118.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบ 14.69% และเกินดุลการค้า 14,044.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยการส่งออกของไทยเดือนก.ค.63 มีการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นหลังผ่านจุดต่ำสุดในช่วงเดือนมิ.ย.63ที่ติดลบ 23% สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกหดตัวน้อยลง การส่งออกทั้งรายสินค้าและรายตลาดต่างส่งสัญญาณฟื้นตัวที่ดี โดยการส่งออกรายสินค้ายังขยายตัวต่อเนื่อง 4 กลุ่มหลักได้แก่ 1.สินค้าอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ทูน่ากระป๋อง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และอาหารสัตว์เลี้ยง 2.สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบ ไมโครเวฟ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า และโซลาร์เซลล์ 3.สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาดเช่น ถุงมือยาง4. สินค้าเก็งกำไรและลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจ เช่น ทองคำ เป็นต้น ทั้งนี้การส่งออกรายตลาด มูลค่าการส่งออกเกือบทุกตลาดหดตัวในอัตราที่น้อยลง สะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากประเทศคู่ค้าหลายประเทศสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ และมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ประกอบกับใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯยังคงขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 17.8% ขณะที่การส่งออกไปจีนกลับมาหดตัวเล็กน้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ รวมทั้งปัญหาอุทกภัยในแหล่งการผลิตสำคัญอย่างมณฑลอู่ฮั่น สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยที่เหลืออีก 5 เดือน คาดว่าจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ภาพรวมการส่งออกจะยังคงหดตัวจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 แต่เมื่อพิจารณาการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ พบว่าสินค้าไทยหลายรายการมีศักยภาพที่จะสามารถผลักดันการส่งออกของไทยให้กลับมาฟื้นตัว โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งไทยมีความสามารถในการผลิต รวมทั้งมีความได้เปรียบในด้านความปลอดภัยของอาหารสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทำให้สินค้าอาหารของไทยมีโอกาสขยายการส่งออกได้อีกมาก ซึ่งต้องควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือนี้ไว้ ขณะเดียวกันสินค้ากลุ่มวิถีนิวนอร์มอล มีแนวโน้มขยายตัวที่ดีเช่น อาหารสำเร็จรูป อาหารเลี้ยงสัตว์ เครื่องมือแพทย์ ถุงมือยางเพื่อการแพทย์ เฟอร์นิเจอร์และสินค้าอื่นๆที่ใช้สำหรับการพักอาศัย อย่างไรก็ตามผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว การหดตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาการกีดกันทางการค้าในรูปแบบใหม่ แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท และราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ยังเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกในระยะต่อไป และกระทรวงพาณิชย์จะผลักดันการค้าผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน สู่ตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพเช่น จีน เกาหลีใต้ อินเดีย กัมพูชา สหรัฐฯ และกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้หากไทยยังคงส่งออกได้มูลค่าเกิน 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อเดือน จะทำให้การส่งออกทั้งปี 2563 ติดลบ 8-9% หรือมูลค่ารวมประมาณ 2.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งปัจจัยกังวลจะเป็นเรื่องสถานการณ์การระบาดของโควิดเป็นหลัก รองลงมาคือเงินบาทแข็งค่า และราคาน้ำมันขยับไม่สูงขึ้น ส่วนสงครามการค้าในแง่ใช้มาตรการด้านภาษีมากดดันคงหมดลงแล้วแต่อาจหันไปกดดันด้านลงทุนแทน