เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์​ (ปชป.)​ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ​ ปชป. ว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี​ และ​ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ได้เคยแถลงถึงจุดยืนของพรรคในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว และพรรคได้ตั้งคณะทำงานยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะทำงานชุดนี้ ประกอบด้วยผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ทางการเมืองหลายคน อาทิ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ​ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช เมื่อถามว่า พรรคร่วมรัฐบาลจะมีการหารือถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อใด นายนิพนธ์ กล่าวว่า วิปรัฐบาลยังทำงานอยู่ ซึ่งเขาประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว แต่ตอนนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา ปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ยังไม่ได้สรุปผลศึกษาออกมาอย่างชัดเจน ตนจึงขอให้รายงานดังกล่าวเสร็จสิ้นก่อน จะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนทั้งหมด เมื่อถามว่า จะทันตามกรอบเวลาหรือไม่ เพราะกลุ่มประชาชนปลดแอกเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายในเดือน​ ก.ย. นายนิพนธ์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีขั้นตอนอยู่แล้วว่าต้องเริ่มจากตรงไหน จะเริ่มนับหนึ่งอย่างไร ตนขอให้เป็นไปตามขั้นตอนตรงนั้น ตอนนี้เราใกล้จะเริ่มเห็นภาพว่าจะแก้ไขแบบใดเรื่องใดบ้าง ตอนนี้เรารอคอยเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญกันมา 1 ปี ขอให้รอผลการศึกษาของกมธ.วิสามัญฯ ตนทราบว่าเขากำลังเขียนรายงานผลสรุปผลการศึกษาอยู่ เมื่อถามว่า การที่นายกรัฐมนตรีอยากเห็นความเป็นเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงมีคำถามว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง นายนิพนธ์ กล่าวว่า วิปรัฐบาลน่าจะกำลังคุยถึงเรื่องนี้อยู่ แต่ทางที่ดีที่สุด ตนคิดว่าขอให้รอดูรายงานสรุปผลของกมธ.วิสามัญฯ​ ซึ่งกมธ.ชุดนั้นมีคนของรัฐบาลร่วมอยู่ด้วย ขณะที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานกมธ.วิสามัญฯชุดนี้ ก็มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว และทุกคนให้ความร่วมมือในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่เนื้อหาและรายละเอียดว่าจะต้องแก้ไขประเด็นใดอย่างไรก็เป็นเรื่องของแต่ละพรรค ซึ่งกรณีของ​ ปชป.ได้ตั้งคณะทำงานเตรียมงานตรงนี้แล้ว เมื่อถามว่า ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของกลุ่มประชาชนปลดแอก จะมีผลต่อการกำหนดประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายนิพนธ์ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องเหล่านั้นคงถูกนำมาพิจารณา เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของทุกคน ดังนั้น​ ประเด็นใดที่คิดว่าสามารถแสวงหาความร่วมมือและขอความเห็นพ้องกันได้ก็น่าจะนำมาพูดคุยกัน ตนคิดว่าการมานั่งพูดคุยกันเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องนี้ต้องเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องตรงกันในประเด็นที่จะต้องแก้ไข มิฉะนั้นจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จได้ยาก