“อดีตรองโฆษกปชป.ป้อง“มาร์ค”ร่อนจม.เปิดผนึกถึง“ประเวศ”หลังชงให้“อภิสิทธิ์”ร่วมกับรัฐบาลประยุทธ์-กองทัพ ขอขมาประเทศ ไล่ไป อ่านรายงานคอป. ชี้ชัด วิกฤตการเมืองไทย เริ่มจากคดีซุกหุ้นทักษิณทำหลักนิติรัรัฐมีปัญหา ซัดรบ.ปัจจุบันพฤติกรรมไม่ต่างจากอดีต จุดชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ ถาม "ประยุทธ" จะพาประเทศถึงทางตัน หรือ เปิดทางออกให้ประเทศ   เมื่อวันที่ 19 ส.ค.นายเชาว์ มีขวด โพสต์ Facebook Chao Meekhuad เรื่อง อย่าตัดตอนประวัติศาสตร์...จดหมายเปิดผนึกถึง “นายแพทย์ประเวศ วะสี” มีเนื้อหาระบุว่า ผมค่อนข้างแปลกใจที่อยู่ ๆ นายแพทย์ประเวศ วะสี ซึ่งถือเป็นบุคลากรชั้นนำทางความคิดของสังคมไทย ออกมาเรียกร้องให้อดีตนายกอภิสิทธิ์ ขอขมาประเทศ ทั้ง ๆ ที่ท่านไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างความขัดแย้งใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้เลย ตรงกันข้ามท่านอดีตนายกอภิสิทธิ์คือผู้ที่พยายามจะคลี่คลายความขัดแย้งด้วยการเมืองแทนการรัฐประหารมาตั้งแต่ต้น โดยในตอนที่มีการชุมนุมของกลุ่มนปช. ที่ราบ 11 อดีตนายกอภิสิทธิ์เคยเตือนพลเอกอนุพงษ์ และพลเอกประยุทธ์ ว่า อนาคตข้างหน้าหากมีความขัดแย้งทางการเมือง ทหารอย่ายึดอำนาจเด็ดขาด เพราะจะทำให้ระบบพังทั้งระบบ ท่านพยายายามใช้การเมืองและกฎหมายคลี่คลายสถานการณ์จนคืนความสงบให้บ้านเมืองได้ ไม่ให้รัฐบาลเป็นเงื่อนไขให้เกิดการยึดอำนาจ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว การเมืองเริ่มนิ่ง ท่านก็คืนอำนาจให้ประชาชนด้วยการยุบสภา แม้ในขณะนั้นจะได้รับการทักท้วงจากพรรคร่วมรัฐบาล แต่ท่านก็ยังยึดมั่นในสัจจะวาจาที่ให้ไว้กับประชาชน โดยไม่ยึดติดกับอำนาจ ทั้ ง ๆ ที่ในขณะนั้นสถานการณ์เอื้อให้ท่านดำรงอยู่ในอำนาจต่อ เพราะขนาดนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.ก็เคยออกปากให้อยู่ยาวไปไม่ต้องยุบสภาแล้ว อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ระบุต่อไปว่า มาถึงยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ท่านเปิดทางให้ตั้งรัฐบาลทันทีที่เสียงชี้ขาดของประชาชนชัดเจนหลังเลือกตั้ง และไม่เคยก่อหวอดสร้างเงื่อนไขใด ๆ กระทั่งเกิดกรณีนิรโทษกรรมสุดซอยนำไปสู่การชุมนุมครั้งใหญ่ของประชาชน ในช่วงเวลานั้น ท่านก็เพียรพยายามเตือนรัฐบาลหลายครั้งให้รีบแก้ปัญหาด้วยการเมือง ท่านเสนอว่านายกฯในขณะนั้นควรลาออก เปิดทางให้คนกลางเข้ามาวางแนวปฏิรูปประเทศภายในหกเดือน ก่อนจะยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ท่านเตือนด้วยว่าถ้ารัฐบาลในขณะนั้นยังกอดอำนาจไม่ยอมฟังเสียงประชาชน สุดท้ายจะไม่สามารถรักษาประชาธิปไตยไว้ได้ ทุกอย่างเกิดขึ้นจริงตามข้อวิเคราะห์ของอดีตนายกอภิสิทธิ์ เพราะรัฐบาลขณะนั้นไม่ยอมถอยจากอำนาจทั้งที่ขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศแล้ว แต่นายชัยเกษม นิติสิริ รองนายกฯในขณะนั้นยังยืนกรานว่า “นาทีนี้ยังไม่ลาออก” จนนำไปสู่คำพูดของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ว่า “ถ้าอย่างนั้นตั้งแต่นาทีนี้ผมตัดสินใจยึดอำนาจการปกครอง” หลังจากนั้นบทบาทของอดีตนายกฯอภิสิทธิ์ ก็คอยเตือนสติทั้งสังคมและผู้มีอำนาจ อย่าสร้างเงื่อนไขจนกลายเป็นคู่ขัดอย้งเสียเอง และยังประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตอนที่ทำประชามติ ถึงตอนเลือกตั้งก็แสดงจุดยืนไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อได้ส.ส.ไม่ถึง 100 คน ก็รักษาสัจจะวาจาที่ให้ไว้กับประชาชน ลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และลาออกจากส.ส.ตอนพรรคตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล เพื่อยืนยันว่าอุดมการณ์ทางการเมือง อยู่เหนือตำแหน่งและอำนาจ ให้คุณค่ากับสัญญาประชาคม ยิ่งใหญ่กว่ามติพรรคประชาธิปัตย์ สำหรับผมท่านคือ สัจจะบุรุษ ที่หาได้ยากยิ่งในแวดวงการเมืองไทย ไม่เคยทำร้ายประเทศจนมีเหตุให้ต้องขอขมาบ้านเมืองแต่อย่างใด ตรงกันข้ามท่านคือนักการเมืองที่เสียสละเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง เป็นนักการเมืองที่ไม่เคยถูกอำนาจกลืนกินเหมือนที่ใครหลายคนเป็น นายเชาว์ยังแนะนำให้นายแพทย์ประเวศไปอ่านรายงาน คอป.ที่นายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ที่สรุปต้นตอปัญหาการเมืองประเทศไว้อย่างแหลมคม ตรงประเด็นว่า เกิดจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้นายทักษิณ ชินวัตร รอดพ้นจากคดีซุกหุ้น โดยตอนหนึ่งในรายงานระบุว่า “คอป.เห็นว่ารากเหง้าของปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการละเมิดหลักนิติธรรม กระบวนการประชาธิปไตยและการบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอและขาดประสิทธิภาพ นำไปสู่การใช้อำนาจนอกระบบในการแก้ปัญหาโดยการรัฐประหาร ซึ่งแทนที่จะแก้ปัญหา แต่ท้ายที่สุดกลับสร้งปัญหามากยิ่งขึ้น...การละเมิดหลักนิติธรรมโดยกระบวนการยุติธรรมอันเป็นรากเหง้าของปัญหา เกิดจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาตรา 295 หรือ คดีซุกหุ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญ มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย...” “จะเห็นได้ว่าปัญหาในอดีตได้วนกลับมาอีกครั้ง คือ เกิดการละเมิดหลักนิติธรรม โดยผู้มีอำนาจ ผ่านกติกาที่สร้างเพื่อกติกู จนความขัดแย้งยิ่งทวีความซับซ้อนมากขึ้น กระทั่งนำไปสู่การปลุกระดมเป็นสงครามความต่างระหว่างวัย ผมเห็นด้วยกับนายแพทย์ประเวศว่า ต้องสร้างกลไกที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมมาคลี่คลายปัญหา แบบเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน เขียนรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องร่างใหม่ทั้งฉบับ เลือกเฉพาะมาตราที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และมีปัญหาในทางปฏิบัติ การถอดชนวนความขัดแย้งในยุคปัจจุบัน ต้องเริ่มจากผู้มีอำนาจยอมคายอำนาจก่อนเป็นอันดับแรก ผมจึงขอฝากไปถึงพลเอกประยุทธ์ ให้นึกถึงวันที่ท่านคิดว่าประเทศถึงทางตัน เพราะรัฐบาลในขณะนั้นไม่ยอมปล่อยมือจากอำนาจ มาเตือนสติตัวเอง จะได้ตัดสินใจได้ถูกต้องว่าจะพาประเทศไปสู่ทางตัน หรือจะเป็นคนเปิดทางออกให้ประเทศนี้ อย่าลากประเทศกลับเข้าสู่วังวนเดิม ๆ เลยครับ” นายเชาว์ระบุทิ้งท้าย