กรมประมง จัดการประชุมวิชาการประมง ประจำปี 2563 ภายใต้หัวข้อ “การวิจัยประมงสู่วิถีชุมชนที่ยั่งยืน” เปิดคลังโชว์สุดยอดผลงานวิจัย นวัตกรรม องค์ความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งภาคบรรยายและโปสเตอร์ รวม 101 เรื่องหนุนผลักดันงานวิจัยสู่การประยุกต์ใช้เพื่อสร้างวิถีชุมชนประมงที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 18 ส.ค. นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดงานประชุมวิชาการประมง ประจำปี 2563 ว่า กรมประมงได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนางานวิจัย และนวัตกรรมใหม่ ๆ ทุกสาขาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้สำหรับการพัฒนาภาคการประมงของประเทศในทุกมิติ ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีในการทำประมงให้ทันสมัยและใส่ใจสิ่งแวดล้อม การเพิ่มศักยภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าประมงเพื่อเพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงวิถีความเป็นอยู่ของผู้เกี่ยวข้องในภาคการประมง เพื่อให้การประกอบอาชีพมีความยั่งยืนอย่างแท้จริง การจัดประชุมวิชาการประมงจึงเป็นการเปิดโอกาสให้นักวิจัยทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงนักวิจัยอิสระ ได้นำเสนอผลงานสู่สาธารณชน พร้อมทั้งได้แลกเปลี่ยนความรู้ และความคิดเห็น อันจะนำไปสู่แนวทางการพัฒนางานวิจัยด้านการประมงให้มีคุณภาพต่อไป สำหรับปี 2563 นี้ กรมประมงได้จัดประชุมวิชาการขึ้นภายใต้หัวข้อ “การวิจัยประมงสู่วิถีชุมชนที่ยั่งยืน” โดยจะเน้นการนำเสนอผลงานวิจัยที่สามารถนำมาพัฒนางานด้านประมงเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร บนพื้นฐานชุมชนมีใช้อย่างยั่งยืน ซึ่งภายในงานมีการนำเสนอผลงานวิชาการทั้งหมด 9 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด สาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง สาขาการประมงทะเล สาขาโรคสัตว์น้ำ สาขาอาหารสัตว์น้ำ สาขาพันธุกรรมสัตว์น้ำ สาขาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ สาขาการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมประมง และสาขาเศรษฐกิจ สังคม และต่างประเทศ โดยในปี 2563 นี้ มีผู้เข้าร่วมการสัมมนากว่าหนึ่งพันคน มีการนำเสนอผลงานวิจัยทั้งหมด 101 เรื่อง แบ่งเป็นการนำเสนอภาคบรรยาย 53 เรื่อง และโปสเตอร์อีก 48 เรื่อง โดยมีหัวข้องานวิจัยที่น่าสนใจมากมาย อาทิ ความคิดเห็นของชาวประมงต่อการห้ามทำการประมงในเขต 7 ไมล์ทะเล ตามระยะห่างฝั่งในมาตรการปิดอ่าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี การประมาณค่าอายุและการเติบโตของปลากระเบนราหู Dasyatid Stingray Urogymnus polylepis จากสองกลุ่มประชากรในประเทศไทย การประเมินโครงสร้างและความหลากหลายทางพันธุกรรมของปลาก้างพระร่วงในจังหวัดภาคใต้ของไทยโดยใช้เครื่องหมายพันธุกรรมไมโครแซทเทลไลท์ดีเอ็นเอ การผลิตและคุณภาพปลาร้าผงและปลาร้าก้อน ผลของอัตราไหลของน้ำต่อการเติบโตและรอดตายของลูกหอยลาย (Paphia undulata) วัยเกล็ดในระบบอนุบาลแบบ upwelling และผลของการเสริมสาหร่ายสไปรูลิน่าและแอสตาแซนทินต่อความเข้มสีปลาพลวงชมพูวัยรุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “วิจัยและพัฒนาการประมงเพื่อความมั่นคงทางอาหารของไทยในทศวรรษหน้า” โดยนายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนางานวิจัยที่ควรเร่งดำเนินการ ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรประมงนำไปถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกร เพื่อพัฒนาภาคการประมงเป็นหลักประกันความมั่นคงทางด้านอาหารและสร้างรายได้ นำไปสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป