ประกาศอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว สำหรับ ผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้ที่จะมาเป็นรองประธานาธิบดี ของพรรคเดโมแครต ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันอังคารที่ 3 พ.ย.ปลายปีนี้ โดยในที่ประชุมใหญ่ออนไลน์ ซึ่งเป็นปีแรกที่จัดการประชุมใหญ่ระดับชาติในลักษณะออนไลน์เช่นนี้ของพรรคเดโมแครต ซึ่งมีขึ้นเมืองมิลวอกี รัฐวิสคอนซิน เพราะการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของไวรัสโควิด-19 ก็ประกาศให้ “นายโจ ไบเดน” อดีตรองประธานาธิบดีสมัยบารัก โอบามา เป็นผู้ชิงชัยในตำแหน่ง “ประธานาธิบดี” และให้ “นางกมลา หรือคามาลา แฮร์ริส” สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ หรือสภาซีเนต รัฐแคลิฟอร์เนีย ลงเป็นบัดดี คู่หู สู้ศึกในตำแหน่ง “รองประธานาธิบดี” สำหรับการสัประยุทธ์กับทางพรรครีพับลิกัน ฝ่ายตรงข้าม ที่มี “นายโดนัลด์ ทรัมป์” ผู้สมัครฯ ในฐานะเจ้าของตำแหน่ง “ประธานาธิบดี” คนเดิม กับผู้ที่จะมา “รองประธานาธิบดี” ซึ่งคาดว่า น่าจะเป็น “นายไมค์ เพนซ์” คนเก่าอีกเช่นเคย ทั้งนี้ ทางพรรครีพับลิกันจะประกาศอย่างเป็นทางการในวันประชุมใหญ่ระดับชาติของทางพรรค ซึ่งจะมีขึ้นที่เมืองชาร์ลอตต์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา ระหว่างวันที่ 24 – 27 ส.ค. นี้ ตามวันเวลาท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม แม้ทางพรรครีพับลิกันยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่บรรยากาศการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของทั้งสองพรรค ก็ดำเนินไปอย่างดุเดือดเข้มข้น เนื่องจากใกล้ถึงวันหย่อนบัตรเลือกตั้งเข้าไปทุกขณะ คือ เหลือเวลาเพียง 2 เดือนกว่าๆ เท่านั้น ส่งผลให้พลพรรคทั้งสอง ต้องระดมนโยบายต่างๆ ขนออกมาหาเสียงกันจ้าละหวั่น โดยถ้ากล่าวถึงนโยบายที่ได้รับความสนใจจากชาวอเมริกัน ในฐานะผู้ลงคะแนนเสียง ให้ผลมีส่วนได้-เสียกับการเลือกตั้งโดยตรงนั้น ก็เห็นจะเป็นนโยบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจ อันว่าด้วยเรื่องปัญหาปากท้อง และเงินในกระเป๋าของพวกเขาเป็นหลัก ทั้งนี้ ตามการสำรวจความคิดเห็นประชาชนคนอเมริกัน โดย “พิว รีเสิร์ช” ก็ระบุว่า ได้รับความสนใจในนโยบายด้านเศรษฐกิจนั้น มีมากถึงในอัตราร้อยละ 79 เป็นอันดับหนึ่งเลยทีเดียวเชียว เหนือความสนใจในนโยบายอื่นๆ ทั่งปวงสำหรับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในครั้งนี้ ตามมาด้วยนโยบายเกี่ยวกับสุขภาพ การแต่งตั้งตุลาการศาลในระบบยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับศาลสูง เป็นต้น ส่วนนโยบายด้านการต่างประเทศ ปรากฏว่า อยู่ในอันดับที่ 6 โดยได้รับความสนใจจาอเมริกันชนในอัตราร้อยละ 57 อย่างไรก็ตาม แม้นโยบายด้านการต่างประเทศ จะรั้งในอันดับที่ 6 ตามความคิดเห็นของชาวอเมริกัน แต่ประชาคมโลกให้ความสนใจในนโยบายด้านนี้ อาจจะยิ่งกว่านโยบายไหนๆ ของทางการสหรัฐฯ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อชาวโลกเรา นั่นเอง ในฐานะที่ “สหรัฐอเมริกา” มีสถานภาพเป็นมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลกในยุคนี้ ที่มิว่าจะขยับปรับทัพทำอะไร ก็หนีไม่พ้นที่จะส่งผลกระทบต่อโลกโดยส่วนรวมไม่มากก็น้อย กระทั่งมีการเปรียบเทียบนโยบายด้านการต่างประเทศนี้ ระหว่างสองผู้สมัคร คือ นายทรัมป์ของพรรครีพับลิกัน กับนายไบเดน ของพรรคเดโมแครต โดยในส่วนนโยบายด้านการต่างประเทศของนายไบเดน ซึ่งมีการเปิดเผยกันว่า มีจำนวนความหนาถึง 80 หน้ากระดาษด้วยกัน ยกร่างโดยสมาชิกระดับแกนนำของพรรคเดโมแครต รวมทั้งนายเบอร์นี แซนเดอร์ ด้วยนั้น เพื่อประสานระหว่างกลุ่มหัวก้าวหน้ากับกลุ่มสายกลาง ระบุไว้ประเด็นต่างๆ ซึ่งได้ถูกบรรดานักวิเคราะห์ ยกขึ้นมาประกบกับนโยบายของนายทรัมป์ ที่ฝากให้โลกได้เห็นไปแล้ว ตลอดช่วงเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา อาทิ นโยบายเกี่ยวกับจีนแผ่นดินใหญ่ ทางเดโมแครต เห็นว่า ต้องแสดงท่าทีแข็งกร้าวกับจีนในเรื่องการค้า จากการที่จีนเอาเปรียบหลายประการ ทั้งเรื่องการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา การจารกรรมความลับทางธุรกิจ การทุ่มตลาดอย่างมิชอบ รวมไปถึงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีน ที่ต้องถูกหยิบขึ้นมาฟาดฟันต่อจีนเป็นแน่ หากนายไบเดน ได้เป็นประธานาธิบดี พร้อมกันนี้ ทางเดโมแครต ก็ตำหนิมาตรการขึ้นภาษีสินค้าจากจีนของประธานาธิบดีทรัมป์ด้วยว่า สร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรสหรัฐฯ มากกว่า ในเอกสารฯ ยังระบุด้วยว่า ประธานาธิบดีของเดโมแครตจะรื้อฟื้น และเพิ่มความร่วมมือกับพันธมิตรระหว่างประเทศให้มากขึ้น ในอันที่จะต่อต้านการค้าที่มิชอบของจีน แตกต่างกับนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ แห่งรีพับลิกัน ที่ปฏิเสธร่วมมือกับพันธมิตร ซึ่งนอกจากไม่ได้ทำให้ได้เปรียบต่อจีนแล้ว แต่ยังทำให้ทำลายความแข็งแกร่งของสหรัฐฯ โดยบั่นทอนด้านการทูตและความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ในสายตาชาวโลกอีกด้วย อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึงทางการทหารแล้ว ยังเป็นนายทรัมป์ที่ระดมงบประมาณ สำหรับการสนับสนุนด้านนี้ สวนทางกับทางนายไบเดนแห่งเดโมแครต ที่แสดงท่าทีว่าจะต้องหั่นงบประมาณด้านดังกล่าว ทางด้าน บรรดานักวิเคราะห์ แสดงทรรศนะว่า มีความแตกต่างอย่างชัดเจนแน่นอนระหว่างนายทรัมป์กับนายไบเดน โดยถ้าหากเป็นนายทรัมป์นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีอีกสมัย ก็เหมือนกับสี่ปีที่แล้วมา ที่เน้นการดำเนินการอย่างแข็งขันแบบฝ่ายเดียว คือ สหรัฐฯ แต่ถ้าเป็นนายไบเดน โลกก็จะได้เห็นสหรัฐฯ กลับไปใช้รูปแบบความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับนานาประเทศมากขึ้น ซึ่งประเทศต่างๆ ก็ต้องเตรียมรับมือไว้ทั้งสองรูปแบบไม่ว่าใครจะได้เข้าสู่ทำเนียบขาวในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ