นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี พ.ศ.2560 ที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ เข้ารับตำแหน่งรักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล จนเมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล แล้วนั้น ทีมบริหารมหาวิทยาลัยมหิดลมีภารกิจสำคัญหลายประการท่ามกลางสถานการณ์ของโลกในยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญของมหาวิทยาลัยมหิดล คือ การเตรียมความพร้อมให้แก่นักศึกษา เพื่อก้าวสู่การเป็นพลเมืองโลก (global citizenship) โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดกิจกรรม Student Mobility เพื่อเตรียมพร้อมนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลสู่การแข่งขันในระดับนานาชาติ ซึ่งส่งผลดีต่อการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลกในทุกมิติ โดยจัดให้มีการแลกเปลี่ยน การศึกษา ฝึกอบรม และดูงาน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลและนักศึกษาต่างชาติ จนนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพ และทักษะเพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าภายใต้บริบทของวัฒนธรรมที่แตกต่าง และในช่วงวิกฤติ Covid-19 มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีความตระหนักถึงความปลอดภัยของนักศึกษาเป็นลำดับแรก โดยได้กำหนดให้นักศึกษาและบุคลากรต่างชาติที่จะเข้ามาเรียนและทำงานในมหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ไปเรียนและทำงานที่ต่างประเทศและต้องการกลับเข้ามาที่มหาวิทยาลัยมหิดลจะต้องมีหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (COE) จากสถานทูต พร้อมทั้งกำหนดให้กักโรค 14 วัน ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และได้ปรับรูปแบบการเรียนการสอนส่วนใหญ่สู่ระบบออนไลน์ ซึ่งพยายามพัฒนาระบบให้มีคุณภาพเทียบเท่าการเรียนการสอนแบบปกติ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 เป็นต้นไป มหาวิทยาลัยมหิดลจะจัดการเรียนการสอนแบบยืดหยุ่น (Flexible Education) ซึ่งจัดการศึกษาตามความสนใจและความสะดวกของผู้เรียน โดยสนองต่อความต้องการจ้างงานในยุคศตวรรษที่ 21 นำร่องในระดับปริญญาตรีโดยวิทยาลัยนานาชาติ (MUIC) จำนวน 16 หลักสูตร ได้แก่ วิทยาศาสตรบัณฑิต (เคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ประยุกต์ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร) บริหารธุรกิจบัณฑิต (การตลาด การเงิน เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ ธุรกิจระหว่างประเทศ) ศิลปศาสตรบัณฑิต (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและกิจการทั่วโลก วัฒนธรรมนานาชาติศึกษาและภาษา) นิเทศศาสตรบัณฑิต (สื่อและการสื่อสาร) วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมคอมพิวเตอร์) ศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต (การออกแบบนิเทศศิลป์) และการจัดการบัณฑิต (ผู้ประกอบการด้านธุรกิจการเดินทางและธุรกิจบริการ) ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง กล่าวว่า อนาคตของมหาวิทยาลัยมหิดลต่อจากนี้ไป ขึ้นอยู่กับชาวมหาวิทยาลัยมหิดลทุกคน แม้มหาวิทยาลัยมหิดลจะประกอบด้วย 6 วิทยาเขต ได้แก่ ศาลายา บางกอกน้อย พญาไท กาญจนบุรี นครสวรรค์ และอำนาจเจริญ ซึ่งมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน แต่ก็ยังคงเป็น “We Mahidol” หรือ “มหิดลเดียวกัน” ด้วยความตระหนักในความเป็นหนึ่งเดียว (Unity) ซึ่งจะสามารถทำให้ผ่านพ้นวิกฤติใดๆ ที่เกิดขึ้นได้ "แม้จะต้องมีการปรับตัวสู่วิถีใหม่ (New Normal) มหาวิทยาลัยมหิดลก็ยังคงมีการจัดการทางกายภาพที่ยังคงความเป็นผู้นำด้าน "มหาวิทยาลัยสีเขียว" อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพียงส่วนหนึ่งจากรัฐบาล แต่ส่วนใหญ่ต้องสร้างและจัดหารายได้ขึ้นเอง จึงมีความตระหนักอย่างยิ่งถึงข้อจำกัดทางทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวจากภาวะวิกฤติ Covid-19 ทีมบริหารมหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้มีการบริหารจัดการที่เน้นการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นที่ตั้งตามพระราชดำรัสของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก" "เช่นเดียวกับการที่เราจะสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณค่าและเกิดผลกระทบ (impact) ต่อประเทศชาติ ตลอดจนสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ จำเป็นต้องมีการร่วมระดมสมอง เพื่อดึงเอาศักยภาพและร่วมใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างสรรค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นความหวังที่คอยเสริมพลังประเทศชาติให้สามารถกลับฟื้นคืนมาอีกครั้งหลังวิกฤติ โดยมีมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นฐานแห่งองค์ความรู้ที่มั่นคงและยั่งยืน" อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลให้ความเชื่อมั่นทิ้งท้าย ฐิติรัตน์ เดชพรหม มหาวิทยาลัยมหิดล