นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กรรมาธิการ ติดตามตรวจสอบการใช้เงินกู้จากพ.ร.ก. 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขและฟื้นฟูปัญหาโควิด -19 กล่าวถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบการใช้เงินกู้สี่แสนล้านบาท ว่า กรรมาธิการฯได้เชิญหน่วยงาน ที่ได้รับอนุมัติโครงการตามเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ล็อตแรก จากมติ ครม.วันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 3 โครงการ 1.โครงการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นโครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว เรียนรู้ด้านสัตว์ป่าวงเงิน 740 ล้านบาทเศษ 2.เป็นโครงการ ของ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เพื่อพัฒนา ธุรกิจดินและปุ๋ย วงเงินเกือบ 170 ล้านบาท และ 3.ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นโครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเรื่อง Safety Zone วงเงิน 15 ล้านบาท ซึ่งหลังจากพิจารณาพบ สิ่งที่น่าจะเป็นปัญหาในการใช้เงินกู้ เพราะเงินกู้ยอดนี้มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากพิษโควิด -19 แต่ทั้ง 3 โครงการนี้ยังไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณ ทั้งนี้จากการตรวจสอบไปยังสำนักงบประมาณ พบว่า ทางสภาพัฒน์ต้องใช้เวลาในการกำหนดรหัสของโครงการ ก่อนที่ทางสำนักบริหารหนี้จะแจ้งสำนักงบประมาณ ว่า มีการกู้เงินแล้ว หลังจากนั้นทางสำนักงบประมาณจึงจะจัดสรรงวดเงินให้ โดยคาดว่า น่าจะจ่ายได้ภายในเดือนสิงหาคม เป็นการสะท้อนให้เห็นถึง การบริหารงบประมาณที่ใช้ระบบราชการตามปกติ จึงน่าเป็นกังวล ว่า จะไม่สามารถไปฟื้นฟูหรือกระตุ้น เศรษฐกิจได้ตามที่วางเป้าหมายไว้ เพราะเพียงงบประมาณพันล้านบาทยังเจอปัญหา ขณะที่งบรวมมีทั้งหมด 4 แสนล้านบาทที่อนุมัติรอบแรกประมาณ 3 หมื่นเจ็ดพันล้านบาท ที่จะต้องใช้ไปกับโครงการเดียว คือ เรื่องท่องเที่ยวประมาณ 20,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบว่าโครงการที่ผ่านการกลั่นกรองจากสภาพัฒน์ และผ่านการอนุมัติจากครม. ได้กำหนดเป้าหมายเพื่อจ้างงานและสร้างรายได้ แต่ใน 3 โครงการดังกล่าวไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เริ่มตั้งแต่โครงการ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 740 ล้านบาท ที่นำไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้สัตว์ป่า ปรากฏเป็นงบก่อสร้าง ถึงประมาณเกือบเกือบ 80% ของตัวงบประมาณ เป็นโครงการสร้างหอดูนก ห้องน้ำ ลานกางเต็นท์ เป็นโครงการฝึกอบรมเพีย 18% เท่านั้น ส่วน โครงการพัฒนาธุรกิจดินและปุ๋ย ของกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ประมาณ 170 ล้านบาท ได้ใช้งบประมาณ 140 ล้านบาทซื้อปุ๋ย และเครื่องผสมปุ๋ย นำไปแจกชาวบ้าน จึงก็ไม่บรรลุวัตถุประสงค์เรื่องการจ้างงาน สำหรับเซฟตี้โซน 15 ล้านของกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ปรากฏว่าเป็นการฝึกอบรมบุคลากร 500 คนใช้งบประมาณถึง 6,540,000 กว่าบาท มีค่าเฉลี่ยเป็นรายต่อหัว 13,000 บาท สำหรับ งบประมาณที่อนุมัติไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ใช้เงิน และโครงการที่อนุมัติแล้วกลายเป็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างก่อสร้างซึ่งเป็นการใช้จากส่วนกลางไม่ได้กระจายไปถึงท้องถิ่น โดยมีคนตั้งข้อสังเกตว่าทำไมจึงไม่สร้างงานสร้างรายได้ แต่ไปมุ่งในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้งบประมาณของกระทรวงท่องเที่ยว และกีฬา เป็นการใช้ไปเพื่อการจัดทำอีเว้นท์ อีก 5 ล้านบาทเศษด้วย จึงทำให้เกิดข้อสงสัย ถึงเงินที่จะนำไปใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกลายเป็นเงินไปกระตุ้นผู้รับเหมาและผู้จัดทำอีเว้นท์หรือไม่ โดย นายสาทิตย์ ยังกล่าวต่อว่า เวลานี้ยังมีปัญหาที่ตามมา คือ เมื่อมีการตรวจสอบงบประมาณแล้วจะสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขโครงการได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามหากมีการยืนยันว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขโครงการได้ก็ต้องบอกว่าเงินที่จะถูกนำไปใช้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เพราะไม่ได้จ้างงานสร้างรายได้กลายเป็นการจัดซื้อจัดจ้างจากส่วนกลางเสียเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งเลขาสภาพัฒน์ก็ไม่เคยเข้าร่วมประชุม ทำให้ไม่มีคนจากสภาพัฒน์ในการซักถาม ดังนั้นกรรมาธิการฯ จึงมีความรู้สึกว่าต้องทำงานหนักขึ้นในการเรียกหน่วยงานมาชี้แจงและดูโครงการก่อนเข้าครม. เพราะเป้าหมายใหญ่ของสภาพัฒน์ ระบุว่า เป็นเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจนอกเหนือจากงบปกติ ควรใช้จ่ายตามเป้าหมาย ที่กำหนดไว้ ซึ่งในเรื่องนี้คงต้องติดตามดูต่อไป และหวังให้มีการแก้ไขโครงการใหม่ในส่วนที่เหลือกว่าสามแสนล้านบาท โดยต้องดูว่าจะใช้ได้หมดหรือไม่หรือจะมีการแบ่งเป็นขั้นตอนอย่างไร เพราะขณะนี้ผ่านมา 2 เดือนแล้ว ยังไม่ปรากฏเงินกู้ที่จะนำมาใช้ฟื้นฟูแต่อย่างใด